เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

● จากฟาร์มหรูสู่ “หมูหลุม” สุกรชีวภาพที่สร้างคุณภาพชีวิตให้ชุมชน
    
ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื้อนุ่ม แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค ครบทุกคุณสมบัติของ “หมูหลุม” ปศุสัตว์ที่พลิกชีวิตของเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นความหวังของคนกินหมูผู้รักสุขภาพ ไม่เพียงแค่ได้ผลผลิตเป็นหมูหลุมคุณภาพดี สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีและผู้บริโภคได้อาหารที่ดีแล้ว คุณสุพจน์ ยังได้การันตีความเป็นปราชญ์ของศาสตร์หมูหลุมด้วยสองรางวัลใหญ่ในฐานะเกษตรกร คือ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเลี้ยงสัตว์ พ.ศ.2558  และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น พ.ศ.2565
 

“การที่ผมได้รางวัลผมคิดว่าเป็นโอกาสให้คนรู้จักหมูหลุมมากกว่า เราต้องการสื่อสารออกไปว่าหมูหลุมดีอย่างไรและเลี้ยงอย่างไร หมูหลุมเลี้ยงได้ เป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยใช้รางวัลเป็นตัวการันตีก็ได้” พูดถึง ฟาร์มหมู ใครต่อใครก็นึกถึงกลิ่นเหม็น ซึ่งสาเหตุหลักของภาพจำอันไม่พึงประสงค์นี้ไม่ได้มาจากเรื่องอื่นไกล มีที่มาที่ไปจากวิธีการเลี้ยง แต่เรื่องเหม็นๆ แบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับ ฟาร์มสุกรชีวภาพ หรือที่เรียกกันว่า หมูหลุม  หลายคนรู้จัก “หมูหลุม” จากการที่เป็นวิธีเลี้ยงหมูของชาวเขาชาวดอย ซึ่งการเลี้ยงดังกล่าวมักจะเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ค่อนข้างแตกต่างจากการเลี้ยงหมูในระบบฟาร์ม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการค้าเป็นหลัก

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

ราวๆ ปี 2546 มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ดอนแร่ จ.ราชบุรี ไปเห็นว่ามีการเลี้ยง “หมูหลุม” ที่จังหวัดเชียงราย จึงนำกลับมาใช้ในพื้นที่บ้าง แต่ยังทำอยู่ในวงแคบๆ จนถึงปี 2549 เรื่องการเลี้ยงหมูหลุมได้ไปถึงหูของคุณสุพจน์ สิงห์โตศรี อดีตสัตวบาลที่เคยทำงานในฟาร์มหมูขนาดใหญ่ เมื่อไปถึงคอกหมูหลุม สิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจมากคือ ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวัน น้ำในบริเวณนั้นไม่เสีย และนั่นเป็นวินาทีที่เขาตกผลึกได้ว่า นี่คือทางรอดของตัวเอง
 

● เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู

จากอดีตที่เคยดูแลหมูในฟาร์ม ต้องคอยฉีดวัคซีน ฉีดยา รักษาโรค ทำให้เขาต้องสูดกลิ่นเหม็นของฟาร์มหมูอยู่ตลอด รวมถึงได้รับสารเคมีที่ใช้ในการเลี้ยงหมูสู่ร่างกายจนส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ผลข้างเคียงที่ว่านี้ทำให้เขาแสวงหาวิถีทางใหม่ที่จะเลี้ยงหมูไปพร้อมๆ กับมีสุขภาพที่ดี  หลังจากได้รู้จัก “หมูหลุม” ของชาวบ้าน เขาเริ่มศึกษาเรื่องการเลี้ยงหมูหลุมโดยไปถึงแหล่งความรู้ที่เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย    เรียนรู้อยู่ที่นั่นจนได้ทราบว่านี่คือ “นวัตกรรมการเลี้ยงหมู” ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายภาคส่วน
 

“ผมเรียกการเลี้ยงหมูหลุมว่าเป็นนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงหมูทั่วไปทำให้เกิดปัญหาในชุมชนแน่นอน กลิ่นเหม็น น้ำเสีย แมลงวัน จะไปตั้งฟาร์มที่ไหน เขาไม่ให้ตั้งแน่ อีกเรื่องคือสุขภาพหมู อันนี้เห็นผลเลยคือไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่ต้องใช้วัคซีน”

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมอินทรีย์ตำบลดอนแร่ ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ด้วยความต้องการแรกเริ่มที่จะรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรและนำมูลมาใช้ผลิตปุ๋ยลดต้นทุนการทำเกษตรกรรมในตำบล มีสมาชิกแรกเริ่มประมาณ 10 ครัวเรือน  คุณสุพจน์ระบุว่า  มีปัจจัยที่จะเลี้ยงหมูหลุมแล้วรอดอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่

1. การคัดพันธุ์ หมูที่นำมาเลี้ยงจะเป็นพันธุ์ของระบบฟาร์มก็ได้ แต่ต้องมาผลิตลูกเอง คือมีพันธุ์แท้ของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรค

2. อาหาร เนื่องจากตนเองเคยอยู่ในสายการผลิตอาหารสัตว์ คุณสุพจน์ได้คำนวณสูตรอาหารข้นที่เหมาะกับการเลี้ยง เป็นอาหารผงไม่อัดเม็ดนำมาผสมกับอาหารหมัก

3. การจัดการฟาร์ม โดยเขาได้ออกแบบคอกโดยไม่ขุด ซึ่งได้ไปดูงานที่อื่นเขาขุดลึก 80 เซนติเมตร พบว่า ไม่เหมาะกับบริบทในภาคกลาง จึงไม่ขุดเลย แต่ก่อผนังขึ้นมาแล้วใส่วัสดุรองพื้น

4.การตลาด มีการทำตลาดชุมชน ชำแหละเอง แปรรูปเอง นอกจากนั้นยังทำตลาดในตัวเมืองราชบุรี และตลาดในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ พอครบวงจร ก็ไปรอด
 

สำหรับเรื่องกลิ่นเหม็นที่เป็นปัญหาโลกแตกของฟาร์มหมู กุญแจสำคัญอยู่ที่พื้นของคอกหมูกับวัสดุรองพื้น คุณสุพจน์อธิบายว่า การเลี้ยงระบบฟาร์มทั่วไปที่ทำคอกเป็นพื้นปูน แล้วอาศัยฉีดน้ำล้างสิ่งปฏิกูล กลิ่นเหม็นจะไปฝังอยู่ในรูพรุนของผิวปูน  แต่ในทางกลับกัน หมูตามธรรมชาติจะไม่มีกลิ่นเหม็น เพราะมีวัสดุรองพื้น การทำคอกหมูหลุมจึงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ โดยเขาใช้วัสดุรองพื้นประเภทแกลบ ก้อนเห็ดที่ทิ้งแล้ว เศษกิ่งไม้ใบไม้ ทะลายปาล์ม กาบมะพร้าว ฯลฯ ความหนา 60 เซนติเมตร ซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่ภาคกลาง แล้วใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น (ราขาว) มาช่วยย่อยสลายทั้งมูลและเศษวัสดุรองพื้น จึงไม่มีกลิ่นเหม็น
 

● หมูสุข ก่อนเป็นหมูสุก

“หมูหลุม” นับเป็นการเลี้ยงหมูที่เข้าใกล้คำว่าธรรมชาติมากที่สุด ตั้งแต่การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ทำวัคซีน ไปจนถึงสถานที่เลี้ยง ทำให้หมูหลุมเป็นหมูที่ไม่เครียด แสดงพฤติกรรมได้ตามธรรมชาติ ส่งผลไปถึงภูมิต้านทานโรคด้วย  เรื่องตัวชี้วัดด้าน “อารมณ์ของหมู” คุณสุพจน์เล่าว่า เมื่อหมูไม่เครียด จึงไม่ต้องตัดหาง ซึ่งโดยปกติตามฟาร์มหมูทั่วไปจะต้องตัดหางหมูออก เพราะถ้าไม่ตัด หมูจะกัดหางกัน พอเป็นหมูหลุมที่มีความสุขก็ไม่สนใจเรื่องกัดหาง เพราะมัวแต่สนใจเรื่องการกินการนอนของตัวเองที่ค่อนข้างสบาย
 

“ผลลัพธ์จากความสุขของหมูคือเราได้คุณภาพเนื้อหมูที่นุ่มกว่า ไม่แข็งกระด้าง เพราะท่าทางการยืนของหมูไม่เกร็ง ถ้ายืนบนพื้นแข็งมันผิดธรรมชาติ พอเกร็งแล้วกล้ามเนื้อต่างๆ จะสร้างกล้ามเนื้อที่เหนียวเพื่อให้ยืนได้แบบนั้น สังเกตได้ว่าเล็บของหมูหลุมจะไม่แตกเลย พอขาไม่เจ็บไม่แตกก็ไม่ป่วย แล้วการให้อาหารก็สำคัญมาก ถ้าเราให้อาหารเยอะเกินไปหมูก็จะท้องเสีย เมื่อเขาอยู่สบาย ความเจ็บป่วยก็จะลดลงมากถึงขั้นไม่ป่วยเลย แต่เราก็มีคอกแยก ถ้าหมูป่วยก็แยกออก แต่ไม่ค่อยมีหมูป่วย ความนุ่มของเนื้อหมู เราไม่ได้คิดกันเอง แต่เชฟที่ซื้อหมูหลุมนำไปทดสอบ พบว่าเนื้อมันนุ่มและไม่เหม็นคาว และยังมีอีกเรื่องที่เกิดขึ้นในเขียงหมูชุมชน บางครั้งหมูเราไม่พอป้อนตลาด และนำหมูจากที่อื่นมาเชือด คนซื้อเขารู้สึกได้เลยว่านี่ไม่ใช่หมูหลุม” ความแตกต่างของหมูหลุมนอกจากจะแตกต่างเรื่องคุณภาพ ราคาก็เป็นอีกดัชนีชี้วัดว่าสุดท้ายแล้วหมูหลุมพรีเมียมกว่าหมูทั่วไปมาก แน่นอนว่าอาจไม่ใช่ทุกคนที่เลือกซื้อ แต่คนที่ยอมจ่ายคือกลุ่มคนรักสุขภาพซึ่งมีจำนวนไม่น้อย
 

ตลาดที่รองรับหมูหลุมมีอยู่หลายแห่ง คุณสุพจน์ยกตัวอย่างว่ามีตลาดวิถีธรรมชาติราชบุรี เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรในจังหวัด ตลาดสุขใจ ในกรุงเทพฯมี Lemon Farm ทุกสาขา รวมถึงโรงแรม ร้านอาหาร และการสั่งออนไลน์ ปัจจุบันเขาผลิตหมูหลุมได้ปีละประมาณ 2,000 ตัว และสมาชิกในกลุ่มอีก 400 -500 ตัว รวมแล้วนับเป็นหมูหลุม 0.01 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
 

● ปุ๋ยหมูหลุม ทำ “มูล” ให้มี “ค่า”

นอกจาก “หมูหลุม” ของคุณสุพจน์และเครือข่ายจะถูกนำไปบริโภคแบบ Nose to Tail แล้ว สิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นของเสีย กลับมีทั้ง “คุณค่า” และ “มูลค่า” แล้วยังสวนทางกับปัญหาที่มักจะตามติดธุรกิจฟาร์มหมู เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ เป็นต้น ด้วยการแปรมูลหมูเป็นปุ๋ยคุณภาพดี
 

ในเรื่องสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงหมูหลุมมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องการใช้น้ำ เพราะหมูหลุมไม่ต้องอาบน้ำ จึงใช้ทรัพยากรน้ำน้อยมากๆ แต่เกษตรกรจะพ่นจุลินทรีย์ทุกสัปดาห์แทน โดยจะสูญเสียน้ำให้หมูกินเพียงตัวละ 3-5 ลิตรต่อวัน ในขณะที่หมูฟาร์มทั่วไปจะใช้น้ำมากถึงตัวละ 30-50 ลิตรต่อวัน แถมยังไม่สร้างมลพิษทางน้ำด้วย เพราะไม่มีน้ำเสียปล่อยสู่ธรรมชาติ การันตีด้วยความใสสะอาดของแหล่งน้ำรอบๆ ฟาร์มที่สามารถเลี้ยงปลาบริเวณโดยรอบของหมูหลุมดอนแร่แห่งนี้

เกษตรกรดีเด่นสู่ปราชญ์เกษตรด้านปศุสัตว์ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี
 

ตามมาด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า ลูกหมูหลุมที่เพิ่งคลอดไม่จำเป็นต้องใช้ไฟกกเหมือนอย่างหมูปกติที่ต้องใช้ไฟกกเพราะพื้นซีเมนต์จะเย็นในเวลากลางคืน ซึ่งต้องใช้ไฟอย่างน้อย 100 วัตต์ หรือใช้ฮีตเตอร์ประมาณ 250 วัตต์ เลยทีเดียว หมายความว่าหมูหลุมที่อยู่บนวัสดุรองพื้นที่ค่อนข้างอบอุ่นช่วยประหยัดไฟฟ้าแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์
 

ส่วนเรื่องแรงงาน คุณสุพจน์บอกว่าคนที่เลี้ยงหมูหลุมจะปลีกตัวไปทำงานอื่นๆ ได้ เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในอดีตที่การเลี้ยงหมูระบบฟาร์มทั่วไปแทบจะกระดิกตัวไปไหนไม่ได้ แตกต่างจากปัจจุบัน มีเวลาหนึ่งวันเท่ากัน แต่ทำอะไรได้มากมาย  “ผมตื่นมาตอนเช้าก็ให้อาหาร กลับมาจากธุระตอนเย็นก็ให้อาหาร วันหยุดก็มาดูบ้าง  พอถึงเวลาก็จับขาย แค่นั้นเอง เพราะไม่ต้องไปทำความสะอาด เป็นข้อดีเรื่องแรงงาน ปัจจุบันเราเอาแรงงานไปผลิตปุ๋ย  ตอนนี้เราทำปุ๋ยเพื่อทดแทนค่าอาหารหมู  โดยแม่หมู 1 ตัว ผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 6,000 กิโลกรัม  ผมขายกิโลกรัมละ 2 บาท ก็ได้เงิน 12,000 บาท ซึ่งจะได้เงินจากการขายปุ๋ยมาเป็นค่าวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารได้  ซึ่งปัจจุบันนี้ปุ๋ยมูลหมูไม่พอขาย คุณสุพจน์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Zero Waste เพราะทั้งหมดถูกนำมาใช้ประโยชน์  ปุ๋ยจากมูลหมูหลุมเป็นที่นิยมมากในพื้นที่ราชบุรี ปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเกษตรกรที่ทำนาและทำสวนผักในพื้นที่ดังกล่าวพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่แพงมากๆ ในยุคนี้ ซึ่งปุ๋ยมูลหมูหลุมก็ตอบโจทย์
 

● การทำฟาร์มมาตรฐาน

ต้องขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับเรามาก ระดมนักวิชาการมานั่งถกกัน และผลักดันมาตรฐานฟาร์มหมูหลุมจนได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ระเบียบกรมปศุสัตว์ “ว่าด้วยการขอรับและออกใบรับรองฟาร์มเลี้ยงหมูหลุม  พ.ศ.2562”   ซึ่งที่ฟาร์มได้รับรองเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูหลุมฟาร์มแรกในประเทศไทยเมื่อ ปี 2563  และได้รับรองเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์    ในปี 2564
 

หลังจากฟาร์มของคุณสุพจน์ต่อสู้จนเกิดเป็นบรรทัดฐาน และได้รับมาตรฐานฟาร์มหมูหลุม ทำให้ฟาร์มต่างๆ กำลังเจริญรอยตาม เขาฝากถึงคนที่กำลังสนใจจะเข้ามาสู่เส้นทางหมูหลุมว่าคิดถูกแล้ว ที่เหลือคือเดินให้ถูกทาง   เดิมทีคนมักจะคิดว่าหมูหลุมน่าจะเป็นตัวการของโรคระบาดในหมู แต่ที่ผ่านมาก็พบว่าหมูหลุมไม่ได้ป่วยง่ายๆ ซึ่งก็ต้องมีระบบการป้องกันโรคที่ดีด้วย จนกลายเป็นว่าหลายคนเปลี่ยนความคิดหันมาเลี้ยงหมูหลุมแทน เรื่องความเจ็บป่วยของหมูหลุม เขาให้ข้อมูลว่าโดยปกติหมูจะป่วยสองอย่าง คือ ระบบทางเดินหายใจ กับระบบทางเดินอาหาร แต่ข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุมคือจะไม่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจเนื่องจากอากาศถ่ายเท ไม่มีการหมักหมมของเชื้อโรคและแก๊สในคอก แปลว่าปัญหาสุขภาพของหมูถูกตัดออกไปครึ่งหนึ่งแล้ว
 

ถึง “หมูหลุม” จะเป็นอนาคตของการเลี้ยงหมูที่ดูสดใส แต่หากไม่ได้รับมาตรฐานฟาร์มก็จะเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้าย  ในประเด็นการเคลื่อนย้าย เขามองว่าเรื่อง “มาตรฐานฟาร์ม” จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้ เพราะถ้ามีมาตรฐานฟาร์มก็จะขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายจากหน่วยงานราชการได้ ติดอยู่ที่ว่าเกษตรกรหมูหลุมส่วนมากยังไม่ได้รับมาตรฐานฟาร์ม
 

“หมูหลุมเป็นการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจะเลี้ยงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีและมีระบบการป้องกันโรคที่ดีก่อน และควรผลิตลูกหมูด้วยตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรค ทำให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ถ้าทำปลายน้ำด้วยยิ่งดี เช่น การเพิ่มมูลค่าในเรื่องชำแหละตัดแต่ง ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ เพื่อช่วยลดต้นทุน และส่งเสริมเรื่องสุขภาพของผู้เลี้ยงเองด้วย”