ส่องนโยบาย-มอตโต้ ชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯกทม."

ส่องนโยบาย-มอตโต้ ชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯกทม."

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี คึกคัก “กกต.” เปิดรับสมัครผู้ว่าฯกทม.-ส.ก. วันแรก ลงสมัครอิสระ 11 ราย สังกัดพรรคการเมือง 3 ราย เลือกกทม.ผู้มีสิทธิ 4.5 ล้านราย เมืองพัทยา 116,546 ราย

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี คึกคัก “กกต.” เปิดรับสมัครผู้ว่าฯกทม.-ส.ก. วันแรก ลงสมัครอิสระ 8 ราย สังกัดพรรคการเมือง 3 ราย เลือกกทม.ผู้มีสิทธิ 4.5 ล้านราย เมืองพัทยา 116,546 ราย

วันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นวันแรก โดยการเปิดรับสมัครจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 มี.ค.- 4 เม.ย. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) ผู้สมัครเดินทางมาสมัครได้ในเวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งผู้ที่มาก่อนเวลาเปิดรับสมัคร 08.30 น. จะใช้วิธีจับสลากโดยปลัดกทม. โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พ.ค.2565

พร้อมกันนี้ “ปลัดกทม.” จะจัดให้มีการจับเบอร์ผู้สมัคร สมาชิกสภากทม. (ส.ก.) พร้อมกันไปด้วย โดยมีผู้สมัคร ส.ก. จากพรรคการเมือง และผุ้สมัคร ส.ก. ในนามอิสระ ทั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับแต่มีการเลือกตั้งในเมืองหลวงหนสุดท้ายเมื่อปี 2556

“กรุงเทพธุรกิจ”  รวบรวมความพร้อมของ “ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.” และ “ผู้สมัคร ส.ก.” จากพรรคการเมือง มานำเสนอ เพื่อฉายภาพการแข่งขันแย่งชิงเก้าอี้ ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก. ที่จะแย่งซีน-แย่งชิงกันอย่างดุเดือด

ผู้สมัครที่ลงในนนามอิสระ เริ่มต้นที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เบอร์ 8 ผู้สมัครอิสระ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (พท.) มาพร้อมกับสโลแกน “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

โดย “ชัชชาติ” มาพร้อม 200 นโยบาย ด้วยแนวคิด “กรุงเทพฯ 9 ดี” หลังเจ้าตัวใช้เวลากว่า 2 ปี ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและรับฟังความต้องการของชาวกทม. ซึ่งนโยบายกรุงเทพฯ 9 ดี ครอบคลุมความต้องการและความจำเป็นของชาวกทม. ประกอบด้วย ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี

ต่อด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 อดีตผู้ว่าฯกทม. โดย “อัศวิน” ขอไปต่อหลังนั่งเก้าอี้พ่อเมืองมากว่า 5 ปี ตามมอตโต “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” พร้อมชูนโยบาย ที่ทำได้จริงเพราะทำให้เห็นมาแล้วและไม่ขายฝันคนกรุงเทพฯ นโยบายสำคัญที่หวังโกยคะแนนจากชาวกรุงเทพฯ

โดยในการลงสู้ศึกครั้งนี้มี 8 ด้าน ประกอบด้วย เมืองป้องกันน้ำท่วม เมืองเดินทางสะดวก เมืองแห่งสุขภาพ เมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมืองปลอดภัย เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองดิจิทัล และเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย

นอกจากนี้ “อัศวิน” ยังวางฐานเสียงผูกโยงกับผู้สมัคร ส.ก. ในนาม “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” ส่งผู้สมัคร ส.ก. ลงชิงเก้าอี้ครบทั้ง 50 เขต ซึ่งผู้สมัคร ส.ก. ค่อนข้างได้เปรียบกว่าพรรคอื่น เนื่องจากลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนผ่านโครงการของกทม.มานาน

“สกลธี ภัททิยกุล” เบอร์ 3 อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ชูสโลแกน “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้” โดยมีนโยบายหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง จราจร ล้อรางเรือ ด้านดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม

โดย “สกลธี” เดินเกมรุกทางโซเชียลมีเดีย จัดทำเว็บไซต์ WWW.กทมช่วยบอกที.COM เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ พาตัวเอาตัวเข้าไปอยู่ในมอตโตหา “ช่วยบอก ธี” เพื่อสร้างภาพจำเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม “สกลธี” ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ก. ลงชิงเก้าอี้ แต่มีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคกล้า ที่ส่งผู้สมัคร ส.ก. มีบางคนเอื้อหนุนกับ “สกลธี” อยู่พอสมควร

“รสนา โตสิตระกูล” เบอร์ 7 เคยได้รับเลือกตั้งเป็น สว.กทม. ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยคะแนน 743,397 คะแนน จึงพอมีฐานความนิยมในพื้นที่กทม.อยู่พอสมควร ซึ่งชูความเป็นอิสระปลอดจากพรรคการเมือง โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า “กทม.มีทางออก บอกรสนา”

“รสนา” นำเสนอนโยบาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดหนี้ ให้กับประชาชน โดยกทม.มีหน่วยธุรกิจอยู่แล้ว จึงสามารถทำกองทุนเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการประกอบธุรกิจกู้ยืมเงินได้ เพื่อลดปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันยังต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกทม.ในทุกด้าน

“ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์” เบอร์ 16 มีกลุ่มใส่ใจคอยเป็นแบ็คอัพให้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก “วินท์ สุธีรชัย” อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล ตัวของ “ศศิกานต์” ถือเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ ประสบความสำเร็จในแวดวงสื่อสารมวลชน มาพร้อมสโลแกน “กรุงเทพฯปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ พัฒนาการศึกษา” โดยจะเปิดนโยบายในวันที่ 4 เม.ย.นี้

“ประยูร ครองยศ” เบอร์ 12 อดีตรองผู้อำนวยการสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กทม. ก่อนหน้านี้จะลงในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่มี “พี่เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เป็นหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แต่สุดท้าย “ประยูร” แตกคอกับ “มงคงกิตติ์” เสียก่อน จึงขอลงสมัครในนาม อิสระ โดยมีสโลแกนว่า “ลูกหม้อ กทม. ผมพร้อมแล้ว”

“อุเทน ชาติภิญโญ” เบอร์ 17 มาพร้อมสโลแกน “4 นโยบาย 500 วันทำไม่ได้ ลาออกทันที” พร้อมประกาศนโยบายปราบปรามอิทธิพลมืดใน กทม. ปราบปรามส่วยในกทม. และข้าราชการ กทม.ต้องรับเข้าบรรจุ แต่ต้องออกง่าย เป็นต้น

ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง เริ่มที่ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4 อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ชูสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้”

โดยนโยบายสำหรับการเปลี่ยนชีวิตคนมี 3 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่องปากท้อง เงินต้องเต็มบ้าน งานต้องเต็มมือ จัด 12 เทศกาลใหญ่ และ 50 เทศกาลเขต เพื่อให้กรุงเทพฯมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล 2.เรื่องสาธารณสุข หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน และ3.โรงเรียนดี อยู่ใกล้บ้าน โดยจะต้องมีโรงเรียนประจำเขต

ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัคร ส.ก. 50 เขต เพื่อช่วยสนับสนุน “สุชัชวีร์” โดยมี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องได้ ส.ก. ไม่น้อยกว่า 20 เขต

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล มาพร้อมสโลแกน "พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ – สร้างเมืองที่คนเท่ากัน” และนโยบายหลัก 12 ด้าน เช่น วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน เพิ่มเบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี อุดหนุนตั๋วค่าโดยสาร เป็นต้น

แม้กระแสของ “วิโรจน์” จะไม่ปังเท่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่พรรคก้าวไกลปรับแผน ดึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า มาช่วยเก็บแต้มก่อนวันสมัคร และอาจจะต่อยอดไปถึงช่วงเดินสายหาเสียง อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลส่งผู้สมัคร ส.ก. 50 เขต โดยโผของพรรคก้าวไกลเองมองว่ามีโอกาสที่จะได้ ส.ก. เกิน 15 ที่นั่ง

“น.ต.ศิธา ทิวารี” เบอร์ 11 พรรคไทยสร้างไทย ชูสโลแกน “สร้างกรุงเทพ ที่ดีที่สุดกับไทยสร้างไทย" ต้องยอมรับว่าตัวเลือกแรกของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทย ไม่ใช่ “ศิธา” แต่เมื่อจำเป็นต้องลงสนาม เพื่อตรึงฐานเสียงคนกทม.ให้อยู่กับ “เจ้าแม่กทม.” จึงต้องใช้บริการคนใกล้ตัว

“ศิธา-ไทยสร้างไทย” ส่งผู้สมัคร ส.ก. 50 เขต โดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่วางตัวให้ลงพื้นที่มาเกือบ 1 ปี โดยคาดหวังจะได้ ส.ก. 10 ที่นั่งขึ้นไป

ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่ส่ง “ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.” ในนามพรรค แต่ส่งผู้สมัคร ส.ก. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 50 เขต คาดหวังจะได้ ส.ก. 18-20 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 50 เขต คาดหวังจะได้ ส.ก. 10-15 ที่นั่ง พรรคกล้า 10 เขต คาดหวังจะได้ ส.ก. อย่างน้อย 4-5 ที่นั่ง พรรครวมไทยยูไนเต็ด 3 เขต ไม่คาดหวังจะได้ ส.ก. แต่ต้องการวางรากฐานทางการเมือง

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.-นายกเมืองพัทยา มีดังนี้ จำนวนประชากรกทม. 5,523,676 ราย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ18ปีขึ้นไป) 4,556,776 ราย - ผู้ชาย 2,095,505 ราย - ผู้หญิง 2,461,271 ราย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (นิวโหวตเตอร์) 61,228 ราย - ผู้ชาย 31,064 ราย - ผู้หญิง 30,164 ราย

ส่องนโยบาย-มอตโต้ ชิงเก้าอี้ \"ผู้ว่าฯกทม.\"