สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกดิ่งเหว ผลกระทบสงคราม - โควิด-19 ในไทยยังหนัก

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกดิ่งเหว ผลกระทบสงคราม - โควิด-19 ในไทยยังหนัก

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" แถลงสถานการณ์ "สิทธิมนุษยชน" ประจำปี 64-65 ยังดิ่งเหว ประชากรโลกได้รับผลกระทบจากสงคราม - โควิด-19 ระบาด - การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นโยบายรัฐซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ในไทยมีเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี โดนคดีชุมนุมกว่า 270 คดี ลั่นรัฐไม่เคยไว้วางใจประชาชน

วันที่ 29 มีนาคม 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดงานแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2564/65 ซึ่งในภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมาพบว่า ประชากรโลกยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของสงคราม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นโยบายของรัฐบาลกลับยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

  • สิทธิมนุษยชนโลก 2564/65: ความขัดแย้ง โรคระบาด สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง    

เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก กล่าวว่า สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้นำทางการเมือง และบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างเล็งเห็นผลกำไร และอำนาจของตนสำคัญกว่าประชาชน 

“พวกเขาไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมภายหลังการระบาดใหญ่ แม้บริษัทยาขนาดใหญ่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐหลายพันล้านดอลลาร์ แต่พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับความโลภของตนเองมากกว่าความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน”  

นอกจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 เอร์วิน ระบุว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ปี 2564 ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง รัฐต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยซ้ำ เกี่ยวกับพันธกิจที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศา ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลกกว่าครึ่งพันล้านคน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศซีกโลกฝ่ายใต้ ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และอีกหลายพันล้านคนต้องได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง 

“ความขัดแย้งใหม่ และความขัดแย้งที่เรื้อรัง ปะทุขึ้นมาทั่วโลก ส่งผลให้พลเรือนได้รับความเสียหาย ทั้งการพลัดถิ่นฐาน ถูกสังหาร ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ และทำให้ระบบสุขภาพและเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ต้องอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย” 

ความล้มเหลวระดับโลกในการแก้ไขความขัดแย้งที่ทวีคูณมากขึ้น เร่งให้เกิดความไร้เสถียรภาพ และการทำลายล้างในวงกว้าง ความไร้ประสิทธิภาพของมาตรการรับมือระดับโลกต่อวิกฤติเหล่านี้ เห็นได้ชัดเจนมากสุดจากภาวะอัมพาตของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาความทารุณโหดร้ายในเมียนมา การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน และอาชญากรรมสงครามในซีเรียได้  

ในขณะที่ความเห็นที่เป็นอิสระเป็นสิ่งจำเป็นมากสุด กลับเกิดแนวโน้มที่มุ่งปราบปรามความเห็นต่างมากขึ้น โดยรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือ และยุทธวิธีเพื่อปราบปรามอย่างกว้างขวาง  

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ หน่วยงานด้านสื่อ และผู้นำฝ่ายค้าน ต่างตกเป็นเป้าหมายการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมาน และการบังคับให้สูญหาย โดยหลายกรณีเกิดขึ้นด้วยการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับโรคระบาด” เอร์วิน กล่าว 

มีอย่างน้อย 67 ประเทศ ที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ในปี 2564 เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคม ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกควบคุมตัวโดยพลการในอย่างน้อย 84 จาก 154 ประเทศ จากการบันทึกข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

“เราจะต้องพัฒนาต่อยอดแรงต่อต้านที่มีอยู่ของขบวนการประชาชน และกลุ่มอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อต่อสู้กับการทรยศของรัฐบาล และต่อสู้กับความพยายามใดๆ ที่จะปราบปรามการแสดงความเห็น ในกว่า 80 ประเทศ ประชาชนได้รวมตัวชุมนุมประท้วงเป็นจำนวนมาก”   

เอร์วิน กล่าวย้ำว่า แอมเนสตี้จะเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และเพื่อทวงคืนพื้นที่ของภาคประชาสังคมกลับคืนมา

  • สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก : ความไร้พรมแดนของสงครามและโรคระบาด

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การไม่มีเสรีภาพการแสดงออกเป็นปัญหาดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชีย เเต่เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาด และความขัดแย้งด้วยอาวุธในประเทศเมียนมา และอัฟกานิสถานก็ทำให้ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคเอเชียย่ำแย่ลงอย่างมาก 

“เราเห็นพัฒนาการเชิงบวกในหลายเรื่อง ความพยายามจะทำให้การทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญา รวมไปถึงกฎหมายการทำแท้งที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้เราเห็นพัฒนาการเชิงบวกในหลายประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีกฎหมายในลักษณะนี้แล้ว สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง เราต้องจับตาต่อไป” 

สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ฐิติรัตน์ กล่าวว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงจากการใช้อาวุธปราบปรามประชาชนในประเทศเมียนมา และอัฟกานิสถาน ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนแทบทุนด้าน และผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะประชากรในประเทศที่เกิดความขัดแย้ง หากแต่ส่งผลในลักษณะข้ามพรมแดน  

“ความรุนแรงไม่ได้เกิดเพียงในขอบเขตประเทศเมียนมา แต่รวมถึงผู้ลี้ภัยที่ออกมาจากประเทศเมียนมาด้วย สื่อมวลชนได้รับผลกระทบ มีการโจมตีพลเรือน บังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน มีการปฏิเสธการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งทำให้การคุ้มครองเสรีภาพลดลงอย่างมาก การคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพก็ย้ำแย่ไปด้วย รวมไปถึงสิทธิในด้านการศึกษา การนำโทษประหารมาใช้ในความขัดแย้งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้น” 

ฐิติรัตน์ กล่าวว่า ในการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อและประชาชน มีทั้งการใช้เครื่องมือดั้งเดิมคือ กฎหมายหมิ่นประมาท และการใช้กฎหมายในลักษระใหม่ๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ 

ผลของความขัดแย้งดังกล่าว นำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้ง และการบริหารจัดการโรคระบาดที่รัฐต้องการควบคุมการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมชน และการวมกลุ่มก็ถูกปิดกั้น มิหนำซ้ำการทำงานของภาคประชาสังคมในหลายประเทศก็ได้รับแรงกดดันจากรัฐบาล โดยเฉพาะในกรณีฮ่องกงและอินเดีย องค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งในอินเดียถูกบีบบังคับให้หยุดการทำงานและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

การสร้างแรงกดดัน และข้อจำกัดในการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมก็ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกเล่นงานไปโดยปริยาย พวกเขาถูกบังคับให้สูญหายและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 

“แอมเนสตี้ฯ พยายามจะเรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เพราะการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเท่ากับเป็นการคุ้มครองประชาชนทั้งหมดด้วย” 

การบริหารจัดการสถานการณ์ในภาวะการระบาดของโควิด-19 การที่รัฐพยายามกำจัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และควบคุมข่าวสาร ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสุขภาพของประชาชน รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่สมเหตุผลส่งผลต่อสิทธิในการเข้าถึงอาหารในหลายประเทศ

ผลกระทบของการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดยังส่งผลต่อสิทธิในการทำงาน ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการทำงานในระดับเดียวกันกับที่เคยเป็นก่อนหน้าการระบาด มาตรการการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง และมีลักษณะเลือกปฏิบัติระหว่างคนในชาติ และแรงงานต่างชาติ ยังคงเป็นแนวโน้มที่ปรากฏให้เห็นตลอดทั้งปี 2564 

“ความขัดแย้งในบางประเทศของเอเชีย-แปซิฟิก ส่งผลให้เกิดการลี้ภัย และหนีภัยสงครามมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียมีปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างมาก กลายเป็นว่าความขัดแย้งและโรคระบาดก็ตอกย้ำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของผู้ลี้ภัย” ฐิติรัตน์ กล่าว

  • สิทธิมนุษยชนไทยในถุงดำ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า “รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ทางการใช้กฎหมายโดยพลการในการคุกคาม และควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่างกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับให้สูญหายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณา ยังมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการได้เพิ่มการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และดำเนินคดีอาญากับบุคคลอย่างน้อย 100 คน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีด้วย”

ตลอดทั้งปี 2564 มีการชุมนุมทั้งสิ้น 1,545 ครั้ง ครอบคลุมตั้งแต่การเมืองไปถึงเรื่องโรคระบาด สิทธิชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ ในจำนวนการชุมนุมตลอดทั้งปี มีเยาวชนต่ำกว่า 18 โดนคดี 270 คน     

ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ห้วงเวลาครบรอบ 2 ปีที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่กฎหมายที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพของประชาชน เช่น 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ยังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง 

จำนวนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายที่มีลักษณะดังกล่าว 1,460 คน ซึ่งในจำนวนมากมายเหล่านั้นมีนิสิตนักศึกษาถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็น 

“กรณีเช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งต้องเผชิญกับโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลเห็นว่ามีความผิด พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยพลการ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการปฏิเสธการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ถ้าผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐ ถ้านับจำนวนปีที่คุณเพนกวินโดนดำเนินคดี นับว่าหลายร้อยปีเลยทีเดียว” 

หลังจากระงับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปกว่า 2 ปี ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปีที่แล้วมีคนที่โดนดำเนินคดี 112 จำนวน 116 คน หนึ่งในนั้นคือ ผู้สูงอายุที่ชื่ออัญชัน ถูกจำคุก 87 ปี 

ปิยนุช กล่าวว่า ในการเข้าร่วมชุมนุมของอาสาสมัครที่เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมจะต้องสวมเสื้อที่บ่งบอกสถานะ และอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น แว่นกันแก๊สน้ำตา หน้ากากกันแก๊สน้ำตา หมวกกันน็อก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุมจะเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเช่นนี้

ในเดือนสิงหาคม 2564 วาริช ถมน้อย เยาวชนที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เสียชีวิตจากกระสุนปืนในที่ชุมนุม จนบัดนี้คดียังไม่มีความคืบหน้าเลย

จากคำบอกเล่าของเยาวชนผู้ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุม นอกจากการใช้กระสุนยางและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการชุมชนแล้ว พวกเขาเล่าว่า โดนเจ้าหน้าที่ถีบให้ตกจากรถมอเตอร์ไซค์ เตะ ใช้กระบอง ถูกรัดข้อมือด้วยสายรัดพลาสติกเป็นเวลานาน อยู่ห้องขังร่วมผู้ใหญ่ 

“หลายครั้งมีการจับกุมโดยไม่เปิดเผยสถานที่กักขังต่อสาธารณะ รวมถึงเด็กอายุ 14 เพศหญิงที่ถูกควบคุมตัวในลักษณะนี้ ลองคิดดูเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีรุนแรงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น 112, 116 รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้รับผลกระทบอะไรบ้างที่ไม่ได้ถูกบันทึกในรายงาน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านจิตใจ การเรียน ครอบครัว ซึ่งยังรวมถึงเด็กที่ไม่ได้โดนดำเนินคดีแต่ถูกคุกคาม”

ทางการไทยยังใช้วิธีการกดดันไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้มีการจำกัดเนื้อหาที่มีความหมิ่นเหม่ ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ change.org หลังจากมีการรณรงค์ให้ลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันเว็บไซต์ดังกล่าวกลับมาใช้งานได้แล้ว

สำหรับประเด็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย คลิปการทรมานโดยใช้ถุงพลาสติกดำครอบศีรษะจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดภายในสถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์ ก็แสดงให้เห็นอย่างโจ่งเเจ้งว่าการทรมานมีอยู่จริงในสังคมไทย 

สำหรับข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลและประชาชนผู้ร่วมปกป้องสิทธิเสรีภาพ แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งที่ 3/2558 และ คำสั่งที่ 13/2559 รวมถึงกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะขอให้การใช้กฎหมายมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีที่มีสนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพิจารณาความเห็นทั่วไปที่ 35 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิที่จะมีอิสรภาพ 

“คีย์เวิร์ดก็คือ ต้องมีการใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อกำหนดและขอให้ใช้อย่างจำเป็นและได้สัดส่วน ให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระ และมีการติดตามทำรายงานในมาตรการที่นำมาใช้ ขออย่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว

  • เสรีภาพในการสมาคมท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทย

สืบเนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. สร้างความวิตกกังวลให้ภาคประชาสังคม เพราะนี่คือ กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือเป็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย 

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า สิทธิในการรวมกลุ่มของประชาชนไม่ใช่เรื่องเฉพาะองค์กรใดองค์หนึ่ง การสร้างข้อจำกัดแก่การรวมกลุ่มสมาคมจึงส่งผลวงกว้างต่อประชาชนทุกคน 

“เพราะการรวมกลุ่มนำไปสู่การปกป้องสิทธิด้านต่างๆ การรวมกลุ่มจะทำให้เสียงของเราได้รับการรับฟัง มีส่วนในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิในการรวมกลุ่มมักถูกจำกัดโดยเฉพาะรัฐบาล ซึ่งพยายามทำให้มีผลทางกฎหมาย มองว่านี่คือ การสร้างข้ออ้างด้านความมั่นคงบนความหวาดระแวง โดยรัฐอ้างเรื่องศีลธรรมอันดีงามมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” 

อังคณา ระบุว่า นักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามไปจนถึงถูกฆ่าถูกอุ้มหายส่วนมากแล้วคือ ชาวบ้าน และพวกเขาเผชิญกับการคุกคามเพียงลำพัง 

“เรื่องเหล่านี้ไม่เคยมีใครได้รับความผิดตามกฎหมาย ชาวบ้านจึงเรียนรู้การทำงานด้วยการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องคุ้มครองกันเอง สร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อแก่อำนาจไม่ชอบธรรม แต่รูปโฉมของภัยคุกคามมันได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป จำนวนผู้ที่ถูกอุ้มฆ่าน้อยลง แต่มีการคุกคามด้านกฎหมายมากขึ้น ตัวเองยังถูกฟ้องร้องถึง 2 คดี” 

ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือ รัฐหวาดระแวง และไม่เคยวางใจประชาชน 

“ความสงบของรัฐต้องเป็นความสงบที่ราบคาบ ไม่มีเสียงคัดค้าน แต่รัฐควรตระหนักให้มากในความเปลี่ยนแปลงที่ประเทศพัฒนามาถึงวันนี้ ล้วนมาจากเสียงของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยได้รับเสียงชื่นชมจากเวทีโลกอย่างการปรับปรุงกฎหมายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็มาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของประชาชนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายก็ล้วนมาจากเหยื่อที่ถูกกระทำ” 

 อังคณาทิ้งท้ายถึงกระแสขับไล่องค์กรอย่างแอมเนสตี้ ประเทศไทยว่า เป็นเหมือนสัญลักษณ์ในการกำราบผู้เห็นต่าง และวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรใหญ่ มีเครือข่ายทั่วโลก โดยการริเริ่มกระแสขับไล่นี้มาจากคนที่อยู่ในตำแหน่งของรัฐด้วย หากการปล่อยเวลาการทำรายงานสอบเรื่องแอมเนสตี้ไม่จบเสียที ถ้ารัฐยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน จะเป็นช่องทางที่รัฐใช้คุกคามองค์กรเล็กๆ องค์กรอื่นๆ ต่อไปด้วยได้ 

จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายภาคประชาชน ไม่ได้มุ่งจำกัดองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความต่อเนื่องของกระบวนการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน 

“ในนามของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน นี่คือ การปิดพื้นที่สื่อ เพราะหลังกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ออกมาใช้ข้อกล่าวหาเพื่อดิสเครดิตโดยใช้เฟกนิวส์ มีการทำเอกสารอย่างเป็นทางการกล่าวหาองค์กรสื่อ 6 แห่งที่ทำหน้าที่รายงานข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน หนึ่งในนั้นคือ ประชาไท 5-6 องค์กรข่าวรวมตัวกันร้องเรียนต่อสู้จนเรื่องนี้ถูกถอนออกไป แต่อะไรเป็นเหตุให้เกิดการโจมตีองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดย 6 องค์กรนี้ทำหน้าที่รายงายข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่รัฐพยายามจะทำให้การรายงานข่าวการชุมนุมเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วยซ้ำ แต่สื่อมองว่านี่คือ เรื่องสำคัญที่สาธารณชนต้องรู้ นำไปสู่การถูกกล่าวหา” 

จีรนุชเสริมว่า รัฐมีความพยายามที่ทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นช่องทางการรายงานข่าวการชุมนุม ได้รับผลกระทบทั้งทางธุรกิจ และการนำเสนอข่าวสาร รวมถึงสร้างแรงกดดันผ่านกลไกอย่างกรมสรรพากร 

“ในช่วงเวลาที่แอมเนสตี้ถูกโจมตี กรมสรรพากรได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรเขตพื้นที่ ติดต่อเข้ามาในองค์กรภาคประชาสังคม 3-4 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เราก็คิดว่าเขาอาจจะทำงานปกติของสรรพากร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เลย ที่พูดมาเราไม่ได้หมายความองค์กรเหล่านี้จะต้องไม่ถูกตรวจสอบ รัฐมีหน้าที่ตรวจสอบ แต่คำถามก็คือ รัฐใช้อำนาจในลักษณะเลือกปฏิบัติและมุ่งร้ายแบบนี้หรือไม่ เราดำเนินงานตามหน้าที่ และเราไม่สามารถอยู่เฉย เราคิดว่านี่คือ สัญญาก่อนการเริ่มต้นบังคับใช้จริงของ ร่าง พ.ร.บ. ถ้าผ่าน เขาไม่ต้องอาศัยสรรพากรเลย นี่คือ เรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่เราไม่ควรยอม”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ส่งผลอย่างทั่วถึงไปยังคนทุกคน “เพราะภาคประชาสังคมทำงานยึดโยงกับประชาชน มันจะส่งผลกระทบต่อทุกคน เราจึงปล่อยผ่านไม่ได้”

“หลักการของเราสิทธิมนุษยชนคือ หลักการสากล เรามีหลักการเดียว” ปิยะนุช กล่าว “เราอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อยู่มา 61 ปี โดยเริ่มจากเครือข่ายอาสาสมัครเล็กๆ แต่ตอนนี้เรามีผู้สนับสนุนทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลก เงินสนับสนุนของเรามาจากคนทั่วไป เราอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนของผู้บริจาค แต่ลองนึกถึงองค์กรอื่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนใหญ่แหล่งทุนเดียว พวกเขาจะได้รับผลกระทบมหาศาล ถึงแม้ไม่มีแอมเนสตี้ในไทย แต่ยังมีขบวนการของแอมเนสตี้อยู่ทั่วโลก”

“ดังนั้น คุณต้องเคารพเสียงของประชาชน คุณต้องเชื่อในเยาวชนที่เขาออกมาเรียกร้อง อย่าไปบอกว่าเขาโดนหลอก เขามีปากมีเสียงของเขา เราไม่ไปแตะเรื่องข้อเรียกร้องของเขา แต่เราต้องการให้พวกเขาได้ใช้สิทธิในการแสดงออก คุณควรจะดีใจเสียด้วยซ้ำที่เยาวชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ นี่คือ ความก้าวหน้า เราต้องให้โอกาส ให้อิสระ ให้เขาใช้สิทธิโดยไม่มีความหวาดกลัว เราต่างคนต่างทำหน้าที่บนหลักการความโปร่งใสและสิทธิมนุษยชน” ปิยนุชทิ้งท้าย 

สำหรับงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564/65 จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันอังคาร ที่ 29 มีนาคม 2565 สำหรับประเทศไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ และ  ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมีเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว

โดยภายในงานจะมีการร่วมกันถ่ายรูปพร้อมป้ายรณรงค์ร่วมรณรงค์เพื่อสนับสนุนองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ยืนหยัดทำงานต่อไป แม้จะกำลังถูกคุกคามก็ตาม

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์