โค้งสุดท้าย! อัปเดตผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." ก่อนวันสมัคร 31 มี.ค. - 4 เม.ย.นี้

โค้งสุดท้าย! อัปเดตผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." ก่อนวันสมัคร 31 มี.ค. - 4 เม.ย.นี้

เช็ครายชื่อโค้งสุดท้าย! อัปเดตผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." จากตัวแทน 4 พรรคการเมือง และ 6 อิสระ ก่อนถึงวันรับสมัคร 31 มี.ค.- 4 เม.ย.นี้

ภายหลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ยุติบทบาทหน้าที่ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นเวลา 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ตั้งแต่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2559 

ทำให้ขณะนี้มีผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการมาแล้วจำนวน 10 ราย (ณ วันที่ 30 มี.ค.65) ภายหลังล่าสุด "วินท์ สุธีรชัย" แกนนำผู้ก่อตั้งพรรครวมไทยยูไนเต็ด ได้เปิดเผยว่า ในนามกลุ่มใส่ใจ ส่งชื่อ "ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์" หรือ "จิ๊บ" ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจ และภาพลักษณ์ บริษัทธุรกิจแห่งหนึ่ง ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

โค้งสุดท้าย! อัปเดตผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" ก่อนวันสมัคร 31 มี.ค. - 4 เม.ย.นี้

เมื่ออัปเดตรายชื่อว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 ถึงวันที่ 29 มี.ค.2565 "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมได้ดังนี้

1. อุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย เปิดตัววันที่ 13 พ.ย.62 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ 

2. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เปิดตัววันที่ 30 พ.ย.62 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ 

3. รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เปิดตัววันที่ 13 ธ.ค.62 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ 

4. ประยูร ครองยศ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดตัววันที่ 9 ธ.ค.64 ในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ 

5. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดตัววันที่ 18 ธ.ค.64 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์

6. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดตัววันที่ 23 ม.ค.65 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคก้าวไกล

7. สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เปิดตัววันที่ 24 มี.ค.65 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ 

8. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. เปิดตัววันที่ 24 มี.ค.65 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระโดยกลุ่ม "รักษ์กรุงเทพ" 

9. ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย เปิดตัววันที่ 30 มี.ค.65 ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคไทยสร้างไทย

10. ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ

โค้งสุดท้าย! อัปเดตผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" ก่อนวันสมัคร 31 มี.ค. - 4 เม.ย.นี้

สำหรับการเปิดรับเลือกตั้ง จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 มี.ค.- 4 เม.ย. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.(ดินแดง) โดยผู้สมัครเดินทางมาสมัครได้ในเวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งผู้ที่มาก่อนเวลาเปิดรับสมัคร 08.30 น. จะใช้วิธีจับสลากโดยปลัด กทม. ซึ่งอาคารไอราวัตพัฒนาแห่งนี้ จะเป็นสถานที่รายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเวลา 23.00-00.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พ.ค.2565 มีหน่วยเลือกตั้ง รวม 6,911 หน่วย แบ่งเป็นอาคาร 2,933 หน่วย เต็นท์ 3,778 หน่วย มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,374,131 คน แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน และเพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน โดย กทม.ตั้งเป้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 70% 

ขณะที่การลงคะแนน ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ เป็นบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบและ ส.ก. 1 ใบ โดยจะมีสีแตกต่างกัน โดยประชาชนสามารถมาเลือกตั้งได้ตั้งแต่ 08.00 - 17.00 น. 

เมื่อปิดหน่วยเลือกตั้งแล้ว จะทำการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง และส่งผลการนับคะแนนมาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น กทม.รวบรวมรายงานผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ กทม. เพื่อรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์