“พนิต” สอนมวย “วิโรจน์” หยุดเล่นการเมืองหมิ่นเหม่ บิดเบือน “ทวงคืนสนามหลวง”

“พนิต” สอนมวย “วิโรจน์” หยุดเล่นการเมืองหมิ่นเหม่ บิดเบือน “ทวงคืนสนามหลวง”

ถึงคิว “พนิต” สอนมวย “วิโรจน์” หยุดเล่นการเมืองหมิ่นเหม่ ขอให้ชูนโยบายรู้จริง-สร้างสรรค์ เพื่อชาว กทม. ชี้บิดเบือนปม “ทวงคืนสนามหลวง” ทำประชาชนสับสน

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ เรื่อง "ไม่รู้จัก กทม.ดีพอ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?"ว่า เห็นนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ของพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศ “ทวงคืนสนามหลวง” เพื่อจะนำให้มานั่งเล่นหมากรุก เปิดสภากาแฟ แล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ เพราะมันเป็นการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนที่รับข่าวสารเรื่องนี้

นายพนิต ระบุว่า ก่อนที่นายวิโรจน์จะทวง “สนามหลวง” ควรจะศึกษาประวัติความเป็นมาให้แตกฉานเสียก่อน ต้องรู้ก่อนว่า สนามหลวง มีความเป็นมาอย่างไร และปัจจุบันมีสถานะเป็นอย่างไร สนามหลวง มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขอบเขตพระบรมมหาราชวังขึ้น และเว้นพื้นที่ที่มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง จนมาถึงปัจจุบันนี้

“พนิต” สอนมวย “วิโรจน์” หยุดเล่นการเมืองหมิ่นเหม่ บิดเบือน “ทวงคืนสนามหลวง”

“สนามหลวง ถูกจัดเป็น ‘โบราณสถาน’ โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สนามหลวง’ ที่มีพื้นที่ 74 ไร่ 63 วา เป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2520 และถือเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น ที่ใช้ประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย” นายพนิต ระบุ

นายพนิต ระบุอีกว่า ส่วนที่นายวิโรจน์บอกว่าประชาชนใช้ประโยชน์ไม่ได้นั้น ไม่แน่ใจว่านายวิโรจน์ตั้งใจให้คนเข้าใจผิด หรือไม่เคยเดินไปในบริเวณนั้นแต่แกล้งไม่เห็น เพราะเมื่อเดือนกันยายนปี 2563 กทม.โดยสำนักงานเขตพระนคร ได้มีการนำป้ายอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ของประชาชน ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00น. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศ กทม.เมื่อปี 2555 ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าไปออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือมีกิจกรรมสันทนาการได้ตามเวลาที่กำหนด แต่หากจะเข้าไปจัดกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ยังจำเป็นต้องขออนุญาตจาก กทม. ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้เพียง 4 กรณี คือ 1.จัดงานพระราชพิธี 2.จัดงานพิธี 3.จัดงานประจำปี และ 4.จัดงานหรือกิจกรรมของหน่วยงานราชการ สรุปคือ ไม่ได้มีการห้ามแต่อย่างใด และที่ผ่านมาประชาชนยังใช้พื้นที่สนามหลวงมาได้โดยตลอด

"ผมเห็นว่า คุณวิโรจน์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่อยากขอแนะนำว่า การประกาศนโยบายอะไรควรต้องศึกษาสิ่งเหล่านั้นให้ตกผลึกก่อน ต้องรู้ลึก รู้จริง โดยเฉพาะ ‘สนามหลวง’ สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะหากจะแก้ปัญหาให้คนกรุงได้เราจำเป็นต้องรู้ดีในเรื่องนั้น อย่าให้ใครมาว่าได้ว่า ยังไม่รู้จักกรุงเทพฯดีพอแล้วจะมาอาสาแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯได้อย่างไร หรือ จริงๆแล้วการออกมาจุดประเด็นเหล่านี้ มีหวังผลอะไรแอบแฝง ที่ทำให้คนไทยไม่สบายใจหรือไม่ ซึ่งผมในฐานะอดีตรองผู้ว่าฯกทม. และ นักการเมืองรุ่นพี่ ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นเลย หยุดเล่นการเมืองหมิ่นเหม่ และ ชูนโยบายสร้างสรรค์เพื่อคนกรุงเทพเถอะครับ” นายพนิต ระบุ