“เสียงข้างมาก” สร้าง “กติกา” “ผู้ชนะ” กำหนด “วิธีเล่น"

“เสียงข้างมาก” สร้าง “กติกา” “ผู้ชนะ” กำหนด “วิธีเล่น"

แม้ กฎหมายที่ใช้เป็นกติกา เลือกตั้ง รอบหน้า จะยังไม่แล้วเสร็จ และมีหลายประเด็นต้องใช้ มติข้างมาก ตัดสิน แต่ "นักการเมือง" ไม่รอแล้ว เพราะเห็นชัดจน นวัตกรรมพรรคใหญ่" ใช้ "ครอบครัวเพื่อไทย" สร้างฐานและหาคะแนนการเมือง แบบไร้ข้อจำกัดแล้ว

          แม้ โควิด-19 เป็นเหตุให้ “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ" งดประชุมสัปดาห์นี้ แต่ “กมธ.” ทั้งฟากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และส.ว. ไม่ห่วงว่าจะมีผลกระทบ ทำให้ การทำงานต้องสะดุด

 

          เพราะตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขีดเส้นให้ ร่างพ.ร.ป. ต้องแล้วเเสร็จ ภายใน 180วัน นับจากวันที่รัฐสภาลงมติรับหลักการ คือ 24 - 25 กุมภาพันธ์  ดังนั้น กมธ. มีเวลาทำงาน ไปจนถึงเดือนสิงหาคม


          ขณะเดียวกัน ตัวเนื้อหาของ ร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... และ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... มีสาระที่แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564  อีกทั้งประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง เห็นต่างกันมีไม่มาก โดยส่วนใหญ่มีบทสรุปในทิศทางที่เป็นข้อตกลงกันแน่ชัดแล้ว

 

          เหลืออย่างเดียว คือ การลงมติเพื่อชี้ขาด

“เสียงข้างมาก” สร้าง “กติกา” “ผู้ชนะ” กำหนด “วิธีเล่น\"

          หากการประชุมกมธ. สัปดาห์นี้ ไม่งดประชุม จะมี 2 ประเด็นที่ กมธ. ต้องใช้เสียงข้างมากตัดสิน

 

          คือ 1. การใช้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ที่เสนอให้ใช้ หมายเลขเดียวทั้งประเทศ และ หมายเลขแยกกันตามการสมัครแบบเขต กับ แบบบัญชีรายชื่อ หรือ พรรคการเมือง

          ตามร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ฉบับที่เป็นหลักในการพิจารณา กำหนดให้ ใช้หมายเลขแยกกัน แต่ กมธ.จากพรรคการเมืองใหญ่ กลับเห็นว่าควรใช้หมายเลขเดียวกัน

 

          ล่าสุดนั้น กมธ. ที่มีท่าทีชัดเจนจากการแสดงความเห็นต่อที่ประชุมกมธ. ว่าสนับสนุนเบอร์เดียวทั้งเขตและพรรค  คือ กมธ. จากพรรคเพื่อไทย, กมธ.จากพรรคก้าวไกล, กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์  รวมเสียง 14 คน  และมีความเป็นไปได้ว่าหากลงมติจะมีบวกเเพิ่มอีก 7 เสียง  จาก กมธ.กลุ่มพรรคเล็ก และภูมิใจไทย

“เสียงข้างมาก” สร้าง “กติกา” “ผู้ชนะ” กำหนด “วิธีเล่น\"

          ฟาก ส.ว. ที่เป็นกมธ. ทั้ง 14 คน นั้น ท่าที จากคำบอกเล่าของ “สมชาย แสวงการ” ระบุว่า ส่วนใหญ่จะยึดตามเนื้อหาฉบับของ “คณะรัฐมนตรี" (ครม.)  เสนอ

 

          ไม่ใช่ด้วย ส.ว. ชุดนี้มาจาก “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล” แต่เพราะบทบาท "สภากลั่นกรอง" 

 

         พร้อมให้ความเห็นว่า  ความพยายามให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ ไม่ใช่ป้องกันความสับสนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เพื่อให้ “นักการเมือง” ใช้สร้างความได้เปรียบในการโฆษณาหาเสียง เหมือนการเลือกตั้ง เมื่อปี2554  เคยมีสโลแกนหาเสียง ว่า “รับเงินหมา กาเบอร์1”  ทำให้ ผู้สมัครแบบเขตจากพรรคเบอร์ 1 ได้รับเลือก ทั้งที่ไม่ลงทำพื้นที่ แต่กลับอาศัยคะแนนพรรคการเมืองเป็นแต้มต่อ ทำให้ชนะการเลือกตั้ง 

         อีกทั้งมองว่า เมื่อแก้ระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้ว ควรแยกเบอร์ผู้สมัครเป็นคนละเบอร์  เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เรียนรู้วิธีการเลือกตั้ง แทนการดูถูกประชาชน ว่า ไม่สามารถแยกเบอร์ผู้สมัครส.ส.เขต กับ เบอร์พรรคการเมือง ได้

 

         กับการประเมิน ผลการออกเสียงใน กมธ. “สมชาย” ประเมินว่า อาจสูสี หรือ เบียดชนะกันแต้มเดียว เหมือนครั้งที่ กมธ. ลงมติเลือก ประธานกรรมาธิการฯ  หรือ อาจถึงขั้นที่ ประธานกมธ.ฯ “สาธิต ปิตุเตชะ” ออกเสียงชี้ขาด

 

         และ 2. การลดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ “ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค”  ใน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ “อนันต์ ผลอำนวย” ส.ส.กำแพงเพชร พรรรคพลังประชารัฐ เสนอ

 

         ประเด็นนี้ ดูท่าจะสู้กันใน 2 ฝั่ง คือ "ส.ว." กับ “ส.ส.” โดย “ส.ส.” ซีก “พลังประชารัฐ” ผสมโรงกับฝ่ายค้านบางส่วน มีแนวโน้มเห็นด้วย เพราะต้องการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในพรรคการเมือง

 

         ทว่า "ส.ว." ยังมองต่างมุม โดยเฉพาะลดคุณสมบัติ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค เพื่อให้สิทธิ “ส.ว.”  และสมาชิกภาพสิ้นสุดไม่เกิน 2 ปี สามารถร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เนื่องจากกังวลว่าหากลงมติประเด็นดังกล่าว แล้วอาจถูกแปลความว่า "แก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ตัวเอง”

 

         รวมถึงการลดหย่อนลักษณะต้องห้าม บางประการ เช่น เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, ถูกระงับใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง,เคยยรับโทษจำคุก โดยพ้นโทาไม่ถึง 10 ปี, ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลถึงที่สุด คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริต, คดีฉ้อโกงประชาชน, คดียาเสพติด, คดีพนัน, คดีค้ามนุษย์, คดีฟอกเงิน

 

         อาจเปิดช่องให้ “คนคิดไม่ซื่อ” ใช้ ช่องการเมือง แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบได้ 

 

         อีกทั้งผู้ร่วมก่อตั้งพรรค นัยหนึ่ง คือ คนที่จะทำหน้าที่หัวหน้าพรรค , กรรมการบริหารพรรค หรือ คนคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ดังนั้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสำคัญบางประการควรคงไว้ เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปราบโกง ไว้

 

         แนวโน้มประเด็นนี้อาจยอมให้แก้ไข ได้บางส่วน เช่น อายุผู้ร่วมก่อตั้งพรรค จากที่กำหนด ไว้ อายุ20ปี เป็น 18 ปี , คุณสมบัติผู้ร่วมก่อตั้งพรรคบางส่วน

 

         นอกจากนั้นมีประเด็นต้องจับตา อื่นๆ ทั้งสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ลดค่าสมัครสมาชิกพรรค หรือไม่เก็บค่าสมาชิกพรรค, วิธีทำไพรมารี่โหวต

 

         แต่ไม่ว่าท้ายสุดกติกาที่ใช้ในการเลือกตั้ง  จะถูกเสียงข้างมากในกมธ.ฯโหวตให้ไปทางใด หรือ ออกแบบใหม่ เพื่อเอื้อให้ "ผู้มีอำนาจ” ในปัจจุบัน มีความได้เปรียบมากเพียงใด 

“เสียงข้างมาก” สร้าง “กติกา” “ผู้ชนะ” กำหนด “วิธีเล่น\"

         แต่นักการเมือง ที่ได้ชื่อว่า เขี้ยวลากดิน ย่อมหาช่อง เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเอง เห็นได้จาก นวัตกรรม “หัวหน้าครอบครัว” และ “การสมัครสมาชิกครอบครัว” ของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ใช้แทคติก สมัครเป็นสมาชิกครอบครัว ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมไม่มีเงื่อนไข คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ปิดกั้น

 

         และใช้ช่องว่าง​ของกติกา หาฐานสมาชิก สร้างความได้เปรียบทางการเมือง ออกนำไปแล้วหลายช่วงตัว.