ชิงเหลี่ยม "2 กฎหมายลูก" สู้แลนด์สไลด์-หนีตายบัตร2ใบ

ชิงเหลี่ยม "2 กฎหมายลูก"   สู้แลนด์สไลด์-หนีตายบัตร2ใบ

"กลเกมกมธ." และความพยายามดันสูตรการได้มาซึ่งจำนวนส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองยามนี้ถือเป็นจังหวะที่ต้องจับตาเพราะนั่นอาจส่งผลไปถึงคณิตศาสตร์การเมืองหลังจากนี้

ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า หากไม่มีอุบัติเหตุชนิดที่เหนือความคาดหมาย หรือกติกาสำคัญอย่าง “รัฐธรรมนูญ” ไม่ถูกฉีกทิ้งไปเสียก่อน ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เราจะมีการกลับไปใช้ “บัตร 2 ใบ” 

เช่นนี้ จึงต้องจับตาต่อไปที่ “กติกาเลือกตั้ง” 2 ฉบับ ทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลืือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะต้องออกแบบเพื่อสอดรับกับกติกาบัตร 2 ใบ ซึ่งยามนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.) 

จึงไม่แปลก ที่จะเกิดภาพของการ “ชิงไหวชิงพริบ” ภายใน กมธ. ไล่เรียงมาตั้งแต่ ศึกชิงประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลวางเกมฮั้วฝ่ายค้าน ดัน “รมต.ตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งประธานกมธ.ปาดหน้า “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แบบฉิวเฉียด

จนมีการจับตาไปที่ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล แม้แต่“ศรีธนญชัย” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯเองยังบอกว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีการพูดคุยในรัฐบาลมาก่อน

หรือแม้แต่การ “ดันสูตร” ต่างๆ ซึ่งยามนี้ที่ยังคงปรากฎภาพหักเหลี่ยมเฉือนคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็น “บัตรเลือกตั้ง” 

ซึ่งพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่า ควรจะต้องเป็นบัตร “เบอร์เดียวทั่วประเทศ” เลือกตั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ 

ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันว่า เป็นระบบที่เข้าใจง่ายชัดเจน จดจำง่าย เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน

โดยเฉพาะเพื่อไทยที่หวังผลไปถึงคะแนนแบบแลนด์สไลด์ จากกติกาบัตร 2 ใบ จำต้องอาศัยกระแสพรรคเป็นตัวหนุนคะแนนให้กับตัวผู้สมัครอีกทางหนึ่ง

ต่างจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเล็กบางพรรค ที่เห็นว่าควรกำหนดให้ผู้สมัคร และพรรคเป็นคนละหมายเลข เพราะเชื่อในวิจารณญาณของประชาชน เชื่อว่าประชาชนมีความสามารถเลือกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.ที่ตัวเองชื่นชอบ

ไม่ต่างจากสูตรคำนวณ ส.ส.ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ด้วยกติกาเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น อาจส่งผลให้บางพรรคเสี่ยงสูงที่จะเสียที่นั่งไปเกินครึ่ง หรือบางพรรคโดยเฉพาะพรรคเล็กที่อยู่ใน “กลุ่มเสี่ยงสูง” ที่จะสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ยามนี้จึงได้เห็นความพยายามในการดันสูตรหารเฉลี่ย ด้วยจำนวนเต็มส.ส. 500 คนโดยใช้การคำนวณแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” หรือ MMP เพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค 

ทว่า กลเกมพรรคใหญ่ รวมถึงพรรคขนาดกลางบางพรรค ยามนี้พยายามหยิบยกเหตุผลประเด็นความขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุชัดเจนว่า 

“การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมืองให้นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งของพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนรวมข้างต้น” นำมาเป็นประเด็นหักล้าง

ด้วย“กลเกมชิงไหวชิงพริบ” ที่เกิดขึ้นภายใน กมธ.ยามนี้ โดยเฉพาะ 2 ประเด็นไฮไลท์จึงเป็นสัญญาณต้องจับตา ยังไม่นับรวมกับความพยายามในการกลับไปใช้บัตรใบเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอผ่านวง ครม. หรือกลเกมในการยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อสกัดกติกาบัตร 2 ใบ

ทั้งหมดทั้งมวลจึงต้องจับตา"กลเกมกมธ." และความพยายามดันสูตรการได้มาซึ่งจำนวนส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองที่อาจส่งผลไปถึง "สูตรคณิตศาสตร์" การเมือง

ยิ่งเริ่มมีสัญญาณยุบสภาดังขึ้นไม่หยุดหย่อนจังหวะก้าวย่างหลังจากนี้จึงต้องจับตา