รอง ปธ.ศาล ปค.สูงสุดเผยรื้อ “คดีโฮปเวลล์” เข้าเงื่อนไข-ยกเคส ตปท.ทำได้

รอง ปธ.ศาล ปค.สูงสุดเผยรื้อ “คดีโฮปเวลล์” เข้าเงื่อนไข-ยกเคส ตปท.ทำได้

รอง ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ออกโรงแจงละเอียด! ปมมติที่ประชุมใหญ่ฯรับรื้อคดี “โฮปเวลล์” ยึดคำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” เข้าเงื่อนไขมีข้อกฎหมายใหม่ กลับไปเริ่มที่ศาลชั้นต้น ยกกรณีต่างประเทศทำได้ ชี้คำพิพากษาไม่ได้ออกกฎหมายแก้ไข

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ที่ศาลปกครอง ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ในงานกิจกรรมศาลปกครองครบรอบ 21 ปี นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวชี้แจงขั้นตอนการพิจารณา “คดีโฮปเวลล์” ใหม่ ว่า หลังศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่มีมติให้รับรื้อคดีใหม่นั้น คดีต้องไปเริ่มที่ศาลปกครองชั้นต้น โดยต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริง คดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาท ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ฯ โดยตรง แต่เป็นกรณีพิพาทว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม จ่ายค่าเสียหายถูกต้องหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลต้องลงไปดูรายละเอียดในข้อพิพาท ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ฯ ประกอบกับมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดี ทำให้การพิจารณาคดีมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นการพิจารณาคดีคาดว่าไม่นาน

ส่วนกรณีกระทรวงคมนาคมเตรียมขอยื่นให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการจ่ายเงินตามคำพิพากษานั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององคณะเจ้าของสำนวน แต่โดยระเบียบการบังคับคดีของศาลปกครองข้อที่ 131 เมื่อมีการรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ สามารถงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมได้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เรื่องการรับพิจารณาคดีใหม่ไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องทำอย่างพิเศษมาก ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่าย ๆ อย่างที่มีการเรียกร้องกัน หรือที่มีการพูดกันว่ายื่นมาไม่รู้กี่ครั้ง ศาลก็ไม่รับเสียที่ กฎหมายจึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาคดีใหม่อย่างเคร่งครัด โดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา75 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 4 ข้อ คือ

  1. มีข้อเท็จจริงใหม่ 
  2. คู่กรณีแท้จริงไม่ได้เข้ามาในคดี หรือเข้ามาแล้วไม่ได้รับความยุติธรรม 
  3. มีข้อบกพร่องสำคัญในชั้นพิจารณา 
  4. มีข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายเปลี่ยนไปในสาระสำคัญ อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป 

โดยคดีโฮปเวลล์ อยู่ในข้อ 4 นี้ ข้อเท็จจริงไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นข้อกฎหมายที่เปลี่ยนจากวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดี
 

“การพิจารณาคดีใหม่ ในกรณีทั่ว ๆ ไปเขามักจะไม่ทำกัน เมื่อมีคำพิพากษาออกไปจะผิดจะถูกก็ต้องปฏิบัติตาม วิธีการที่ในต่างประเทศที่เขาจะทำกัน ในกรณีที่รับไม่ได้กับผลของคำพิพากษาจริงๆ เขาจะต้องไปออกกฎหมายแก้ไขหรือลบล้างคำพิพากษา ถ้าเป็นคดีอาญาต้องไปออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งในไทยมักจะกล่าวหาว่าอย่างนี้เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการซึ่งไม่ใช่นะครับ เป็นระบบปกติเพราะว่าศาลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในระบบทั่วไปถ้าสมมติว่าคำพิพากษามีข้อผิดพลาดจะต้องไปแก้ในกระบวนการนิติบัญญัติ ต้องออกกฎหมายมานิรโทษกรรมก็ดี มาแก้ไขผลคำพิพากษาก็ดี ไม่ใช่เป็นการไม่เคารพคำพิพากษาของศาล แต่เป็นการใช้อีกกระบวนการหนึ่งเพื่อบรรเทาผลของคำพิพากษา ในกระบวนการปกครองของเรามีอีกวิธีการหนึ่งคือเรื่องของการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำง่ายๆตามที่เรียกร้องกัน ตามกฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการที่จะพิจารณาคดีใหม่ไว้อย่างเคร่งครัดมาก”  นายวิษณุ กล่าว