นายกฯ พอใจ "ยางพารา" ปี'65 แนวโน้มราคาสูงขึ้น คาดส่งออกทั่วโลก 4.218 ล้านตัน

นายกฯ พอใจ "ยางพารา" ปี'65 แนวโน้มราคาสูงขึ้น คาดส่งออกทั่วโลก 4.218 ล้านตัน

นายกฯ พอใจ "ยางพารา" ปี 2565 แนวโน้มราคาสูงขึ้น คาดไทยส่งออกยางพาราทั่วโลกกว่า 4.218 ล้านตัน ย้ำภาคการเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ เดินหน้ากำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเกษตรยั่งยืน

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระตุ้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามการดำเนินงานตามโครงการของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ดูแลประชาชนทุกสาขาอาชีพอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการขับเคลื่อนพืชเกษตรและเศรษฐกิจภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน อาทิ  ยางพาราไทย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทย ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก "ยางพารา" อันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 38.65  คิดเป็นการส่งออกยางพาราประมาณ 3.7 ล้านตันต่อปี ตลอดจน ในปี 2565 คาดการณ์ไทยส่งออกยางพาราไปทั่วโลกกว่า 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.03 จากปีก่อนที่ส่งออก 4.134 ล้านตัน

สืบเนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้ "ยางพารา" ของโลกมีมากขึ้นและตัวเลขดัชนีภาคการผลิตสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกภายหลังสถานการณ์โควิด – 19 จะส่งผลสถานณ์ยางพาราเป็นไปในทิศทางที่ได้ดีขึ้น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายธนกร กล่าวว่า การที่ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นนี้ ทำให้โครงการ "ประกันราคายางพารา" ของรัฐบาลมีความสามารถจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างให้ประชาชนลดลง แม้ว่าจากการศึกษาพบว่าเกษตรกรสวนยางมีความพอใจในโครงการนี้

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้กำกับ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินโครงการควบคู่กับโครงการประกันราคา เพื่อแก้ไขปัญหา ผลกระทบที่ส่งถึงประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ และเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากยางพารามีผลผลิตตลอดทั้งปี เมื่อผลผลิตออกเยอะจะมีผลถึงราคายาง อาทิ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด คือการสนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน ควบคู่กับการวางแผนการขาย การให้เงินอุดหนุนกับเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อเสริมสภาพคล่อง การบริหารจัดการปริมาณผลผลิตและปริมาณการใช้งานให้พอดีกัน สินเชื่อสนับสนุนชาวสวนยางเพื่อขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยดำเนินแผนงานและวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมยางพารา เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับยางพารา พัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงวางแผนการขายและจำหน่าย ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับยางอย่างมาก
 

นายธนกร กล่าวต่อว่า ขอให้มั่นใจว่า ภาคการเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ อาทิ ยางพาราซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย

พร้อมเดินหน้าผลักดันเกษตรกรไทยให้เข้าถึงองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้ง ส่งเสริมกลยุทธ์การขายแบบใหม่ๆ ที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ในแบบ New Normal ตลอดจน ส่งเสริมให้ คนรุ่นใหม่ให้เท่าทันต่อยุคดิจิทัล ศึกษาการผลิตที่สอดรับกับรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของนายกรัฐมนตรีมาตลอด ในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมทุกด้าน มุ่งทำงานแก้ไขปัญหาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง