"กกต." โทษ"ระบบเลือกตั้ง" ตามรธน.60 ต้นตอปัญหากระบวนการจัดเลือกตั้ง

"กกต." โทษ"ระบบเลือกตั้ง" ตามรธน.60 ต้นตอปัญหากระบวนการจัดเลือกตั้ง

กกต. รายงานผลทำงานปี2562 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ชี้ ระบบเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต้นตอปัญหาของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง-ประชาชนไม่เชื่อมั่น กกต. ด้าน "ส.ว." ตะเพิด แก้ทุจริตเลือกตั้งไม่ได้ให้ลาออก

 

            ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. รักษาการเลขา กกต. นำเสนอรายงานดังกล่าว ที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงถึงการจัดการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป ปี2562 และ การเลือกตั้งส.ว. เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

            สำหรับรายงานของกกต.ต่อการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป 24 มีนาคม  2562 ได้อ้างถึงผลศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการ ระบุว่า การจัดเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบบเลือกตั้งสร้างปัญหาให้กับงานธุรการตามกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เช่น ปัญหาด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติงาน รวมถึงสร้างปัญหาบุคลากร เช่น กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง, กรรมการประจำเขตเลือกตั้ง ไม่เพียงพอต่อการจัดการเลือกตั้ง

 

            ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ตรวจสอบการเลือกตั้ง ไม่สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งได้จริง และไม่สามารถได้ผู้ตรวจเลือกตั้งที่เป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองได้จริง ขณะที่การยกเลิก กกต.ประจำจังหวัด ทำให้กระบวนจัดเลือกตั้งกับหน่วยงานราชการอื่นในจังหวัดยุ่งยาก อีกทั้งองค์จัดการเลือกตั้งทำงานหนักขึ้น เพราะระบบเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่าระบบเดิมถึง 4 เท่า


 

            “ต้นตอของปัญหาเกี่ยวกับกระบวนจัดการเลือกตั้งปี62 เกิดจากระบบเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ โดยระบบเลือกตั้งเป็นปัจจัยทำให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น แต่ไม่มีการคัดคุณภาพให้ดีพอ รวมถึงเรื่องสูตรคำนวณที่อาจตีความได้หลายแนว เมื่อระบบเลือกตั้งมีปัญหา ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนอย่างสมบูรณ์ การส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยใช้ระบบเลือกตั้งนี้ย่อมไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้” รายงานกกต. ระบุ

 

            มาตรการของ กกต. ที่กำหนดโดยมีเจตนาเพื่อให้มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมาก แต่มีปัญหากับความเชื่อมั่นของประชาชน เช่น การขยายเวลาเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงในขั้นตอนนับคะแนน, กระบวนการจัดการเลือกตั้งทำงานเสร็จช้ามีผลต่อความถูกต้องกับการทำรายงาน ทั้งนี้การขยายเวลาออกเสียงเลือกตั้งไม่มีผลให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น และพบว่าเป็นอุปสรรคกับพรรคการเมือง หาเสียงยาก และสร้างความสับสน

 

            “ผลการวิจัยพบว่าการรายงานการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการมีข้อผิดพลาด จนกระทบความเชื่อมั่นกับ กกต. เช่นเดียวกับการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่พบอุปสรรคมาก เช่น กำหนดพื้นที่เลือกตั้งล่วงหน้าโดยไม่ทราบตัวเลขผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จึงมีข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดเท่านั้น” รายงานของ กกต.​ระบุ

            ส่วนพฤติกรรมเลือกตั้งของประชาชน ต่อบัตรเลือกตั้งใบเดียว พบว่าตัดสินใจลงคะแนนโดยพิจารณาจากนโยบายพรรค ยกเว้นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตัดสินใจกาคะแนนเพราะบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นพบว่าการเลือกตั้งมีปัญหาการซื้อเสียง แม้ว่าการซื้อเสียงจะไม่ได้ผลมากเหมือนในอดีต

 

 

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของส.ว. นั้นส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นต่อการได้มาของวุฒิสมาชิก ที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และในบทเฉพาะกาล ให้ คสช. คัดสรรเพื่อดำรงตำแหน่งในขั้นตอนสุดท้าย ว่า ส.ว. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2567 และส.ว.ชุดใหม่ 200 คน ต้องมาจากการเลือกตั้งแบบกลุ่ม 20 กลุ่มผ่านระดับอำเภอ, ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทั้งนี้พบปัญหาคือการเลือกตั้งระบบอำเภอที่บางพื้นที่มีผู้สมัครไม่ครบ หรือมีผู้สมัครน้อย ทำให้เกิดกรณีล็อบบี้กันเองของผู้สมัครเป็นส.ว. และมีฝ่ายการเมืองสนับสนุน ดังนั้นกกต.​ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและแก้ปัญหา 

 

 

            ทั้งนี้ตอนหนึ่งของการอภิปรายของส.ว. พบว่า นายเฉลา พวงมาลัย ส.ว. อภิปรายว่า กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องหาทางแก้ไข  หากหาทางแก้ไขไม่ได้ ขอให้กกต.ลาออกไป และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแทน เพราะทำไว้ดีมาก นอกจากนั้นหากสิ่งที่ทำไม่ได้ เสนอให้ซื้อเสียงระดับประเทศเพื่อให้หมดเป็นรายๆ ไป เพื่อเหลือคนดีๆ ที่มาโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

\"กกต.\" โทษ\"ระบบเลือกตั้ง\" ตามรธน.60 ต้นตอปัญหากระบวนการจัดเลือกตั้ง