"ชัยวุฒิ" ขอบคุณ "กัมพูชา" ร่วมทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งคนร้ายให้ "ไทย"

"ชัยวุฒิ" ขอบคุณ "กัมพูชา" ร่วมทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งคนร้ายให้ "ไทย"

"ชัยวุฒิ" ขอบคุณ ทางการ "กัมพูชา" ร่วมมือทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก่อนส่งตัวคนร้ายให้ไทย ดำเนินคดี เผย "นายกฯ" ให้ความสำคัญ จ่อเซ็น "เอ็มโอยู" สร้างระบบปิดกั้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยร่วมกับทางการกัมพูชาบุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชา ว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชาและส่งตัวคนร้ายมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดยการประสานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองฝ่าย และหลังจากนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้มอบหมายให้ตนประสานความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งจะมีเอ็มโอยูร่วมกันเพื่อสร้างระบบปิดกั้นและทลายกระบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชาให้ได้ต่อไป

เมื่อถามว่า จะมีการลงนามเอ็มโอยูเมื่อใด นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพูดคุยและร่างเอ็มโอยู ปัจจุบันแม้จะไม่มีเอ็มโอยู กัมพูชาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เราก็ต้องขอกราบขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยดูแลปกป้องพี่น้องคนไทย ไม่ให้มีกระบวนการเข้ามาหลอกลวงประชาชน

เมื่อถามว่า ตอนนี้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาอาละวาดทุกวัน และประชาชนยังหลงเชื่ออยู่หน่วยงานรัฐจะดำเนินการอย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดีอีเอส ได้ตั้งคณะทำงานและติดตามเรื่องนี้อยู่ แต่ช่องทางการสื่อสารมีหลายช่องทาง เมื่อเราปิดกั้น เขาก็เปิดช่องทางใหม่ เพราะระบบการสื่อสารในประเทศไทยเป็นระบบเปิด เราไม่สามารถปิดกั้นประชาชนไม่ให้ติดต่อสื่อสารกันได้ โดยเราจะมีการตรวจสอบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาจากจุดไหน และจะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาให้เข้าไปจับกุม เพราะเราไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกลุ่มเองได้ 

เมื่อถามว่า ในอนาคตจะมีระบบบล็อคเบอร์คอลเซ็นเตอร์ได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กำลังศึกษาอยู่พยามปิดกันอยู่ แต่ระบบการสื่อสารเมืองไทยเป็นระบบเปิดเว็บ โซเชียลมีเดีย เราปิดก็สามารถเปิดใหม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องทลายกระบวนการเหล่านี้รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนเป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ ซึ่งได้คุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ให้มีการแจ้งเตือนก่อนโอนเงินในแอพพลิเคชั่นโมบายแบงค์กิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง โดยก่อนโอนเงินทุกครั้ง จะให้มีการแจ้งเตือนข้อความกับประชาชนว่า ถ้ามีคนโทรมาหลอก หรือมีการอ้างว่าท่านกระทำความผิดให้ส่งเงินไป ขอให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการหลอกลวงต้มตุ๋นซึ่งต้องเตือนประชาชน