พลิกแฟ้มเหตุการณ์ เทียบม็อบ “แดง-กปปส.” สูญเสียเท่าไหร่-ใช้งบแค่ไหน?

พลิกแฟ้มเหตุการณ์ เทียบม็อบ “แดง-กปปส.” สูญเสียเท่าไหร่-ใช้งบแค่ไหน?

พลิกแฟ้มเหตุการณ์ 2 ม็อบ “คนเสื้อแดง-กปปส.” สูญเสียกันไปกี่ชีวิต รัฐใช้งบประมาณมากแค่ไหนในการ “กำราบ-ปราบปราม” ก่อน “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” เปิดประเด็นใหม่ ขยายรอยร้าวขบวนการประชาธิปไตย

กลายเป็นเรื่องที่ถูกขุดมาพูดถึงกันอีกครั้ง

พลันที่ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” นักวิชาการชื่อดัง อดีตอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ระหว่างปี 2556-2557 ว่า สาเหตุหลักที่มีผู้ชุมนุม กปปส. เสียชีวิต มาจากการกระทำของ “คนเสื้อแดง” บางกลุ่ม

นอกจากนี้อาจารย์ที่ถูกเรียกว่า “สมศักดิ์ เจียมฯ” ยังอ้างข้อมูลว่า การเสียชีวิตของมวลชน กปปส. ที่แท้จริงอาจมากกว่ามวลชน “คนเสื้อแดง” ที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 หรือ “พฤษภาเลือด” ด้วย

ประเด็นนี้ถูกขยายผลออกมาหลายฝ่าย มีการขุดข้อมูล คลิป-บทสนทนาลับออกมาจำนวนมาก ทั้งฝ่าย “แก้ต่าง” และฝ่าย “เห็นด้วย” จนลุกลามบานปลายสั่นคลอนรอยร้าวที่มีมานานแล้วในขบวนการที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อใกล้เลือกตั้งครั้งหน้า

บางคนเคลมว่า “สมศักดิ์ เจียมฯ” เป็นแฟนคลับแบบลับ ๆ ของ “ค่ายสีส้ม” จึงออกมาให้ข้อมูลในลักษณะดิสเครดิต “ค่ายสีแดง” บางฝ่ายท้วงกลับว่า การรับข้อมูลจริงแบบแฟร์ ๆ เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะเลือกได้ในระบอบประชาธิปไตย

ไม่ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นอย่างไร แต่ข้อมูล “ทางการ” ที่มีการรวบรวมไว้ พบว่า ระหว่างเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ในปี 2553 มี 2 แหล่งข้อมูลที่มักถูกนำมาอ้างอิงกันจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

  1. รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถูกแต่งตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน สรุปผลว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 จำนวน 92 ราย บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 1,500 ราย
  2. รายงานจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ซึ่งจัดทำโดยภาคประชาชน สรุปผลว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 94 ราย 

ขณะที่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ไม่มีรายงานอย่าง “เป็นทางการ” จากรัฐ แต่มีการรวบรวมไว้จากสื่อหลายสำนัก โดยเว็บไซต์ประชาไท เขียนโดย บ.จ.ชาติเสรี ระบุว่า ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. ระหว่างปลายปี 2556-กลางปี 2557 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 ราย บาดเจ็บ 747 ราย

มาดูในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการ “กำราบ-ปราบปราม” ผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายกันบ้าง

เมื่อปี 2556 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบกระทู้ถาม ส.ส.เพื่อไทย กรณีการใช้งบประมาณปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม “คนเสื้อแดง” ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. 2553 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,932,764,418 บาท หรือเฉียด 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น

  • กองทัพบก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,069,565,226 บาท
  • กองทัพเรือ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 76,311,840 บาท
  • กองทัพอากาศ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18,731,513 บาท
  • ตำรวจ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 768,155,839 บาท

ส่วนงบประมาณที่ใช้กับม็อบ กปปส. ข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2556 (อนุมัติก่อน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556) ระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณจากงบกลาง วงเงิน 815,184,720 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบเรียบร้อยจากการชุมนุม ระหว่างวันที่ 9 ต.ค.-30 พ.ย. 2556 (ช่วงแรกของการชุมนุม กปปส.) แบ่งเป็น

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 776,849,720 บาท
  • กองทัพบก 10,115,000 บาท
  • กองทัพเรือ 1,734,000 บาท
  • กองทัพอากาศ จำนวน 1,734,000 บาท
  • กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จำนวน 17,762,000 บาท
  • กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 6,990,000 บาท

อย่างไรก็ดีภายหลัง “ยิ่งลักษณ์” ลาออกจากเก้าอี้นายกฯ ทำให้ต้องมี ครม.รักษาการชั่วคราวก่อนจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยในช่วงเวลานั้น ครม.รักษาการ ขออนุมัติงบประมาณ 2,309 ล้านบาท เพื่อขอเป็นค่าใช้จ่ายให้กับศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลความสงบช่วงการชุมนุมของ กปปส. มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ (ขณะนั้น) เป็น ผอ.ศรส.

อย่างไรก็ดีตามกฎหมายหากเป็นช่วง ครม.รักษาการ การขออนุมัติงบประมาณระดับพันล้านบาทจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียก่อน ทว่า กกต.ในช่วงเวลานั้นมิได้อนุมัติให้ ครม.ใช้งบดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งหมดคือข้อมูลเท่าที่มีการเผยแพร่ทางสาธารณะในการชุมนุมของ “ม็อบ 2 ขั้ว” ทั้ง “แดง” และ “กปปส.” เท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ส่วนข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ “สมศักดิ์ เจียมฯ” เปิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ มีวัตถุประสงค์ “เบื้องหลัง” อะไรแอบแฝง และเป็นไปตามที่ระบุไว้จริงหรือไม่ ต้องติดตามสืบค้นกันต่อ