รหัส 91 ล้มประยุทธ์ สูตรพลิกขั้วตั้งรัฐบาล

รหัส 91 ล้มประยุทธ์ สูตรพลิกขั้วตั้งรัฐบาล

มีสูตรการนำ 91 เสียง ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจไทย 18 เสียง พรรคเล็ก 14 เสียง พรรคภูมิใจไทย 59 เสียง ไปจับมือกับ “พรรคเพื่อไทย” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า “ผู้มีบารมีนอกพรรคภูมิใจไท” เปิดดีลกับ “คนแดนไกล” เรียบร้อยแล้ว

การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ยิ่งอยู่ในช่วงเทอมสุดท้ายของรัฐบาล การต่อรองของ “พรรคร่วมรัฐบาล” การต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) การต่อรองพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นพรรคสาขาของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพื่อกดดันตรงไปยัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ให้สยบยอมตามเงื่อนไขที่เสนอ

แม้ “พรรคร่วมรัฐบาล” โชว์ภาพความเหนียวแน่นไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แม้ “ประวิตร” จะยกมือไหว้ให้ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมประชุมสภาฯ แม้ “ประวิตร” จะยืนยันว่าพรรคเศรษฐกิจไทยจะเข้าร่วมรัฐบาล แต่ปรากฏการณ์ “สภาฯล่ม” ที่เกิดขึ้นบ่อย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “พรรคร่วมรัฐบาล - ประวิตร” ไม่ได้จริงใจแก้ปัญหา

จนทำให้รัฐบาลเกิดความอ่อนแอ เต็มไปด้วยความอ่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงต่อการยุบสภาฯ ดังนี้ 1.การบริหารราชการทั่วไป 2.สภาล่มบ่อย 3.พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีเสถียรภาพ มีเสียงในสภาน้อย และมี ส.ส. หลายกลุ่ม 4.เสียงสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐแตกคอ 5.พรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ และคาดว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติในเดือน พ.ค. นี้ 6.พรรคภูมิใจไทย จำนวน 59 เสียง ไม่สังฆกรรมกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยสารพัดปัญหาที่โถมเข้าใส่รัฐบาล ทำให้ตัวของ “ประยุทธ์” ไม่อาจไว้วางใจพรรคร่วมรัฐบาลได้ และไม่อาจจะไว้ใจ “ประวิตร” ให้เคลื่อนเกมการเมืองเพียงลำพังได้อีกต่อไป หาก “ประยุทธ์” ต้องการอยู่ต่อ-ไปต่อ จำเป็นต้องลงมาขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยตัวเอง

จึงเห็นภาพของ “ประยุทธ์” ควง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ลงมาแถลงข่าวข้างกาย แถม “ประยุทธ์” ยังรวมงานแต่งของลูกสาว “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้งานสังคมการเมือง “ประยุทธ์” ไม่เคยปรากฏตัว

ขณะเดียวกัน “ประยุทธ์” ส่งคนใกล้ชิด-รัฐมนตรีสายตรง เข้าไปบริหารจัดการพรรคพลังประชารัฐ อาทิ “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง นั่งเลขาธิการพรรค “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน นั่งผอ.พรรค “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดีอีเอส นั่งรองหัวหน้าพรรค เพื่อกระชับอำนาจของตัวเอง

ความเคลื่อนไหวของ “ประยุทธ์” พยายามส่งสัญญาณปรับตัวเข้าหาการเมือง พยายามสื่อสารว่าตอบรับทุกกลุ่มการเมือง เพียงแค่ขอให้ช่วยกันประคับประคองสถานะของรัฐบาลให้อยู่รอดปลอดภัยจนถึงไทม์มิ่งยุบสภา ซึ่งคาดว่าใจของ “ประยุทธ์” ต้องการนั่งหัวโต๊ะจัดประชุม เอเปค ให้เสร็จสรรพก่อน หลังจากนั้นจึงนับถอยหลังยุบสภา

ทว่าเป้าประสงค์ของ “ประยุทธ์” ยังต้องเผชิญกับขวากหนามอีกมากมาย สัญญาลมปากที่ “อนุทิน” บอกว่าไม่ได้ขัดแย้งหรือผิดใจกับ “ประยุทธ์” ขณะที่ “ประวิตร” ยืนยันพรรคเศรษฐกิจไทยเข้าร่วมรัฐบาล แทบเชื่อถือไม่ได้ เกมการเมืองหลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับ จำนวน ส.ส. ในสภาฯ จะเอนเอียงไปทางขั้วใดมากกว่ากัน

โดยขณะนี้ ส.ส. ของทุกพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร มีทั้งหมด 473 เสียง (ปฏิบัติหน้าที่ 471 เนื่องจากรองกกต.รับรองอีก 2 ส.ส.) โดยแบ่งเป็น ส.ส.ขั้วรัฐบาล 265 เสียง ขั้วฝ่ายค้าน 208 เสียง แม้จำนวนเสียงยังห่างกันมาก แต่ ส.ส. ขั้วรัฐบาล ไม่มีความเป็นเอกภาพ

โดยมีตัวแปรอยู่ที่ ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 18 เสียง ส.ส. พรรคเล็ก จำนวน 14 เสียง และ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย จำนวน 59 เสียง รวมทั้งหมด 91 เสียง ซึ่งจะทำให้ “ขั้วรัฐบาล” เหลือเพียง 174 เสียง จะทำให้เสียงเหลือน้อยกว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” ที่มีอยู่ 208 เสียงทันที

รหัส 91 ล้มประยุทธ์ สูตรพลิกขั้วตั้งรัฐบาล

สำหรับ 91 เสียง จะสวิงไปอยู่ฝั่งไหน อาจจะต้องประเมินสถานการณ์กันช็อตต่อช็อต เพราะหากถอนตัวออกมากจาก “ขั้วรัฐบาล” ไม่จำเป็นต้องตัดอยู่ร่วม “ขั้วฝ่ายค้าน” ก็สามารถคว่ำ “ประยุทธ์” ลงจากหอคอยงาช้างได้แล้ว

สูตรทางเลือก-ทางรอดของเกมอำนาจจึงมีการคาดคะเนกันหลายทาง 1.พรรคร่วมรัฐบาลยังอยู่ร่วมมือร่วมแรงกัน โดยสนับสนุนให้ “ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป ก่อนจะตัดสินใจยุบสภาหลังการประชุม เอเปค

2.กดดันให้ “ประยุทธ์” ลาออกก่อนเปิดศึกซักฟอก เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่ง “ประยุทธ์” รวมถึงแคนดิเดตคนอื่นจะถูกเสนอชื่อมาให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก แต่มีโอกาสที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้

โดยนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เขียนไว้เพื่อผ่าทางตัน กรณีเกิดเดดล็อกไม่สามารถเลือก “นายกรัฐมนตรีในบัญชี” ได้ โดยให้สมาชิกรัฐสภา “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” เสียง เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อ “นายกรัฐมนตรีในบัญชี” โดยใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกรัฐสภา

3.มีสูตรการนำ 91 เสียง ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจไทย 18 เสียง พรรคเล็ก 14 เสียง พรรคภูมิใจไทย 59 เสียง ไปจับมือกับ “พรรคเพื่อไทย” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า “ผู้มีบารมีนอกพรรคภูมิใจไท” เปิดดีลกับ “คนแดนไกล” เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งวลีการเมืองไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร ยังใช้ได้ทุกยุคสมัย วันหนึ่งมีวลี “มันจบแล้วครับนาย” อีกวันอาจจะมีวลี “มาเริ่มกันใหม่ครับนาย” ก็อาจจะเป็นไปได้ อยู่ที่จะสมประโยชน์กันตรงไหนและช่วงเวลาใด

หลังจากนี้ให้จับตา รหัส 91 ที่อาจจะถูกใช้ล้ม “ประยุทธ์” เอาทหารออกจากการเมือง สลับขั้วเกมอำนาจ เพื่อเคลื่อนเกมการเมืองครั้งใหม่