“ก้าวไกล” จัดขุนพลกว่า 10 คนจัดหนักซักฟอกรัฐบาล แยกตัวทำป้องข้อสอบรั่ว

“ก้าวไกล” จัดขุนพลกว่า 10 คนจัดหนักซักฟอกรัฐบาล แยกตัวทำป้องข้อสอบรั่ว

“ธีรัจชัย” เผย “พรรคก้าวไกล” วางตัวขุนพล 10 กว่าคน จัดหนักศึกซักฟอกแบบไม่ลงมติ แยกกันประเด็นกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ป้องข้อสอบรั่ว จับไต๋รัฐบาล หากใช้กลยุทธนับองค์ประชุมทำสภาล่ม ถือว่าส่งสัญญาณแตกแยก ใกล้ถึงจุดจบ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2565 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเตรียมข้อมูลการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของพรรคก้าวไกล ว่า ขณะนี้ได้แบ่งประเด็นการอภิปรายให้ ส.ส. ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่กำลังลงรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมและการวางโครงเรื่องให้ ส.ส.แต่ละคน โดยเราได้วาง ส.ส. ที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 10 กว่าคน แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนบ้าง เบื้องต้นพรรคร่วมฝ่ายค้านจะแยกกันเตรียมประเด็น พรรคก้าวไกลก็ส่วนของพรรคก้าวไกลพรรคเพื่อไทยก็ส่วนของพรรคเพื่อไทย อาจจะอภิปรายเรื่องเดียวกันได้ แต่พยายามคาดการณ์ไม่ให้ซ้ำประเด็นกัน โดยปกติเราจะไม่บอกการเตรียมอภิปรายให้พรรคร่วมฝ่ายค้านรู้ เพราะเป็นเรื่องการเมืองที่สำคัญ จะพูดกันกันแค่เรื่องการแบ่งเวลาเท่านั้น

เมื่อถามว่า รูปแบบการอภิปรายของพรรคก้าวไกลเน้นไปที่ภาพรวม หรือตัวบุคคล นายธีรัจชัย กล่าวว่า เราจะเน้นทั้งสองอย่าง คือ การสะท้อนปัญหาของแต่ละพื้นที่ ภาพความล้มเหลว ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และการเน้นไปที่ตัวบุคคล นอกจากนี้ เราจะอภิปรายฯ บอกว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไรบ้าง และจะไม่ทำแบบที่รัฐบาลนี้ทำอยู่ ที่ล้มเหลวทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิทธิมนุษยชน

เมื่อถามว่า มีความกังวลว่า ฝ่ายพรรครัฐบาลจะเสนอนับองค์ประชุมเพื่อให้สภาล่มบ้าง และวิปรัฐบาลระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ ส.ส.ที่ไม่แสดงตนเกิน 10 ครั้ง นายธีรัจชัย กล่าวว่า การไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมคงจะไม่สามารถนำมาเป็นความผิดได้ โดยปกติพรรคฝ่ายค้านเสียงน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว กลยุทธ์เดียวที่พรรคฝ่ายค้านสามารถทำได้คือการเสนอนับองค์ประชุม เพื่อทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่ทำตามอำเภอใจแบบพวกมากลากไป พรรคฝ่ายค้านจะไม่ได้นำการเสนอนับองค์ประชุมมาใช้ในทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นประชาชนจะหาว่าสภาฯ ไม่ปกติ

เมื่อถามว่า มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดสภาล่มในวันที่ 17-18 ก.พ. 2565 ใช่หรือไม่ นายธีรัจชัย กล่าวว่า ไม่เกิดแน่นอน เพราะการอภิปรายทั่วไปนี้ ไม่มีการโหวตมติ แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลจะใช้วิธีขอนับองค์ประชุม นั่นคือความแตกแยกภายในรัฐบาลเอง ล่าสุดก็เกิดการปะทุ ไม่เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถือเป็นสัญญาณที่แตกซ้ำแตกซ้อนของพรรคหลักของรัฐบาล และเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของรัฐบาล