“ก้าวไกล” ซัดรัฐบาลยื้อร่าง กม.ฝ่ายค้าน มีผลประโยชน์นายทุนเอี่ยวหรือไม่

“ก้าวไกล” ซัดรัฐบาลยื้อร่าง กม.ฝ่ายค้าน มีผลประโยชน์นายทุนเอี่ยวหรือไม่

“พรรคก้าวไกล” ซัดรัฐบาลอ้างข้อบังคับ ยื้อร่างกฎหมายฝ่ายค้าน ส่ง ครม.อุ้มอีก 60 วัน ชี้เพราะมีผลประโยชน์นายทุนเกี่ยวข้องหรือไม่ เตือนทำไปเรื่อยอาจอยู่ไม่รอด

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 นายณัฐชา บุญชัยอินทร์สวัสดิ์ ส.ส. กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (9 ก.พ. 2565) ที่พรรคก้าวไกลได้มีการเสนอร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า, ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม, ร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ถูกรัฐบาลอ้างข้อบังคับที่ 118 ขอรับไปพิจารณาภายใน 60 วัน ทำให้ยังไม่สามารถเข้าสู่วาระรับหลักการในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรได้ 

นายณัฐชา กล่าวว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจงใจที่จะยื้อเวลา เพราะหากต้องการจะศึกษาร่างกฎหมายจริงสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอื่น และการยื้อเวลาครั้งนี้อาจมองไปได้ถึงขั้นว่า ร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกยื้อมีผลผูกพันเกี่ยวกับนายทุน การยื้อออกไป 60 วัน อาจใช้เวลาในช่วงนี้เรียกราคาจากนายทุนได้ ดังนั้นการพิจารณาครั้งนี้ที่รัฐบาลส่งกลับมาอาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลพยายามทลายทุนผูกขาด และเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรพื้นบ้านหากกฎหมายผ่านออกไปจะทำให้นายทุนเสียดุลการค้าแน่นอน  ทำให้ในช่วง 60 วันนี้ น่าจับตาว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร 

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยังใช้วิธีการนี้ไปเรื่อยๆกับกฎหมายของฝ่ายค้าน ก็ควรคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลที่ไม่ได้ดีมากนัก เพราะการประชุมสภาฯในสัปดาห์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอภินิหารการยกมือไหว้ของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่อาจจะใช้ได้เพียงสัปดาห์นี้เท่านั้น สัปดาห์หน้าต้องมาวัดกันอีกครั้ง อาจจะต้องยกมือไหว้กันอีกรอบ และรัฐบาลก็คงอยู่ได้ไม่นาน 

ส่วนนายแพทย์วาโย กล่าวว่า กฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอเข้ามาอยู่ในวาระนานเป็นชาติแล้ว บางฉบับเข้ามาตั้งแต่ปี 2563 ไม่ใช่ว่าพรรคก้าวไกลเพิ่งมาเสนอเพียงอาทิตย์สองอาทิตย์ จนทำให้รัฐบาลไม่มีเวลาเพียงพอในการศึกษา แต่มันเข้ามาเป็นปีๆแล้ว การทำแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าเกลียด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลเองที่ถูกรัฐบาลอ้างข้อบังคับในลักษณะเดียวกัน แต่ในส่วนของกฎหมายรัฐบาลเชื่อว่าเป็นเพราะรัฐบาลกังวลเรื่องของสถานภาพรัฐบาล หากปล่อยเข้ามาแล้วร่างกฎหมายของรัฐบาลถูกตีตก และหากกฎหมายถูกตีตกหรือคว่ำนายกรัฐมนตรีต้องลาออกทันที