9ปัจจัยพปชร.คะแนนหด กระแส“พรรค-ประยุทธ์”ดิ่ง-อนุรักษ์นิยมชิงแต้มกันเอง

9ปัจจัยพปชร.คะแนนหด กระแส“พรรค-ประยุทธ์”ดิ่ง-อนุรักษ์นิยมชิงแต้มกันเอง

โจทย์ใหญ่ของ“ประวิตร-พปชร.”ต้องทบทวนทุกย่างก้าว หากยังวนอยู่ที่การต่อรองเก้าอี้รมต.อาจจะพังครืนทั้งหมด โจทย์ใหญ่ของ“ประยุทธ์”ต้องทบทวนการอยู่ร่วมชายคาพปชร.-ประวิตร คะแนนจะดีขึ้นหรือไม่ และหากยังบริหารประเทศไม่โดนใจประชาชน คะแนนจะมีเหลือเท่าไร

ผลคะแนนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 จตุจักร-หลักสี่ เป็นตัวบ่งบอกบอกทิศทางการเมืองไทยในอนาคต โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ทำทีจะเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง แต่ความนิยมร่วงโรยจนแต้มการเมืองแทบไม่เหลือ

โดยผลคะแนนการเลือกตั้งซ่อมอย่างไม่เป็นทางการ

  • "สุรชาติ เทียนทอง" พรรคเพื่อไทย 29,416 คะแนน
  • "กรุณพล เทียนสุวรรณ" พรรคก้าวไกล 20,361 คะแนน
  • "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" พรรคกล้า 20,047 คะแนน
  • "สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ" พรรคพลังประชารัฐ 7,906 คะแนน
  • "พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์" พรรคไทยภักดี 5,957 คะแนน

"กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมปัจจัยที่ทำให้ "สรัลรัศมิ์" ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ แพ้แบบย่อยยับ คะแนนปีนไม่ถึงหลักหมื่นคะแนน แตกต่างจากแชมป์ที่นามสกุลเดียวกัน โดยในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 "สิระ เจนจาคะ" อดีตส.ส.กทม. ได้ไป 34,907 คะแนน

ปัจจัยแรก : คะแนนนิยมส่วนตัว "สิระ" ตกต่ำอย่างหนัก เพราะพฤติกรรมการทำงานในสภาหลายครั้งมี "ภาพลบ" มากกว่า "ภาพบวก" วาทะกรรมท่าชน ท่าชก ท่าต่อย อาจทำให้ประชาชนไม่ปลื้มในตัวผู้แทนของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีกรณีชวนทะเลาะ “ขั้วตรงข้าม” นอกสภาฯที่มีให้เห็นบ่อย “สิระ” ที่เปิดศึกรอบด้าน ทั้งในสภาฯ-นอกสภาฯ จึงส่งผลต่อคะแนน “สรัลรัศมิ์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

9ปัจจัยพปชร.คะแนนหด กระแส“พรรค-ประยุทธ์”ดิ่ง-อนุรักษ์นิยมชิงแต้มกันเอง

ปัจจัยสอง : คะแนนของ “สิระ” ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ไม่ใช่คะแนนนิยมในตัวของ “สิระ” เพราะการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว “สิระ” ได้แรงสนับสนุนจาก “กปปส.” ช่วย โดยเฉพาะคะแนนที่เป็นฐานเสียงของ “สกลธี ภัททิยกุล” ซึ่งเคยลงสมัคร ส.ส. เขตหลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์

เมื่อไม่มีแรงหนุนจาก “สกลธี” ประกอบกับ “หัวคะแนนกปปส.” หันไปช่วย พรรคกล้า-พรรคไทยภักดี คะแนนจริงของ “สิระ” ที่ไม่ถึงหลักหมื่น จึงมาปรากฏเป็นคะแนนของ “สรัลรัศมิ์”
 
ปัจจัยสาม : ความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคอย่างมาก บรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียงไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน การไม่มีเวลาใหญ่ปราศรัยเรียกคะแนนในช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้ “สรัลรัศมิ์” เสียเปรียบคู่แข่ง ที่จัดเวทีใหญ่-ช่วยหาเสียงแต็มรูปแบบ

ปัจจัยสี่ : ต้องยอมรับว่าการบริหารงานของรัฐบาล ส่งผลต่อคะแนนเลือกตั้งที่ออกไม่น้อย โดยในช่วงท้ายของการหาเสียง “สรัลรัศมิ์” พยายามชู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เพื่อหวังโกยแต้ม เนื่องจากประเมินแล้วว่าแต้มการเมืองที่สะสมมามีโอกาสแพ้สูง

ทว่าการชู “ประยุทธ์” อาจไม่ตอบโจทย์การเลือกตั้งอีกต่อไป เพราะคะแนนนิยมในตัวของ “ประยุทธ์” นับวันมีแต่ลดน้อยถอยลง ไม่มีคะแนนบวกเพิ่มเติม 

9ปัจจัยพปชร.คะแนนหด กระแส“พรรค-ประยุทธ์”ดิ่ง-อนุรักษ์นิยมชิงแต้มกันเอง
 

ปัจจัยห้า : แม้ประชาชนจะรับรู้ว่าพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน “ประยุทธ์” แต่การที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประชาชนเข้าใจว่าพรรคพลังประชารัฐมี “ประวิตร” เป็นเจ้าของพรรค แถมความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า “ประยุทธ์” ไม่สามารถบริหารจัดการพรรคพลังประชารัฐได้ จึงเป็นเหตุผลหลักทำให้คะแนนพรรคพลังประชารัฐตกต่ำลง

ที่สำคัญแม้ “ประวิตร” จะช่วย “สรัลรัศมิ์” ลงพื้นที่หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนไม่ได้ปลื้ม “ประวิตร” ทำให้การลงไปช่วยหาเสียงในพื้นที่จึงไม่เกิดประโยชน์ในทางการเมือง และแต้มการเมืองไม่ได้เพิ่มมากเลย

9ปัจจัยพปชร.คะแนนหด กระแส“พรรค-ประยุทธ์”ดิ่ง-อนุรักษ์นิยมชิงแต้มกันเอง

ปัจจัยหก : “สุรชาติ เทียนทอง” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แม้แพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 แต่ไม่ทิ้งพื้นที่ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้ใจประชาชนในพื้นที่อย่างมาก และเมื่อรวมกับคะแนนพรรคเพื่อไทย บวกกับคะแนนของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทย ส่งผลให้ “สุรชาติ” เข้าวินแบบขาดลอย

ปัจจัยเจ็ด : คะแนนของ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ผู้สมัครจากพรรคกล้า ซึ่งมีฐานเสียงเหนียวแน่นในพื้นที่เขตจตุจักร ตัดคะแนนของ “พลังประชารัฐ-สรัลรัศมิ์” ไปมาก โดยคะแนนเดิมของ “สิระ” ไหลไปรวมที่ “อรรถวิชช์” ซึ่งได้กว่าสองหมื่นคะแนน

ปัจจัยแปด : ฐานเสียงกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เดิมเทให้กับ “พลังประชารัฐ-ประยุทธ์” โดนพรรคไทยภักดีแย่งไป โดย “หมอวรงค์” วงรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี มีจุดยืนปกป้องสถาบันฯที่ชัดเจน คะแนนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงเทให้กับ “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์" ผู้สมัครพรรคไทยภักดี

ปัจจัยเก้า : พฤติกรรม ’Voter’ ต้องการสั่งสอน “รัฐบาล” แสดงออกชัดเจนว่าต่อต้านการบริหารงานของ “ประยุทธ์” โดยคะแนนของ “ขั้วประชาธิปไตย” ได้ 49,777 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 59 คะแนนของ "ขั้วอนุรักษ์นิยม" ได้ 34,707 คิดเป็นร้อยละ 41

ทั้งหมด 9 ปัจจัย จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใด “พลังประชารัฐ-สรัลรัศมิ์” จึงแพ้การเลือกตั้งแบบย่อยยับ ทั้งที่ “สิระ” คือแชมป์เก่า เป็น ส.ส. ที่ดูแลพื้นที่หลักสี่มาเกือบ 3 ปี

โจทย์ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐหลังจากนี้ “ประวิตร” ต้องทบทวนทุกย่างก้าวทางการเมือง หากยังวนอยู่ที่การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี พรรคการเมืองในมือ “ประวิตร” อาจจะพังครืนทั้งหมด

โจทย์ใหญ่ของ “ประยุทธ์” ต้องทบทวนว่าหากยังดันทุรังอยู่ร่วมด้วยช่วยกันกับ “พลังประชารัฐ-ประวิตร” คะแนนนิยมส่วนตัวจะดีขึ้นหรือไม่ และหากยังบริหารประเทศไม่โดนใจประชาชน คะแนนนิยมจะมีเหลือสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่หรือไม่
9ปัจจัยพปชร.คะแนนหด กระแส“พรรค-ประยุทธ์”ดิ่ง-อนุรักษ์นิยมชิงแต้มกันเอง