โมเดลขับ ส.ส. “พลังประชารัฐ” โจทย์ใหม่ ก่อ “ปัญหาการเมือง”

 โมเดลขับ ส.ส. “พลังประชารัฐ”  โจทย์ใหม่ ก่อ “ปัญหาการเมือง”

คนพลังประชารัฐ มั่นใจว่า มติขับส.ส.พ้นพรรค ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตามที่มี "ผู้ร้อง" ต่อ "กกต."ให้ตรวจสอบ แต่โมเดลขับส.ส.​โดยไม่มีการตรวจสอบ-ไต่สวน อาจเป็นปัญหาใหม่ ที่ย้อนทำลายสถาบันการเมือง ของประชาชน

         หลังจาก “พรรคพลังประชารัฐ” ลงมติ 63 ต่อ 78 เสียง ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค และส.ส.ของพรรค เพื่อขับ 21 ส.ส. ในกลุ่ม “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรค ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค 

 

         ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในแวดวงการเมือง โดยมุ่งเน้นถึงเป้าประสงค์ของการ นัดประชุมโดยเร่งด่วนในช่วงบ่ายวันที่ 19 มกราคม ที่มูลนิธิป่ารอยต่อซึ่งเป็นที่พักของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และในช่วงหัวค่ำ มีมติขับ 21 ส.ส.ออกมา

 

         ทั้งนี้ ในเหตุผลที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค ในฐานะแม่ทัพกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ แถลงไว้ว่า “มีเหตุร้ายแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายทั้งระบบกับพรรค ในด้านความมั่นคง เสถียรภาพ เอกภาพของพรรค”

 

         ส่วนวิธีการนั้น “ไพบูลย์” ยืนยันว่า ยึดตาม มาตรา 101(9) ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดเงื่อนไขของการขับ “ส.ส.” ให้พ้นสมาชิกพรรค ที่

1. ต้องใช้การประชุมร่วมกันของ กรรมการบริหาร และ ส.ส.ของพรรค

2. ต้องมีการลงมติ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุม

 โมเดลขับ ส.ส. “พลังประชารัฐ”  โจทย์ใหม่ ก่อ “ปัญหาการเมือง”

         และวันที่ 19 มกราคม มี 17 กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคร่วมประชุม ผลลงมติที่มาจากดุลยพินิจของแต่ละคน คือ 63 ให้ขับ 21 ส.ส. พ้นจากสมาชิกพรรค จากผู้ประชุม 78 คน นอกจากนั้นได้ยึดตามข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐ

 

         ทว่า ประเด็นที่สังคมสงสัย และวิจารณ์คือ ขั้นตอนก่อนลงมติ เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่ขับ “ศรีนวล บุญลือ" ส.ส.เชียงใหม่ หรือพรรคเพื่อไทย ที่ขับ “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ส.ส.อุตรดิตถ์ และ “พรพิมล ธรรมสาร” ส.ส.ปทุมธานี ให้พ้นจากสมาชิกพรรค ต้องมีขั้นตอนสำคัญ คือ การไต่สวน ผ่านคณะทำงานที่พรรคตั้งขึ้น และนำผลการไต่สวน สืบสวนนั้น เข้าสู่ที่ประชุมร่วมเพื่อขอมติ

 โมเดลขับ ส.ส. “พลังประชารัฐ”  โจทย์ใหม่ ก่อ “ปัญหาการเมือง”

         ขณะที่ขั้นตอนของ “พรรคพลังประชารัฐ” นั้น “ไม่ใช่” และที่ผ่านมา “ธรรมนัส” ทำงานในหน้าที่ของตนเอง ฐานะเลขาธิการพรรคตามที่ได้รับมอบหมายอย่างดี หากจะมีข้อขัดแย้ง คงมีเพียง “การงัดข้อ” กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่พรรคพลังประชารัฐสนับสนุน แต่ไม่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น

 

         แน่นอนว่า ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีช่องทางที่ให้ “ส.ส.” ที่ถูกขับให้พ้นพรรคอุทธรณ์ และ แย้งมติของที่ประชุมร่วม ทำให้จดหมายของ “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” ส.ส.นครราชสีมา 1 ใน 21 ส.ส.ที่ถูกลงมติขับ ที่ขอให้ทบทวนมติ นั้นไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมาย

 โมเดลขับ ส.ส. “พลังประชารัฐ”  โจทย์ใหม่ ก่อ “ปัญหาการเมือง”

         อย่างไรก็ดี ในแง่มุมที่สังคมมองว่า เกมการเมืองของ พลังประชารัฐ ที่เปิดทาง “ธรรมนัส” ที่มี 19 ส.ส. ในมือ พ่วงกับ ส.ส.ก๊วนพรรคเล็ก 1 เสียงในมือ มีอำนาจต่อรองในทางบริหารนั้น

         มีอีกมุมที่อาจเป็นการเปิดช่องให้ใช้กลไก และมติร่วมของกรรมการบริหารพรรค และส.ส. ของพรรค ไปในทางมิชอบ หากต้องการขับ “บุคคล” ระดับแกนนำออกจากพรรค เพียงเพราะไม่พอใจในพฤติกรรมหรือการแสดงเจตนาทางการเมืองบางอย่าง โดยใช้บรรทัดฐานของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่มีการสืบสวน - ไต่สวน

 

         แม้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(9) จะกำหนดเงื่อนไขการใช้อำนาจ ทั้งต้องมีกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรคมาประชุมร่วม และต้องมีมติข้างมากพิเศษคือ 3 ใน 4

 

         เมื่อ “การเมือง” ที่ถือ “พวกมาก" มีอำนาจ มีเสียงข้างมาก และไม่มีการตรวจสอบ โต้แย้ง ไม่มีบทลงโทษ ถือเป็นจุดเสี่ยงทางการเมือง ที่วางเจตนารมณ์ของการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน

 โมเดลขับ ส.ส. “พลังประชารัฐ”  โจทย์ใหม่ ก่อ “ปัญหาการเมือง”

 

         การเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มุ่งขจัดนายทุนที่ครอบงำพรรคการเมือง ภาพที่เห็นอาจประสบความสำเร็จ

 

         แต่ในทางคู่ขนานกลับพบว่า ได้สร้างโจทย์ใหม่ทางการเมือง ที่อาจเปิดช่องให้เกิดปัญหาจากการใช้เสียงข้างมากที่ไร้การตรวจสอบ โดยมี “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นโมเดล.