ศึกซักฟอก-ม็อบปรับเพดาน วางเกมยาวฉุดกระแส “ประยุทธ์”

ศึกซักฟอก-ม็อบปรับเพดาน  วางเกมยาวฉุดกระแส “ประยุทธ์”

เกมสั้นจึงอยู่ที่ว่า การใช้ข้อมูลเด็ดมาซัดกลางสภาฯ จะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล และลดกระแส “ประยุทธ์”ลงได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่เกมยาว ยังมีเวทีเลือกซ่อม และศึกซักฟอกแบบลงมติอีกระลอก ที่ฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น มีโอกาสสะสมแต้มไปจนกว่านายกฯจะถอดใจ 

จบศึกเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ แบบช้ำ ๆ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ต้องมาแข่งกันเอง ทะเลาะกันเอง จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ต้องแทรกมาหย่าศึก เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการทำงาน

ชอตต่อจากนี้ 2 พรรคต้องปรับโหมด “พรรคร่วมรัฐบาล” จับมือกันชั่วคราว เนื่องจาก “พรรคฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ซึ่งคาดว่าจะยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา ในช่วงปลายเดือน ม.ค. วางจังหวะเกมซักฟอกช่วงกลางเดือน ก.พ.หรือปลายเดือน ก.พ.

ขณะที่ “พรรคฝ่ายค้าน” เอง ก็เกรงจะโดน “ขั้วรัฐบาล” เล่นเกมยื้อ ด้วยการเปิดให้อภิปรายในช่วงปลายเดือน ก.พ. ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 มี.ค. เพื่อชิงปิดสภา ระหว่างที่ยังเหลือ ส.ส.ต้องอภิปรายต่อ ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 24-27 ก.พ.2563 เมื่อ "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา สั่งให้ยุติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากถึงเวลากำหนดให้ต้องปิดสมัยประชุมสภา ทั้งที่ยังมีคิวอภิปรายอีก 5 คน

“พรรคฝ่ายค้าน” ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงต้องขบคิดแก้เกม ไม่ให้ติดกับดักของ “ขั้วรัฐบาล” อีก ซึ่งต้องจับตาว่ากลเกมที่ “กุนซือฝ่ายค้าน” ตระเตรียมเอาไว้จะต่อกรกับ “ขั้วรัฐบาล” จะเป็นผลมากน้อยเพียงใด

โฟกัสของ “พรรคฝ่ายค้าน” ในการซักฟอกรอบนี้ อยู่ที่การบริหารประเทศของ “นายกฯประยุทธ์” ก่อนจะกระทบชิ่งไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งควบคุมดูแลกระทรวงต่างๆ อาทิ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข “หัวหน้าอู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

โดยเฉพาะการแก้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาลากยาวของ “ประยุทธ์-อนุทิน” แม้การระบาดของเชื้อโอมิครอนในช่วงต้นปีจะไม่รุนแรงเทียบเชื้อเดลต้าที่ระบาดในช่วงต้นปี 2564 แต่การปล่อยให้เกิดการระบาดในประเทศย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องชะงักอีกครั้ง

สำหรับปมใหญ่สุดในขณะนี้ ฝ่ายค้านโฟกัสไปที่ปัญหา “สินค้าแพงทั้งแผ่นดิน” ไล่ตั้งแต่ หมู ไก่ ปลา และสินค้าบริโภคหลายชนิด ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ราคาสินค้าปรุงสุกทยอยปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย แถมไม่มีท่าทีว่า “ประยุทธ์-จุรินทร์” จะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้

รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ซึ่งคาดการณ์กันว่ามีการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2562 แต่รัฐบาลปกปิดข้อมูล โดย “พรรคฝ่ายค้าน” ตั้งประเด็นว่ารัฐบาลต้องการเอื้อประโยชน์ให้ “นายทุน”

ปมร้อนโควิด-19 ปัญหาของแพง อหิวาต์ในหมูระบาด จะเป็นโจทย์หลักที่ “พรรคฝ่ายค้าน” จะอภิปรายทิ่มไปที่ “ประยุทธ์-จุรินทร์-เฉลิมชัย” แบบจัดหนัก

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมพรรคฝ่ายค้านล่าสุด ได้สั่งการให้ทุกพรรคกำชับ ส.ส. ที่จะอภิปรายเตรียมข้อมูลให้ดีที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับปมของแพง-อหิวาต์หมู เพราะคาดว่าหากมีหมัดเด็ดสามารถใช้เปิดแผลรัฐบาลได้ จะสามารถทำให้ประชาชนกลับมาศรัทธาในการทำงานของ “พรรคฝ่ายค้าน” มากขึ้น

ที่สำคัญหาก “นายกฯประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล” ไม่สามารถแก้ไขปัญหา “ของแพง”ได้ จนทอดเวลาไปจนเปิดสมัยประชุมครั้งแรกปี 2565 ในช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย. ก็เตรียมดาบ 2 ขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติทันที เพื่อเพิ่มกระแสต้านการบริหารประเทศล้มเหลวมาต่อยอดก่อนการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้เกมในสภายังไม่สามารถล้มรัฐบาล และนายกฯประยุทธ์ ลงได้ แต่เกมนอกสภาก็เริ่มกลับมาคึกคัก แต่ปมปฏิรูปสถาบันฯ ก็ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักเสียก่อน เพราะขณะนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนหนัก จนหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องต่อรัฐบาล

วานนี้ (18 ม.ค.) โหมโรงด้วย 5 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี องค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มทะลุฟ้า รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่น 3 ข้อเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ดังนี้

1.ลดค่าใช้จ่าย ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดค่าเทอม 50%  2.เพิ่มรายได้ เบี้ยคนชราเป็น 3,000 บาท/เดือน ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท/วัน เงินสงเคราะห์บุตรเป็น 1,200 บาท/เดือน และ 3.ลดราคาสินค้า แก้ปัญหาผูกขาด ตรวจสอบการปกปิดข้อมูลโรคระบาดหมูและการกักตุนสินค้า เยียวยาค่าเสียหายให้เกษตรกร

หากดูรายชื่อกลุ่มที่รวมตัวกัน แม้จะเป็นกลุ่มเดิมที่เคยจัดการชุมนุมขับไล่ “ประยุทธ์” มาแล้ว แต่ไปติดกับดักตัวเองตรงข้อเรียกร้อง “ทะลุฟ้า” จนทำให้ทำให้เสียงแตก และมวลชนลดน้อยถอยลง

ทว่าการจับปม “ของแพง” พร้อมเสนอข้อเรียกร้องให้ช่วยเหลือประชาชน โดยสะท้อนการทำงานล้มเหลวของรัฐบาล อาจมุ่งหวังจุดเชื้อชุมนุมขับไล่นายกฯรอบใหม่ ซึ่งมีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะการบริหารประเทศ จนประชาชนเดือดร้อน สมเหตุสมผลกว่าข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน”

ไม่ว่าฝ่ายหนุน ฝ่ายต้านรัฐบาล ก็ฟันธงตรงกันว่า หาก “ม็อบสามนิ้ว” ไม่ชุมนุมเลยธงตั้งแต่ต้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก่อนครบวาระไปแล้ว

เวลานี้ หากจับกระแสนิยมในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจลดน้อยถอยลงไม่น้อย หากใช้ผลการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร-สงขลา เป็นตัวชี้วัด เมื่อผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุนนายกฯประยุทธ์ เอาชนะเจ้าถิ่นอย่าง “ประชาธิปัตย์” ไม่ได้  ทั้งที่สนามเลือกซ่อมก่อนหน้านี้ พลังประชารัฐและกระแสพล.อ.ประยุทธ์ สอยผู้สมัครพรรคเจ้าถิ่นร่วงทุกพื้นที่ 

จังหวะเกมในสภาของ “พรรคฝ่ายค้าน” ในการอภิปรายรอบนี้ จัดว่ามีวัตถุดิบหลากหลายที่รุมยำรัฐบาลได้ไม่ยาก และยังสามารถสร้างเครดิตจากการตรวจสอบได้อีกชั้น

เกมสั้นจึงอยู่ที่ว่า การใช้ข้อมูลเด็ดมาซัดกลางสภาฯ จะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล และลดกระแส “ประยุทธ์”ลงได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่เกมยาว ยังมีเวทีเลือกซ่อม และศึกซักฟอกแบบลงมติอีกระลอก ที่ฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น มีโอกาสสะสมแต้มไปจนกว่านายกฯจะถอดใจ