F-35 ทอ.วาระเร่งด่วน  เกม "มหาอำนาจ"กระชับพื้นที่

F-35 ทอ.วาระเร่งด่วน  เกม "มหาอำนาจ"กระชับพื้นที่

การเดินเกมถ่วงดุลมหาอำนาจระหว่าง "สหรัฐ-จีน" ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร แต่ F-35 หั่นครึ่งราคาของ "พ่อทัพฟ้า" คงต้องรอชมว่า คุ้มค่า สมราคาคุยเพียงใด

คงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สำหรับโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ของกองทัพอากาศ(ทอ.) เพราะทั้งสหรัฐ และไทย ต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ หรือ “วิน-วิน” ด้วยกันทั้งคู่ หลังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 13,800 ล้านบาท ให้ ทอ. จัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนเครื่องบิน F-16 ด้วยงบประมาณประจำปี 2566 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี 11 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา

แม้ในรายละเอียดไม่ระบุว่า โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนเครื่องบิน F-16 ของ “กองทัพอากาศ” เป็นของบริษัทไหน จากประเทศใด ในสภาวะที่ตลาดตกเป็นของ “ผู้ซื้อ” หลังอากาศยานทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นค่ายอเมริกัน จีน เกาหลีใต้ ฯ ต่างขายไม่ออก มีของค้างสต็อกต้องเร่งระบาย จึงออกโปรโมชั่นหั่นราคา

หน่วยกล้าตาย “บิ๊กป้อง”พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ออกมาหยั่งกระแสสังคมตั้งแต่เปิดศักราช 2565 ท่ามกลางการระบาด “โควิด-19” สายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า ทอ. สนใจเครื่องบินขับไล่ F-35 ค่ายอเมริกัน และเตรียมจัดซื้อในปีงบประมาณ 2566 แบบไม่หวั่นเสียงดราม่า หรือกระแสทัวร์ลง

จากนั้น 1 สัปดาห์ ขบวนรักษาการผู้ช่วยทูตทหารอากาศสหรัฐ ประจำกรุงเทพฯ นาวาอากาศเอก มาร์ค จอห์นสัน (Mark Johnson ) ตบเท้าเข้าพบ “บิ๊กป้อง” ที่ตึกแปดแฉก กองทัพอากาศ เพื่อแสดงความยินดีในฐานะได้เป็น ผบ.ทอ. และแนะนำรองผู้ช่วยทูตทหารอากาศสหรัฐ กรุงเทพฯ คนใหม่

ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนเครื่องบิน F-16 ของ “กองทัพอากาศ” ผ่าน ครม. ให้โครงการดังกล่าวอยู่ในคำของบประมาณปี 2566 ของกระทรวงกลาโหม และหากผ่านกระบวนการ ขั้นตอน บรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

จึงพอฟันธงได้ว่า เครื่องบินขับไล่โจมตีที่จะมาทดแทนเครื่องบิน F-16 ของ “กองทัพอากาศ” คือ F-35 ค่ายอเมริกัน 100% เพราะสหรัฐเป็นผู้เสนอ ในขณะที่ไทยคือผู้สนอง ด้วยราคามิตรภาพที่ต้องช่วยเหลือพันธมิตรเก่า ให้ระบายของในสต็อก กับสโลแกน“ใครใช้ของเราคือพวกเรา” ในขณะที่ “กองทัพอากาศไทย”ก็มีแผนจัดซื้อจัดหาอยู่แล้ว เรียกว่าสมประโยชน์ทั้งคู่




พล.อ.อ.นภาเดช ระบุว่า ถ้าไม่รีบทำตอนนี้ ราคาจะขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการหาพวก หาพันธมิตร รวมถึงกลไกตลาด ทำให้ราคาลดลง และเขาควรจะดีใจที่เราสนใจ F-35

“ผมเฝ้าดู F-35 ราคาที่ค่อยๆ ลดลงมา จาก 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเครื่อง เหลือ 130 -120 - 110 - 100 - 90 ตามลำดับ ล่าสุดตัวเลขมาถึงผม 82 ล้านดอลลาร์ มันไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง หากจะคิดหาเครื่องบินแบบใหม่สักแบบ F-35 ต้องเข้ามาเป็นตัวเลือก”

“ผมกระซิบ บริษัทผู้ผลิต 82 แพงไป ถ้า 60 กว่าๆ โอเค เขาก็หัวเราะ ทำหน้าตกใจ บอกว่าเราคงไม่ลดต่ำขนาดนั้นหรอก แต่ตัวเลขนั้นคือการเจรจาต่อรอง ตัวเลขที่ผมมุ่งหวังคือเลข 7 นำหน้า ถ้าได้ราคาเครื่องละ 75 -76 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง สุดยอดแล้ว เพราะเราจะได้ของในครึ่งราคา”

“ในขณะเครื่องบินจีนก็น่าสนใจ ผมเคยเป็นทูตปักกิ่ง รู้ว่าจีนมีขีดความสามารถอย่างไร เขาก้าวกระโดด เพราะฉะนั้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของจีนที่ออกมา โดยเฉพาะด้านการทหารและการบิน ถือว่าสูง”

จากข้อมูล กองทัพอากาศ พบว่าเครื่องบินขับไล่ F-35 ของ บริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน ประเทศสหรัฐ มี 3 แบบ โดยมีสายการผลิตตั้งแต่ล็อตที่ 1 จนถึงล็อตปัจจุบัน (ล็อตที่ 14) ราคาจัดซื้อจัดหาตามโครงการลดลงกว่า 70% โดย F-35A ปัจจุบันราคาอยู่ที่ลำละ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  F-35B ราคาอยู่ที่ลำละ 108 ล้านดอลลาร์ และ F-35C ราคาอยู่ที่ลำละ 94.4 ล้านดอลลาร์

โดยกองทัพอากาศไทยสนใจ F-35A หากเจรจาต่อรองได้ราคาลำละ 75-76 ล้านดอลลาร์ อย่างที่ “บิ๊กป้อง”คาดหวัง คิดเป็นเงินไทยคร่าวๆ ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาทในขณะนั้น ปัจจุบัน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 33.49 บาท ประมาณลำละ 2,511-2,544 ล้านบาท

ปัจจุบัน F-35 เข้าประจำการ และปฏิบัติภารกิจโดยสมบูรณ์แล้วใน 6 หน่วย (Service) ประกอบด้วย

กองทัพอากาศสหรัฐ นาวิกโยธินสหรัฐ กองทัพอากาศสหราชอาณาจักร กองทัพอากาศอิสราเอล กองทัพอากาศอิตาลี และกองทัพอากาศนอร์เวย์

ประเทศที่เลือกใช้ปฏิบัติภารกิจภายในประเทศในมีปัจจุบัน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ฮอลแลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ประเทศที่จัดซื้อผ่านโครงการ FMS มีทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล (F-35A 50 เครื่อง) ญี่ปุ่น (F-35A 105 เครื่องและ F-35B 42 เครื่อง) เกาหลีใต้ (F-35A 35 เครื่อง) เบลเยี่ยม (F-35A 34 เครื่อง) โปแลนด์ (F-35A 32 เครื่อง) และ สิงคโปร์ (F-35B 4 เครื่อง)

ส่วนการซ่อมบำรุงและดำรงสภาพ แบ่งเป็น ค่าความน่าเชื่อถือของการปฏิบัติการได้ตาม FMC นั้น

F-35A ได้ 9.1 ชั่วโมงบิน(ชม.บิน) จากจำนวน ชม.ที่ต้องการ 6 ชม.บิน

F-35B ได้ 5.8 ชม.บิน จากจำนวน ชม.บินที่ต้องการ 4 ชม.บิน และ

F-35C ได้ 11.8 ชม.บิน จากจำนวน ชม.บินที่ต้องการ 4 ชม.บิน 

การซ่อมบำรุงตามระยะเวลาต่อ 1 ชม.บิน F-35A คือ 5.5 ชม.บิน F-35B คือ 8.6 ชม.บิน และ F-35C คือ 8 ชม.บิน

ขณะที่ ศูนย์ฝึกนักบินที่สำคัญในเอเชีย อยู่ที่ฐานทัพอากาศมิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น และโกดังอะไหล่หลักตั้งอยู่ในสหรัฐ 3 แห่ง และยุโรป 1 แห่ง

ส่วน “จีน” ก็ไม่ต้องเสียใจ หลังโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ของ “กองทัพเรือ” ถูกชะลอต่อเนื่อง และล่าสุดไม่ถูกเสนอในงบประมาณปี 2566 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญ “จีน” เข้าร่วมลงทุนในโครงการสะพาน “Southern Land Bridge” ข้ามคอคอดกระ เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ภายในปี 2570 หรือเรียกง่ายๆ ว่าสะพานเชื่อม “มหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก” รองรับเส้นทางขนส่งทางเรือที่สำคัญ

ดังนั้นก็พอจะเบาใจได้ว่า การเดินเกมถ่วงดุลมหาอำนาจระหว่าง“สหรัฐ-จีน” ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไม่เป็นสองรองใคร แต่ F-35 หั่นครึ่งราคาของ“พ่อทัพฟ้า”คงต้องรอชมว่า คุ้มค่า สมราคาคุยเพียงใด