ปี 64 ปิดฉากกว่าล้านคดี! ศาลยุติธรรมแถลงผลงาน ใช้ระบบออนไลน์สู้โควิด

ปี 64 ปิดฉากกว่าล้านคดี! ศาลยุติธรรมแถลงผลงาน ใช้ระบบออนไลน์สู้โควิด

เลขาฯ “ศาลยุติธรรม” แถลงผลงาน 2 ปีเผชิญโควิด-19 ใช้เทคโนโลยีระบบออนไลน์ จัดการคดีไม่คั่งค้าง ปี 64 เคลียร์แล้วกว่า 1.1 ล้านคดี ข้อหายาเสพติดแชมป์ ปี 65 ต่อยอดดูแลผู้บริโภควิถีใหม่ ฟ้องผ่านระบบ e-Filing ได้ พร้อมให้ศูนย์ TBMC ไกล่เกลี่ยคดีหนี้การเงิน/ครัวเรือน

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2564 ว่าในรอบปีที่ผ่านมาหลายหน่วยงานรวมทั้งศาลยุติธรรมเองต่างต้องเผชิญกับวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ แต่ในขณะเดียวกันคดีความต่างๆ ที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรมก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่คู่ความ และประชาชนต่างๆ มีความเดือดร้อน และต้องการให้ศาลเป็นที่พึ่ง การบริหารจัดการคดีที่ไม่ทันท่วงที ย่อมทำให้ความเดือดร้อนและปัญหาของประชาชนต้องเนิ่นนานออกไปด้วย ด้วยเหตุนี้แม้จะประสบปัญหาวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ศาลยุติธรรมยังมุ่งมั่นที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกท้องที่ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างที่สุด ศาลยุติธรรมจึงนำเทคโนโลยีและพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีอยู่ของ SMART COURT มาอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเต็มที่ในทุกช่องทางที่กฎหมายสามารถดำเนินการได้โดยไม่ทำให้คดีต่างๆ ต้องสะดุดหยุดลงหรือกระทบต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมของคู่ความ และคุ้มครองสิทธิทางคดีของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลยด้วย โดยยังสามารถคุ้มครองสุขอนามัยของคู่ความและประชาชนที่ต้องติดต่อราชการของศาลไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นด้วยเหตุที่ต้องมาศาล

นายจีระพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา สถิติการพิจารณาพิพากษาคดีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค.2564 มีการนำเทคโนโลยีและกระบวนการพิจารณาอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประกอบกับการบริหารจัดการคดีที่จะมีการนัดพิจารณาคดีตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำหนดมาตรการ 

โดยในรอบปี 2564 พบว่า ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกา พิจารณาพิพากษาคดีเสร็จทั้งสิ้น 1,194,804 คดี จากปริมาณคดีค้างเก่าและคดีรับฟ้องใหม่รวม 1,560,026 คดี (แบ่งเป็นคดีแพ่ง 1,030,906 คดี และคดีอาญา 529,120 คดี) โดยขณะนี้ปริมาณคดีค้างพิจารณาคงเหลือจำนวน 365,222 คดี (คิดเป็นร้อยละ 23.41) 

ส่วนข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร สูงสุด 10 อันดับได้แก่ 

1) พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 292,835 ข้อหา 
2) บัตรเครดิต 155,801 ข้อหา 
3) สินเชื่อบุคคล 133,954 ข้อหา 
4) พ.ร.บ. จราจรทางบก 103,407 ข้อหา 
5) กู้ยืม 101,551 ข้อหา 
6) ขอจัดการมรดก 90,440 ข้อหา 
7) เช่าซื้อ (รถยนต์) 62,986 ข้อหา 
8) ค้ำประกัน 49,386 ข้อหา 
9) พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 35,747 ข้อหา 
10) ละเมิด 33,021 ข้อหา

เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมาในด้านการพิจารณาพิพากษาคดีจึงนำ "วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์" มาใช้เป็นหลักทั้งในคดีแพ่งและอาญา โดยคำนึงถึงความพร้อมของคู่ความทั้งสองฝ่ายตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดหลักการรองรับให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเอกสารในสำนวนความ การยื่น-ส่ง หรือรับเอกสาร การนั่งพิจารณา การบันทึกคำเบิกความพยาน การรับฟังพยานหลักฐาน การทำคำพิพากษา อุทธรณ์ และฎีกา สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือกระทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรม ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของคู่ความลดน้อยลง ซึ่งตลอดปี 2564 ศาลอนุญาตให้ใช้การพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสิ้น 330,631 ครั้ง จากการขอใช้ทั้งหมด 364,290 ครั้ง 

นายจีระพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมให้มีการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นในศาลชั้นต้น นอกจากช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ยังลดการเดินทางมาศาลที่ไม่จำเป็นของคู่ความด้วย ด้วยเหตุที่วิธีพิจารณาดังกล่าวทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ในปีนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ครบทุกบัลลังก์ เพื่อรองรับการพิจารณาคดีวิถีใหม่ New Normal ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อเพิ่มช่องทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาทางออนไลน์ให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกระบวนพิจารณาไปสู่วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกศาลยุติธรรมต้องมีความพร้อมด้วย สำนักงานศาลยุติธรรมจึงวางโครงการที่จะจัดอบรมหลักสูตรการพิจารณาคดีออนไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์รวมถึงทนายความ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในการบริหารจัดการคดีที่คั่งค้างอันเนื่องจากมีการเลื่อนนัดพิจารณาในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักนั้น ยังได้ดำเนิน "โครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการเพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีหรือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน" ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และกระจายความแออัดของคู่ความที่มาศาลอันจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณนี้ มีศาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 145 ศาล โดยสำนักงานศาลยุติธรรมอนุมัติกรอบปริมาณคดีเพื่อให้ศาลดำเนินการตามโครงการ จำนวน 90,560 คดี 

เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาใน 135 ศาล ประสบความสำเร็จสามารถเร่งรัดจัดการคดีที่คั่งค้างได้เสร็จตามโครงการฯ จำนวน 86,498 คดี ซึ่งพบว่าความพึงพอใจในการรับบริการของประชาชนและคู่ความตามโครงการดังกล่าวคิดเป็นคะแนน 4.72 จากคะแนนเต็ม 5 

กระบวนการไกล่เกลี่ยยังเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยทำให้คดีความเสร็จไปด้วยความรวดเร็วและด้วยความพึงพอใจของคู่ความทุกฝ่าย ขณะที่คู่ความที่ประสงค์นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ศาลส่งเสริมให้ใช้ระบบ "การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์" ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งก่อนฟ้องและหลังฟ้อง เพื่อลดการเดินทางที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค 

โดยสถิติปี 2564 มีคดีที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด 58,507 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 51,910 คดี คิดเป็นร้อยละ 88.72 ทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 23,974,982,283.41 บาท

นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังมี “ระบบ CIOS (ซีออส) หรือระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม” ที่ได้พัฒนาระบบเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นช่องทางหลักที่เน้นให้คู่ความใช้บริการในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งสถิติการใช้งานเพิ่มขึ้น เช่น มีการใช้บริการขอยื่นคำร้อง 308,557 คดี ขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดี 310,506 ครั้ง ขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด 27,226 คดี เป็นต้น และในปีที่ผ่านมา ยังได้ขยายการให้บริการเพิ่มเติม เช่น การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผู้ยื่นขอประกันตัวผ่านออนไลน์แล้ว จำนวน 1,306 คำร้อง รวมถึงบริการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอตั้งต้นคดีในคดีครอบครัวที่มีผู้ยื่นฟ้องเข้ามาแล้วจำนวน 1,599 คดี 

และระบบ e-Filing (อีไฟลลิ่ง) ที่ให้บริการออนไลน์เช่นกันสำหรับการยื่น-ส่งคำคู่ความ และเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสถิติในปี 2564 มีการใช้บริการยื่นฟ้องออนไลน์ทั้งสิ้น 492,838 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 64.31 (ปี 2563 มีการยื่นฟ้อง 299,939 คดี) หากเปรียบเทียบกับการยื่นฟ้องแบบปกติโดยตรงต่อศาลเป็นกระดาษ พบว่าการยื่นฟ้องผ่านระบบออนไลน์มีสัดส่วนมากกว่าประมาณ 1.5 เท่า 

ในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ยังไม่สิ้นสุด ศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในสุขอนามัย จึงวางมาตรการคุมเข้มในการป้องกันต่อความเสี่ยงการแพร่ระบาด ทั้งการจัดหาและติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในห้องพิจารณาคดี การเน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่าง และการคัดกรองผู้มีความเสี่ยง โดยกรณีที่คู่ความอาจมีความจำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อราชการศาล เราได้พัฒนาระบบคัดกรองแบบออนไลน์ผ่าน "COJPASS" ซึ่งสามารถแปรผลได้ทันที หากพบว่าคู่ความมีความเสี่ยงสูงและมีความจำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาก็อาจใช้มาตรการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK มาตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้น มาตรการเหล่านี้และ COJPASS นี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขอนามัยภายในศาลและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่ต้องเดินทางมาศาล

อย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมยังตระหนักถึงความสำคัญการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาจำเลย ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมเช่นเดียวกันเพื่อสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิตามนโยบายของประธานศาลฎีกาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการจัดตั้ง "ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย" เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและความประสงค์ในการใช้สิทธิทางศาลของผู้เสียหายที่สามารถแจ้งสิทธิได้โดยสะดวกตั้งแต่แจ้งความดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอให้มีคดีมาถึงศาลก่อน หลังจากที่ศาลยุติธรรมได้จัดตั้งศูนย์ ฯ เมื่อเดือน ก.พ.64 ที่ผ่านมา ตามสถิติมีผู้เสียหายยื่นความประสงค์เข้ามาจำนวน 4,465 เรื่อง โดยต้องการให้ช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในเรื่องคุ้มครองความปลอดภัย 1,776 เรื่อง, ห้ามผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยคุกคามหรือเข้าใกล้ 695 เรื่อง, ขอจัดการทนายความ 519 เรื่อง, ค่ารักษาพยาบาล 626 เรื่อง รวมทั้งประสงค์ยื่นคำร้องขอให้ชดเชยค่าสินไหมทดแทน 2,483 เรื่อง และขอคัดค้านการประกันตัว 1,066 เรื่อง เป็นต้น

ส่วนการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย ในการขอปล่อยชั่วคราว ศาลยุติธรรมได้พิจารณาอย่างเต็มที่ภายใต้การใช้ดุลยพินิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และตามแนวทางลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นของประธานศาลฎีกา ในรอบปี 2564 มีคำร้องที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น จำนวน 245,901 คำร้อง ซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นแบบคำร้องทั่วไปและแบบคำร้องใบเดียว โดยจากคำร้องทั้งหมดศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว จำนวน 219,784 คำร้อง คิดเป็นร้อยละ 89.38 

โดยลักษณะของการอนุญาตปล่อยชั่วคราวนั้นมีทั้งแบบมีสัญญาประกัน ไม่มีสัญญาประกัน ประเมินความเสี่ยง การตั้งผู้กำกับดูแล การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กําไล EM) และแบบมีการกำหนดหลักประกันวางหลักทรัพย์ ในส่วนการยื่นขอปล่อยชั่วคราวและอุทธรณ์คำสั่งการปล่อยชั่วคราวต่อศาลสูงนั้น ศาลก็ได้นำมาตรการตั้งผู้กำกับดูแล การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กําไล EM) และการกำหนดหลักประกัน มาใช้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในส่วนของคดีที่อาจจะมีการกำหนดโทษปรับไว้ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับก็จะต้องถูกดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในการกักขังแทนค่าปรับนั้น ศาลยุติธรรมก็มีโครงการบริการสังคมแทนค่าปรับด้วย ซึ่งนับตั้งแต่ที่ได้ดำเนินการมาเดือน พ.ย.63 - พ.ย.64 สถิติสรุปรายงานผลการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับทั้งสิ้น 23,754 คดี โดยประเภทงานที่มีผู้แจ้งขอทำมากที่สุด ได้แก่ งานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ งานวิชาชีพงานช่างฝีมือหรืองานที่ต้องใช้ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญเฉพาะงานช่วยเหลือดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาลและงานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา และงานอื่นๆ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานให้ลดน้อยลง ตามลำดับ 

แนวทางต่างๆ ที่ศาลยุติธรรมได้ดำเนินการมาตลอดช่วง ปี 2564 ศาลได้ยึดมั่นอยู่บนหลักการอำนวยความยุติธรรมรูปแบบ “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย EASY ACCESS TO JUSTICE” ตามนโยบายของท่านประธานศาลฎีกา ที่จะส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม การสร้างหลักประกันการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย สร้างสรรค์ระบบงานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าและสุขภาวะที่ดีของบุคลากร

ปี 64 ปิดฉากกว่าล้านคดี! ศาลยุติธรรมแถลงผลงาน ใช้ระบบออนไลน์สู้โควิด

เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวถึงแผนดำเนินงานอำนวยความยุติธรรมผ่านการวางระบบบริหารจัดการคดีในปี 2565 ว่า ภายใต้นโยบายของ น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา คนที่ 47 ศาลยุติธรรมมุ่งยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่ โดยมีแผนจัดตั้ง "แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง" เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing ขณะนี่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและประสานงานกับองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินคดีอันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค 

สำหรับแผนงานเกี่ยวกับการพัฒนาด้านดิจิทัลของศาลในอนาคต สำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการที่จะพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัยมากขึ้น โดยจะนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รวมถึงการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์มาสนับสนุนทำให้เกิดความมั่นใจในระบบเทคโนโลยีของศาลยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยจะมีการนำระบบ COJ Connect ที่เชื่อมต่อแพลตฟอร์มการให้บริการต่างๆ เข้าด้วยกันซึ่งจะทำให้ประชาชนและคู่ความเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

สำนักงานศาลยุติธรรมยังมีความร่วมมือกับฝ่ายบริหารและหน่วยงานอื่นในการร่วมแก้ไขภาระหนี้สินภาคประชาชน โดยสนับสนุนให้มีการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินต่างๆ ผ่านระบบของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรม หรือ TBMC ซึ่งในอนาคตน่าจะทยอยนำปัญหาหนี้สินด้านต่างๆ เข้ามามากขึ้นเพื่อเป็นการร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมอีกทางหนึ่ง

“ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนต่างๆ ต้องปรับรูปแบบการดำเนินการวิถีใหม่หรือ New Normal ไปด้วยกันนั้นอย่างเหมาะสม ศาลยุติธรรมก็จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่นกัน โดยจะพยายามนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ให้มากขึ้น ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมเหมือนดั่งเช่นที่เคยเชื่อมั่นตลอดมาที่จะคงอำนวยความยุติธรรมได้อย่างทั่วถึง เสมอภาค เป็นธรรม รวมถึงความเข้มงวดสร้างความปลอดภัยเมื่อเดินทางมาติดต่อราชการศาลเราพร้อมเป็นที่พึ่งประชาชนอย่างแท้จริงทุกด้าน และเป็นความยุติธรรมที่ให้ประชาชนเข้าถึงง่ายสอดรับกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของประชาชน” นายจีระพัฒน์ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์