ย้อนตำนาน “พล.อ.พัลลภ " บทสรุป “แมวเก้าชีวิต” พลิกข้าง สลับขั้ว

ย้อนตำนาน “พล.อ.พัลลภ " บทสรุป “แมวเก้าชีวิต” พลิกข้าง สลับขั้ว

"พล.อ.พัลลภ" อดีตทหารที่มีบทบาทในแวดวงกองทัพ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายครั้งหลายครา จนถูกขนานนามว่า“แมวเก้าชีวิต” และถูกมองเป็น ทหารแก่ที่ไม่มีวันตาย

ใครพูด “จริง-เท็จ” คงรู้กันอยู่เพียง 3 คน ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตแกนนำ จปร.รุ่น 7

หลัง “พล.อ.พัลลภ” ออกมาแฉ โดนคนแดนไกล “ทักษิณ ชินวัตร ” สั่งปลดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และไม่แจ้งเหตุผล เพราะไม่มีชื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคเพื่อไทย ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หลังได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นพ.ชลน่าน

เรียกว่างานเข้าพรรคเพื่อไทยจังๆ เพราะการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 ฐานให้คนนอกครอบงำ ทำให้สองนักร้อง ทั้ง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จ่อคิวยื่นฟ้อง กกต.ให้ยุบพรรค

ร้อนถึง “ทักษิณ” ต้องออกมาปฏิเสธผ่าน The Room 44 ไม่รู้เรื่อง พล.อ.พัลลภ ถูกขับออกจากพรรค เพราะไม่ได้คุยกันหลายปีแล้ว และเชื่อว่ามีบางพรรคได้ประโยชน์หากเพื่อไทยถูกยุบ

เช่นเดียวกับหมอชลน่าน รีบตั้งโต๊ะแถลง เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน พล.อ.พัลลภ ถูกปลดออกที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคตามหมายเลข P103820442 แบบตลอดชีพ และไม่เคยพูดว่าเป็นคำสั่งจากคนแดนไกล

เป็นที่รู้กันว่า “พล.อ.พัลลภ”เป็นอดีตทหารที่มีบทบาทสูงในแวดวงกองทัพ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายครั้งหลายครา จนถูกขนานนามว่า“แมวเก้าชีวิต” และถูกมองว่าเป็น ทหารแก่ที่ไม่มีวันตาย (Old soldiers never die)

“พล.อ.พัลลภ” เป็นแกนนำ จปร.รุ่น 7 รุ่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ในอดีตเคยเข้าไปปฏิบัติการลับในประเทศลาว ในฐานะหัวหน้าทีมภารกิจนอกราชการ ทั้งการซุ่มโจมตี ตัดเส้นทางลำเลียง ตัดกำลังข้าศึกในสงครามเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2508 รวมถึงปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศลาว

ส่วนแวดวงการเมือง “พล.อ.พัลลภ” เคยร่วมก่อ “รัฐประหาร” รัฐบาล พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็น “กบฏ” หรือเรียกว่า “กบฏยังเติร์ก” ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง พ.ศ.2530

ในปี 2547 “พล.อ.พัลลภ” ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่าใช้ความรุนแรงกรณี “มัสยิดกรือเซะ” หลังได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้อำนวยการเหตุการณ์ ด้วยการออกคำสั่งตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลบไปซ่อนอยู่ในมัสยิด จนมีผู้เสียชีวิต 33 ราย

เหตุคาร์บอมรถยนต์ “นายกฯทักษิณ” เมื่อปี 2549 ทำให้ พล.อ.พัลลภถูกปลดจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) รับผิดชอบงานด้านการเมืองและมวลชน หลังเจ้าหน้าที่จับกุมคนขับรถบรรทุกระเบิด และพบว่าเคยขับรถให้ “พล.อ.พัลลภ”

ถัดมา 1 เดือน เกิดเหตุรัฐประหาร 2549 พล.อ.พัลลภ ได้รับเชิญจาก หัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ให้เป็นที่ปรึกษา เนื่องจากทั้งสองรู้จักกันมานาน เคยทำงานลับด้วยกันในกัมพูชา และร่วมกันจัดระเบียบม้ง จ.สระบุรี ก่อนส่งไปอยู่สหรัฐ เมื่อปี 2546

พล.อ.พัลลภ ได้กลับเข้ามาทำงานใน กอ.รมน. อีกครั้ง หลังจาก พล.อ.สนธิ แต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการที่ปรึกษา กอ.รมน. ทำหน้าที่ที่ปรึกษา ผอ.รมน. คุมสวนรื่นฤดีแทนทั้งหมด

จากนั้น 2-3 ปี ท่าที “พล.อ.พัลลภ” เปลี่ยนไป โดยหันไปสนับสนุน “ทักษิณ” ท่ามกลางกระแสข่าวเดินทางไปพบที่ต่างประเทศหลายครั้ง รวมทั้งได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อมประกาศจัดตั้งกองทัพประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อสู้ แต่แนวคิดนี้ได้ถูกปฏิเสธจากสังคม ก่อนยุติบทบาทไป

ปี 2554 หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้ง พล.อ.พัลลภ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

กระทั่งเกิดเหตุการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2556 จนเข้าสู่ปี 2557 “พล.อ.พัลลภ” เข้าไปมีบทบาทในการนำกลุ่ม นปช.หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดรับสมัครสมาชิกเป็นการ์ดอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ ใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคอีสานที่ จ.มหาสารคาม ได้เพียง 2 เดือน จึงเกิด “รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ”

หลังรัฐบาลทหารประกาศจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2562 พล.อ.พัลลภ ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 34 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ตลอด 85 ปีชื่อ “พล.อ.พัลลภ”ไม่เคยห่างหายไปตามกระแส แต่การเปลี่ยนขั้วเลือกข้าง ไม่ว่าจะอยู่กับพรรคใด ฝ่ายใด มักจะถูกลดบทบาทในทุกครา