"วิลาศ" จี้ "เลขาฯสภาฯ" สอบงานสร้างรัฐสภาใหม่ เชื่อส่อทุจริต - ทำรัฐเสียหาย

"วิลาศ" จี้ "เลขาฯสภาฯ" สอบงานสร้างรัฐสภาใหม่ เชื่อส่อทุจริต - ทำรัฐเสียหาย

"วิลาศ" ร้อง "พรพิศ" สอบเอาผิดผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ส่อทำผิดสัญญา-ส่อทุจริตทำรัฐเสียหาย

         นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหนังสือถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีปูพื้นหินอ่อนดำในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่นำเข้าจากประเทศอินเดียในบริเวณโซนกลางระหว่าง Line 19 - Line 38 เป็นพื้นที่ประมาณ 33,000 ตารางเมตร ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกรัฐสภาและข้าราชการรัฐสภาว่า การปูพื้นดังกล่าว หินมีสีไม่เสมอกระดำกระด่าง จึงมีการตรวจสอบพบว่า ข้อสัญญาในหมวดที่ 10.2 งานพื้น เรื่องหินแกรนิตหรือหินทราย ข้อ 4 การติดตั้งและในข้อย่อย 4.1 มีข้อความ “แผ่นหินทั้งหมดก่อนการติดตั้ง จะต้องทำความสะอาด แล้วจัดเรียงแผ่นหินไว้บริเวณนั้น เพื่อให้ผู้ควบคุมงานตรวจสอบ จึงทำการติดตั้งได้ ” จากข้อ กำหนดดังกล่าวเห็นว่าผู้ควบคุมงานจะต้องตรวจสอบสภาพผิว ขอบแผ่น สีแผ่น เพื่อความกลมกลืนของโทน สีในหินชุดที่จะปู และการเคลือบน้ำยากันซึม แต่เนื้องานไม่ได้มาตรฐาน จึงขอให้ตรวจสอบว่า การปูพื้นหินอ่อนดังกล่าวถูกต้องตามสัญญาหรือไม่

        นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นขอให้ตรวจสอบว่าผู้รับจ้างได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อ 4.1 หรือไม่ อีกทั้งผู้ควบคุมงานได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถูกต้องหรือไม่ สีพื้นหินอ่อนดำกระดำกระด่างเหมาะสมกับอาคารรัฐสภาซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างกว่าสองหมื่นล้านบาทหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบด้วยว่าผู้รับจ้างในการปูหินดังกล่าวเป็นคู่สัญญากับสภาหรือเป็นผู้รับเหมาช่วงและหินดังกล่าวมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดจริง หากมีการ กระทำผิดระเบียบหรือกฎหมาย ขอให้ดำเนินการโดยเด็ดขาดทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป

       นายวิลาศ กล่าวด้วยว่าตนได้ยื่นหนังสืออีก 1 ฉบับขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เลขที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 สัญญาก่อสร้างกำหนดเวลาแล้วเสร็จ 900 วัน แต่มีการขยายสัญญา 4 ครั้ง จำนวน 1,864 วัน และจนถึงปัจจุบันใช้เวลาก่อสร้างรวมแล้วกว่า 3,000 วัน ยังไม่มีกำหนดแล้วเสร็จ ทั้งนี้มีข้อกล่าวหาว่างานก่อสร้างหลายเรื่องส่อทุจริต ทำผิดหลักการก่อสร้าง เช่น จ้างผู้ควบคุมงานหลังจากลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วหลายเดือน และยังมีอีกหลายเรื่องที่เชื่อว่าทำไม่ถูกต้องก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐ และที่สำคัญคือเป็นโครงการก่อสร้างที่มีผู้รับจ้างจำนวนมาก

 

           "ในบรรดาผู้รับจ้างเหล่านั้นเกือบทุกรายมีการกระทำผิดคือ จ้างผู้รับเหมาช่าง ซึ่งเป็นข้อห้ามที่สำคัญในทุกสัญญา อีกทั้งผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้างมีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบในกรณีดังกล่าว จึงขอให้ตรวจสอบผู้รับจ้างทุกราย หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญา อีกทั้งให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบเพื่อพิจารณาความผิด โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจการจ้างและกลุ่มบริษัทผู้ควบคุมงาน (ATTA) และทราบว่ามีบางคนกล่าวยืนยันหลายครั้งในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าไม่มีการจ้างผู้รับเหมาช่วง ซึ่งจะมีการร้องเรียนกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป" นายวิลาศ กล่าว.