แฟ้ม ป.ป.ช.ปี 65 ปิดจ๊อบ "4 คดีดัง" ลุ้น "บิ๊กเนม" ใครรอด-ใครร่วง?

แฟ้ม ป.ป.ช.ปี 65 ปิดจ๊อบ "4 คดีดัง" ลุ้น "บิ๊กเนม" ใครรอด-ใครร่วง?

ปี 65 ชี้ชะตา‘จำนำข้าว-สินบน’ ‘3 พี่น้องชินวัตร’ ลุ้นคดีจีทูจีภาค 2 - ‘สุริยะ’ จ่อคิวปมโรลส์ รอยซ์-ซื้อเครื่องบิน จับตา ‘อนุพงษ์’ รอด-ร่วง ม.157 ปมอนุมัติใช้ที่ดินป่าชุมชน

เปลี่ยนปฏิทินเข้าสู่ “ปีเสือ” 2565 อย่างเต็มตัว ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองยังคงร้อนแรงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว

แต่ประเด็นตรวจสอบ “การทุจริต” ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อมีรายงานว่า องค์กรอิสระสำคัญ ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียม “ปิดจ็อบ” คดีดังที่มีนักการเมืองระดับ “บิ๊กเนม” ถูกกล่าวหาให้เสร็จภายในปี 2565

เริ่มกันกับคดีที่หลายฝ่ายจับตามองอย่างมาก และเป็นหนึ่งในคดีที่ถูกหลายฝ่ายหยิบยกมาพูดถึงตลอดในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา นั่นคือกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้ปัจจุบันจำเลยในคดีดังกล่าวจะถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกกันไปแล้วหลายราย โทษจำคุกหนัก 30-40 ปี บางรายเฉียด 50 ปีก็ตาม วงเงินงบประมาณเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีการไล่ฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินคืน 

แต่นั่นเป็นเพียงเป็นแค่ “ภาคแรก” ของมหากาพย์การคอร์รัปชันเท่านั้น

คดีระบายข้าวจีทูจีในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินการทั้งสิ้น 10 สัญญา โปร่งใส 2 สัญญา สมัยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมว.พาณิชย์ 

ส่วนอีก 8 สัญญา ถูก ป.ป.ช. ไต่สวนพบว่า อาจมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยมีพฤติการณ์คือ การไม่ได้นำข้าวออกไปขายกับรัฐวิสาหกิจจีนจริง แต่นำข้าวดังกล่าวมาเวียนเทียนขายในประเทศ ในราคาต่ำกว่าตลาด โดยเอกชน “สยามอินดิก้า” ผ่านการไฟเขียวของ “นายใหญ่” ทำให้กลไกตลาดข้าวในประเทศเสียหาย ลุกลามบานปลายข้าวล้นโกดัง จนเป็นผลพวงให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

สำหรับคดีระบายข้าวจีทูจี “ภาคแรก” ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และศาลฎีกาฯ พิพากษาไปแล้ว จำนวน 4 สัญญา วงเงินงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท จำคุก “นักการเมืองดัง” ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (เป็น “คีย์แมนสำคัญ” แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างหลบหนีคดี) รวมถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ เช่น นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รวมถึงเอกชนสำคัญ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง

ทว่าเมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จำเลยสำคัญเหล่านี้กลับได้รับการพระราชทานอภัยโทษ โดยกลไกภายในของกระทรวงยุติธรรม ทำให้โทษจำคุกลดลงอย่างมาก บางรายเหลืออีกไม่กี่ปีจะได้ออกมาโลดแล่นภายนอก ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก

มีการตั้งคำถามถึงเงื่อนไขการอภัยโทษ ร้อนถึง “บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อตรวจสอบ และแก้ไขระเบียบการอภัยโทษทันควัน มีนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นหัวโต๊ะคอยคุมงาน

ส่วนคดีระบายข้าวจีทูจี “ภาคสอง” ป.ป.ช. ยังอยู่ระหว่างไต่สวน ความคืบหน้าขณะนี้ มีการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จเรียบร้อย เหลือเพียงชงเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น โดยมีผู้ถูกกล่าวหาระดับ “นักการเมืองดัง” อีก 3 ราย ได้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย น้องสาวนายทักษิณ และแกนนำกลุ่มวังน้ำยม (ต้นสังกัดทางการเมืองนายบุญทรง)

พฤติการณ์ตามทางไต่สวนพบว่า ป.ป.ช. ได้หลักฐาน “เชิงลึก” เป็นคลิปวีดีโอว่ามี “นักการเมืองชื่อดัง” วีดีโอคอลจากต่างประเทศมาสั่งการในเรื่องระบายข้าวจีทูจี โดยให้ซื้อขายข้าวผ่าน “เอกชน” บางราย โดยในห้องนั้นมี “บิ๊กการเมือง” ของ “พรรครัฐบาล” ขณะนั้น เข้าไปร่วมนั่งฟังด้วย

ก่อนจะเกิดกรณี “ทุจริตฉาว” อย่างที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาล จนเป็น “หลักฐานมัด” พฤติการณ์ของบุคคลที่ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม

โดยเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา “บิ๊กเนม” สำคัญในคดีนี้ไปแล้ว เหลือเพียงให้เจ้าตัวมารับทราบข้อกล่าวหา ทว่าบางรายไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นคาดว่าจะสรุปสำนวนการไต่สวนให้แล้วเสร็จได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 หรือประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. 2565

ไม่ใช่แค่คดีค้างเก่าสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ยังมีคดีใหม่ที่ปรากฏชื่อ “รัฐมนตรี” สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเช่นกัน ได้แก่ คดีกล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับพวกรวม 6 ราย กรณีกล่าวหาว่า พล.อ.อนุพงษ์ ลงนามคำสั่งอนุมัติให้บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณะจำนวน 31 ไร่เศษ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนขยายเขตโรงงานโดยมิชอบ และไม่ทำประชาพิจารณ์กับชุมชนก่อน แต่กลับปรากฎในรายงานของกระทรวงมหาดไทยว่ามีการทำประชาพิจารณ์แล้ว

คดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ (มีกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายเป็นองค์คณะ) เพื่อดำเนินการไต่สวน ปัจจุบันความคืบหน้ากรณีนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลพยานหลักฐานเอกสาร เพื่อดูว่าผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย ผิดตามข้อกล่าวหาอะไรบ้าง เช่น พล.อ.อนุพงษ์ จะผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องรอดูการพิจารณาขององค์คณะไต่สวนก่อน

อีกคดีที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว กรณี “สินบนข้ามชาติ” บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดซื้อเครื่องยนต์จาก “โรลส์ รอยซ์” ในก้อนที่ 3 ระหว่างปี 2548-2549 วงเงินประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (ราว 254 ล้านบาท) โดย ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อดำเนินการไต่สวนเช่นกัน เบื้องต้นมีการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหารวม 26 ราย โดยปรากฏชื่อของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทว่า ป.ป.ช. ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแค่เพียง 10 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีชื่อของนายสุริยะในนาทีสุดท้าย โดยคดีนี้ ป.ป.ช. ไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว เหลือเพียงชงเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาลงมติอย่างหนึ่งอย่างใด 

อย่างไรก็ดีผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้บางรายได้ยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม เพื่อขอเข้าชี้แจงอีกครั้ง จึงต้องรอให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงให้เสร็จเสียก่อน

แต่ “ชนักติดหลัง” ของนายสุริยะ ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนกรณีกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 5 ราย กรณีการอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น โดยคดีนี้ปรากฏชื่อนายสุริยะ เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาด้วย ดังนั้นต้องรอดูความคืบหน้าในปี 2565 ว่าจะมีบทสรุปลงเช่นไร

ในส่วนคดีกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ เท่าที่สืบค้นขณะนี้พบว่าเหลืออยู่กรณีเดียวที่ดำเนินการไต่สวน ตามที่ฝ่ายค้านยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ให้ไต่สวนกรณีการบริหารจัดการโควิด-19 ล้มเหลว และการใช้เงินกู้เพื่อเยียวยาประชาชนในช่วงที่ผ่านมาโดยมิชอบหรือไม่ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด

ทั้งหมดคือคดีความสำคัญที่ปรากฏชื่อ “บิ๊กเนม” คนการเมืองเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ผ่านมาถึงยุค “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ที่คาดว่าจะมีบทสรุปจากหน่วยงานตรวจสอบในปี 2565