3 พรรคดังจ่อขอบเหวยื่น “ยุบพรรค” ลุ้น “กกต.-ศาล รธน.”วินิจฉัยปี 65

3 พรรคดังจ่อขอบเหวยื่น “ยุบพรรค”   ลุ้น “กกต.-ศาล รธน.”วินิจฉัยปี 65

ทั้งหมดคือ 3 พรรคการเมืองร้อนอยู่ขอบเหวการเมืองไทย รอลุ้นการวินิจฉัยของ “กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ” ในช่วงปี 2565 กันต่อไป

แม้ในปี 2565 จะถูกหลายฝ่ายตั้งสมญาว่าเป็น “ปีแห่งการเลือกตั้ง” ก็ตาม แต่ในอีกมุมอาจเป็นปีแห่งการ “ยุบพรรค” ก็เป็นไปได้

เพราะยิ่ง “การเมืองร้อน” ยิ่งมีคดีความที่เตรียมร้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ “ยุบพรรคการเมือง” หลายกรณีด้วยกัน

เริ่มต้นด้วยกรณีแรก เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมาปรากฏคลิปวีดีโอ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี “วีดีโอคอล” เข้ามาในงานเลี้ยงวันเกิดของ “เกรียง กัลป์ตินันท์” แกนนำ ส.ส.อีสาน และ “เด็กปั้น” ของ “เจ๊ ด.” ผู้กว้างขวางในเชียงใหม่ และพรรคเพื่อไทย โดยตอนหนึ่งของคลิปปรากฏคำถามของ “เกรียง” ถึง “ทักษิณ” ว่าขอให้ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภริยามาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ โดยนายทักษิณตอบว่า คุณหญิงอายุมากเกินไป และไม่ขอลงการเมือง ไม่ถนัดปราศรัย

ทำเอา “ฝั่งตรงข้าม” เต้นกันเป็นแถบ ๆ ถึงกับบอกว่ากรณีนี้อาจเข้าข่าย “ยุบพรรค” เพื่อไทยได้เนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (4) ที่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาก้าวก่ายภายในพรรค ถือว่าเข้าข่าย “ครอบงำ” พรรคการเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ดี “ครุฑกฎหมาย” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า อาจไม่เข้าข่ายถึงขั้นยุบพรรค เพราะในคลิปเป็นแค่การ “แสดงความเห็น” ของนายทักษิณ และสถานที่พูดคุยเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่ที่ทำการพรรค ทว่านายสิระ เจนจาคะ (ที่ยังเป็น ส.ส. และเป็นประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขณะนั้น) เตรียมเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบุคคลที่ปรากฏในคลิปมาชี้แจงข้อเท็จจริง

ต่อมามีบุคคลไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. ให้ดำเนินการไต่สวนกรณีดังกล่าวทันควัน โดย กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. (ขณะนั้น) ระบุว่า ขอตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวก่อน

ไม่ใช่แค่กรณีนี้ที่ “พรรคเพื่อไทย” ต้องเฉียด “ปากเหว” แห่งการถูกยื่นยุบพรรค ยังมีกรณี “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ขึ้นปราศรัยบนเวทีประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2564 อาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย เพราะ “หมอเลี้ยบ” เคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกมาแล้ว ในคดีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 2 คดี ซึ่งอาจเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงอาจเข้าข่าย “ครอบงำพรรค” ได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณี “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีตบิ๊กเนมค่ายสีฟ้า ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมพลิกขั้วไปซบพรรคเพื่อไทย มีการปล่อยข่าวว่า เจ้าตัวอาจบินไป “ดูไบ” เพื่อพูดคุยกับ “ทักษิณ” ด้วยตัวเอง เพื่อขอตำแหน่งในพรรค รวมถึงเกลี่ย “ปาร์ตี้ลิสต์” ใหม่ ทำให้ “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ต้องออกโรงปฏิเสธกระแสข่าวนี้ และยืนยันว่าการคัดเลือกส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น บุคคลภายนอกไม่มีสิทธิ์

ยังไม่นับกรณี “ทักษิณ” ออกมาแสดงความเห็น “ไฟเขียว” ให้แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะ “ตีเหล็กตอนร้อน” เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าการปราศรัยของ 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” มีลักษณะ “ล้มล้างการปกครอง” ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากเนื้อหาการปราศรัยมีการระบุถึงการยกเลิกมาตรา 112 และจัดตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่

แม้ว่าสุดท้าย “นายใหญ่ดูไบ” จะกลับลำเรื่องนี้ทันควันเมื่อเกิดกระแสตีกลับ แต่บรรดา “นักร้อง” มืออาชีพได้เก็บข้อมูลเข้า “บัญชีหนังหมา” ไว้เรียบร้อย จะไปยื่นเรื่องต่อ กกต.เพื่อดำเนินการวินิจฉัยวันไหนก็เท่านั้น

ถัดมาถึงคิวของ “ค่ายส้มหวาน” พรรคก้าวไกล ที่มีสถานะ “สุ่มเสี่ยง” เสียยิ่งกว่า “พรรคเพื่อไทย” เสียอีก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ส.หลายคนของพรรคคืออดีต “แกนนำม็อบ” มาก่อน และในช่วงการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ระหว่างปี 2563-2564 ที่ผ่านมา แกนนำของพรรค รวมถึง ส.ส.บางคน แสดงทัศนคติเกี่ยวกับสถาบันฯ และไปร่วมชุมนุม ช่วยเหลือ รวมถึงประกันตัวแกนนำม็อบหลายครั้ง

แรงสะเทือนสำคัญที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคคือ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงที่ผ่านมา “ค่ายส้มหวาน” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ “ล้มล้างการปกครอง” อาจเข้าข่ายร่วมสนับสนุนการกระทำความผิด และนำไปสู่การ “ยุบพรรค” ได้ ปัจจุบัน “นักร้อง” มืออาชีพบางคนได้ยื่นเรื่องต่อ กกต.เพื่อให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้แล้วเช่นกัน

ตัดภาพกลับมาที่ “พรรคจัดตั้งรัฐบาล” อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ใช่ว่าจะรอดข้อครหานี้ พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้ “สิระ เจนจาคะ” หัวหมู่ทะลวงฟันแห่ง พปชร.พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ลงโทษจำคุกคดีฉ้อโกง กระทำความผิดต่อทรัพย์โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้เกิดการเรียกร้องว่า เมื่อนายสิระรู้ตัวว่าไม่มีคุณสมบัติลงสมัรรับเลือกตั้งอยู่แล้ว ไฉนคณะกรรมการบริหารพรรค “ชุดแรก” ถึงไฟเขียวให้นายสิระลงชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม.เขตหลักสี่-จตุจักรได้

ร้อนไปถึงหัวหน้าพรรคในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ได้แก่ อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าวที่มี “4 กุมาร” เป็นแกนหลักทันที ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “2 กุมาร” ทั้งนายอุตตม และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เตรียมจัดตั้งพรรคใหญ่ “สร้างอนาคตไทย” สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าอยู่ตอนนี้

ความคืบหน้าล่าสุด “นักร้อง” คนดัง “ศรีสุวรรณ จรรยา” ไปยื่นเรื่องร้องเรียนแก่ กกต. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 120 หรือไม่ และประเด็นนี้อาจลุกลามบานปลายไปสู่การยื่น “ยุบพรรค” พปชร.ด้วยหรือไม่

ทั้งหมดคือ 3 พรรคการเมืองร้อนอยู่ขอบเหวการเมืองไทย รอลุ้นการวินิจฉัยของ “กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ” ในช่วงปี 2565 กันต่อไป