โหมกระแส “นายกฯ 8 ปี”  เร่งวันอับปาง “สภา-รัฐบาล”

โหมกระแส “นายกฯ 8 ปี”   เร่งวันอับปาง “สภา-รัฐบาล”

วาระ8ปีของ "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกจุดกระแสให้เป็นประเด็นวิจารณ์ทางการเมือง ส่งท้ายปี64 และเชื่อว่าตลอดปีหน้า 2565 จะกลายเป็นเรื่องร้อนทางการเมือง ที่มีผลกระทบไปทั้งองคาพยพของรัฐบาล

          หลัง “ฝ่ายกฎหมาย” ของ สภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย ต่อประเด็นวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่สรุปความได้ว่า 8 ปีที่หมายถึงคือ นับแต่ปี 2562 ยาวถึงปี 2570 และความตามมาตรา 264 ที่ให้นับ “รัฐบาล คสช.” เป็น “รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560” ใช้ไม่ได้กับรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์” เพราะเป็นบทชั่วคราว

 

          ทำให้การเมืองฝ่ายต่างๆ ออกมาให้ความเห็นว่า นี่คือชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และเป็นการตีตั๋วเพื่อให้ “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันได้อยู่ยาว 

 

          ขณะที่ “นักกฎหมาย” อย่าง “เจษฎ์ โทณะวณิก” ที่เคยร่วมวงร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกมาโต้แย้งว่า เป็นความเห็นที่ไม่เหมาะสม

 

          “อ.เจษฎ์” เคยให้ความเห็นในหลายครั้งต่อเรื่อง วาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ประยุทธ์” ว่า ต้องสิ้นสุดลงในปี 2565 เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคท้าย กำหนดว่า นายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังพ้นตำแหน่ง หรือช่วงระยะรักษาการ

โหมกระแส “นายกฯ 8 ปี”   เร่งวันอับปาง “สภา-รัฐบาล”

          อีกทั้ง มาตรา 264 ยังบัญญัติคำแบบเฉพาะเจาะจงว่า คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน “อยู่ก่อน” วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งชี้ได้ว่า เป็น คณะรัฐบาลชุดเดียวกัน และ “พล.อ.ประยุทธ์” ฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องถูกนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 และต้องสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในช่วงสิงหาคม 2565

          ขณะที่ความเห็น ที่อ้างว่ามาจากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ และเสนอให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ พิจารณา ซึ่ง “ชง” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาวนั้น “ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะผู้ใกล้ชิดกับ “นายหัวชวน” บอกว่า เป็นการทำความเห็นทางกฎหมาย “ส่วนบุคคล” ของ ฝ่ายนิติกร เมื่อเจอประเด็นที่น่าสนใจของสังคม จะทำข้อสรุปทางกฎหมาย และรายละเอียดเสนอ “ประธานสภาฯ” ให้ทราบ และ “ชวน”​ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

โหมกระแส “นายกฯ 8 ปี”   เร่งวันอับปาง “สภา-รัฐบาล”

          ขณะที่ “ฝ่ายกฎหมาย” ที่ทำหน้าที่ พิจารณาข้อกฎหมายเพื่อเสนอ ประธานสภาฯ คณะที่ทำงานอย่างเป็นทางการ มี “พรพิศ เพชรเจริญ” เลขาธิการสภาฯ เป็นประธานคณะทำงานฯ ไม่ทราบถึงรายละเอียดของความเห็นต่อ “วาระ 8 ปีนายกฯ”

 

          อย่างไรก็ดี เมื่อสืบสาวราวเรื่อง จึงพบว่าเป็นข้อสั่งการตามสายบังคับบัญชาของ “รองเลขาธิการสภาฯ” เพื่อให้ลูกน้องมีผลงาน ขณะที่ “ลูกน้อง” ซึ่งเป็นฝ่ายนิติกรนั้น ได้ทำความเป็นแบบสรุปรวบรัด ไม่รอบคอบในรายละเอียด รวมถึงแย้งกับความเห็นทางกฎหมายของ “อดีต กรธ.” และ นิติกรของสภาฯ ที่เคยทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ชี้วาระดำรงตำแหน่งไปในทางตรงกันข้าม

โหมกระแส “นายกฯ 8 ปี”   เร่งวันอับปาง “สภา-รัฐบาล”

          ทั้งนี้ “ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ” ชุดที่ทำงานให้ “ชวน” ไม่สามารถทำความเห็นในประเด็นนี้ได้ เพราะมองในหน้าที่ปฏิบัติ ต่อการชี้ขาดว่า วาระ 8 ปีของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะสิ้นสุดเมื่อใด อยู่กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่ใช่ “สภาฯ”

 

          แม้ขั้นตอนปฏิบัติจะเกี่ยวข้องกับ "ประธานสภาฯ​"  อยู่บ้าง คือ เป็นบุรุษไปรษณีย์ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามที่มี ส.ส.เข้าชื่อ ไม่น้อยกว่า 1 ใน10 เพื่อร้องขอให้ให้ “ประธานสภาฯ” ส่งเรื่องร้องให้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็น - ปัญหา

          ส่วนในแง่มุมทางกฎหมาย “คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ประธานสภาฯ” ที่เห็นแย้งกับความเห็น “นิติกร” ที่ให้อยู่ถึงปี 2570 นั้น มีคำอธิบายเช่นเดียวกับ “อ.เจษฎ์” ที่มองว่าต้องเหมารวมเวลาดำรงตำแหน่ง “ประยุทธ์” ในเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ปี2557 เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 กำหนดความแบบเฉพาะเจาะจงไว้

 

          ส่วนที่ “ความเห็นนิติกร” ที่ระบุว่า เงื่อนไข 8 ปีควรใช้กับรัฐบาลที่มาตาม “รัฐธรรมนูญ 2560” เท่านั้น เพราะเนื้อหาคือการจำกัดสิทธิบุคคล และการเขียนกฎหมายในทางเป็นโทษจะใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ และการนำมาใช้บังคับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดหลักกฎหมายนั้น

 

          ถูกตั้งคำถามกลับเช่นเดียวกันว่า ถ้าใช้ในทางที่เป็นโทษไม่ได้ ทำไม “สิระ เจนจาคะ” ต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส. เพราะขาดคุณสมบัติการลงเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่เรื่องต้นเหตุเกิดมากว่า 30ปี และรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพิ่งมาเขียนไว้

 

          คำอธิบายว่าด้วยการจำกัดสิทธิ และห้ามลงโทษย้อนหลัง คือ การนำหลักเบื้องต้นของกฎหมายอาญามาอธิบายอย่างตื้นเขินและขาดรายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ เจตนารมณ์และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า การจำกัดการดำรงตำแหน่ง 8ปี นั้นเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ที่นำไปสู่วิกฤติทางการเมือง

โหมกระแส “นายกฯ 8 ปี”   เร่งวันอับปาง “สภา-รัฐบาล”

          อย่างไรก็ดี เมื่อเอกสารความเห็นของ “นิติกร สภาฯ”​ ถูกเสนอในแฟ้มและวางไว้บนโต๊ะ “ประธานสภาฯ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง และถูกโยงเป็นการสมรู้ร่วมคิด ให้ “นายกฯ-ประยุทธ์” อยู่ยาว

 

          สิ่งที่อาจตามมาคือการโยนฟืนเข้ากองไฟเพื่อโหมกระแสต้านรัฐบาล และลามถึงการไม่ยอมรับ “สภา” จนสั่นคลอนเสถียรภาพของ “รัฐบาล” ที่พยายาม “ซื้อเวลา” เพื่อ “ยื้อเก้าอี้ประยุทธ์” และในที่สุดอาจ “อับปาง” ตามกันไปในที่สุด.