“ธรรมนัส” รับภาพแตกแยกใน พปชร.คือจุดอ่อน - “บิ๊กป้อม” เป็นศูนย์รวมแก้ปัญหา

“ธรรมนัส” รับภาพแตกแยกใน พปชร.คือจุดอ่อน - “บิ๊กป้อม” เป็นศูนย์รวมแก้ปัญหา

“ธรรมนัส” ยอมรับภาพแตกแยกภายใน “พปชร.” คือจุดอ่อน แต่ “บิ๊กป้อม” เป็นศูนย์รวมแก้ไขปัญหา มอบหมายงานให้คนดูแลทั้ง “ใต้ดิน-บนดิน” เชื่อมั่นจะเป็นสถาบันการเมืองเข้มแข็ง ยันนโยบายไม่ขายฝัน จับต้องได้

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางการทำงานของพรรคในปีหน้าว่า นโยบายของพรรคที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 หากถามว่าเป็นนโยบายขายฝันหรือไม่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่นโยบายขายฝัน เป็นนโยบายที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องของ สปก. ซึ่งกำกับดูแลเองในขณะดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ การออกประกาศ 2 ฉบับ ว่าด้วยกิจการสนับสนุนและกิจการต่อเนื่องทำให้แก้ปัญหาการใช้ที่ดินของรัฐในรูปแบบของเขตปฏิรูปที่ดินตามที่พรรคได้หาเสียงไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เป็นนโยบายที่เริ่มชินกับวิถีชีวิตของคนไทย เราต้องการทำในเรื่องของการนำประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการ เพราะคนไทยทุกคนต้องมีสวัสดิการ แต่สวัสดิการจะไม่เหมือนกันในกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ หรือคนทั่วไปจะได้รับสวัสดิการอย่างไร นี่คือนโยบายที่เราเขียนเอาไว้ เราเอาเฉพาะกลุ่มที่สังคมต้องดูแลเป็นพิเศษ ทั้งเด็กแรกเกิด คนชรา คนพิการ หรือผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นในรอบปีที่ผ่านมานโยบายของพรรคดีอยู่แล้ว

 “ที่ผ่านมาผมคุยกับทูตหลายประเทศ ส่วนใหญ่เขาจะถามว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นอย่างไร เราก็อธิบายตามความเป็นจริงว่าพรรคนั้นดีอยู่แล้ว แต่ภาพที่เห็นว่าทำไมพรรคเกิดความแตกแยกมาโดยตลอดไม่รู้จักจบ มันเป็นเรื่องของหัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มมากกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ รวมถึงผู้ที่เคยสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐและกำลังจะสมัครในนามพรรค ต่างมีความสมัครสมานสามัคคีกัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน ตามที่หัวหน้าพรรคกำหนดให้เดิน แต่กลุ่มในพรรคถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของทุกพรรคอยู่แล้วที่จะเกิดความขัดแย้งกัน เกิดปัญหาความไม่ลงตัวกันในสิ่งที่แต่ละกลุ่มต้องการซึ่งหมายถึงหัวหน้ากลุ่ม หรือไม่ก็เป็นเรื่องนโยบายที่ไปรับฟังมาผิดๆ ถูกๆ ก็นำมามีปัญหากันในพรรค ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง พรรคเราเป็นพรรคใหญ่ เหมือนคนในครอบครัว พี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทะเลาะแล้วควรจะให้คนภายนอกรู้หรือไม่ หลายพรรคก็มีความขัดแย้งภายใน แต่เขาไม่ได้นำออกมาให้ภายนอกรับรู้ แต่พรรคเราเป็นพรรคที่แต่ละคนต่างมีสื่อในมือเยอะ มีข่าวอะไรหน่อยก็เป็นข่าว นี่คือปัญหาของพรรคพลังประชารัฐ แต่สำหรับผมจะเน้นเดินหน้าหาสมาชิก หาตัวแทนเขต หาว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งส่วนใหญ่ความนิยม ความมั่นใจในตัวผู้นำคือหัวหน้าพรรคและตัวผู้นำหลายๆคน รวมถึงตัวผมด้วย ผมมั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐยังขายได้” เลขาธิการ พปชร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคพลังประชารัฐ จะสามารถเป็นสถาบันการเมือง ในอนาคตได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในผู้นำของตน นั่นคือหัวหน้าพรรค (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หัวหน้าพรรคมักจะพูดเสมอว่า เรื่องภายในพรรค หรือเรื่องการเมืองภายในพรรคเป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคจะจัดการเอง ส่วนเรื่องการบริหารเป็นเรื่องของนายกฯ สำหรับในพรรค ตั้งแต่เป็นเลขาธิการพรรคมา ทำงานตลอด ไม่เคยมีวันหยุด เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มอบหมายงานให้หลายคนดูแลทั้งบนดิน และใต้ดิน เชื่อมั่นว่าพรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นสถาบันการเมืองที่มีความเข้มแข็ง

เมื่อถามว่าประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของพรรค พปชร.อย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จุดแข็งของเราคือ ส.ส.ของพรรคและว่าที่ผู้สมัคร มีความมั่นใจในตัวหัวหน้าพรรค เพราะหัวหน้าพรรคไม่เคยทำอะไรแล้วไม่สำเร็จ เรื่องที่ตอบว่าไม่รู้ ๆนั้นท่านรู้หมด ขึ้นอยู่ที่ว่าจะตอบหรือไม่ตอบ และรู้จักใช้คนทำงาน ส่วนตนและนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค มีหน้าที่ดูภาพรวม ทำหน้าที่ไปลุยพื้นที่ เหมือนไปตีเมืองขึ้น จากนั้นจะมีคนมาดูแลหรืออาจจะตั้งให้คนในพื้นที่นั้นๆมาดูต่อ เราไม่ได้ดูแลทั้งประเทศ แต่ดูภาพรวมในฐานะเลขาฯ เดินทางไปแต่ละจังหวัดและเปิดตัว ไม่ใช่ว่าตนต้องดูทั่วประเทศอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ตนไปอีสานเสร็จแล้วก็หาตัวแทนดูแล และหัวหน้าพรรคก็จะจัดคนมาดูแลอีกที อย่าง กทม.ได้จัดเข้าสู่ระบบแล้วก็ได้ส่งต่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งหัวหน้าได้ให้คนมาดูแลแล้ว ทั้งนี้แล้วแต่หัวหน้าจะจัดใครมาดูแล ไม่ใช่ตนต้องดูแลทั่วประเทศทีเดียวมันเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทศกัณฐ์

เมื่อถามย้ำว่าจุดอ่อนของพรรคเป็นอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ยอมรับว่าภาพที่สะท้อนให้สังคมได้เห็นคือภาพของความแตกแยก เราต้องแก้ให้ได้ว่าถ้าเห็นต่างกันก็ควรจะจบในพรรคไม่ต้องให้สื่อไปนำเสนอว่าแตกแยกกันจริงๆ เช่น การประชุมบริหารพรรคเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา เรายิ้มแย้มกันทุกคนไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร นี่คือภาพจริงที่เกิดขึ้น แต่บางครั้งอาจจะเป็นลูกน้อง เช่น ลูกน้องตนเอาข่าวไปเสนอทำให้เกิดความเสียหาย ลูกน้องของคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ที่รักลูกพี่มากเกินไปนำไปเสนอ ทำให้เกิดผลเสียกับภาพลักษณ์ของพรรค จึงเป็นจุดอ่อนของพรรค

“ความจริงเฉพาะ ส.ส.ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ว่าอยู่ที่หัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มมากกว่า และทุกครั้งที่สงบได้เพราะท้ายที่สุดแล้ว พล.อ.ประวิตร มานั่งหัวโต๊ะก็ทำให้จบ พวกเราพยายามคุยกันนอกรอบ ในเรื่องความแตกแยก เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์พรรคเสียไปมากกว่านี้ และผมพร้อมคุยกับทุกกลุ่มและก็ได้คุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว” เลขาธิการ พปชร.กล่าว