จุดต่าง 2 ร่าง “กติกาเลือกตั้ง” ชนวนแตกหัก “พรรคร่วม”

จุดต่าง 2 ร่าง “กติกาเลือกตั้ง”  ชนวนแตกหัก “พรรคร่วม”

การเตรียมตัว สู่ "สมรภูมิเลือกตั้ง" ได้เริ่มขึ้นแล้ว นาทีนี้ต้องจับตา การแก้ไข "กฎหมายลูก" 2ฉบับ ที่ล่าสุดมีประเด็นที่ "คนการเมือง" เห็นต่าง เพราะต้องการเขียนกติกาใหม่ ที่เอื้อประโยชน์-ลดการเอาเปรียบ ให้มากที่สุด

          แนวโน้มของ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูก ที่ใช้ในการเลือกตั้งหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกปรับแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะมี 4 กลุ่ม ที่เสนอให้ “รัฐสภา” พิจารณา

 

          ได้แก่ พรรคเพื่อไทย , พรรคร่วมรัฐบาล นำโดย “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-พรรคเล็กร่วมรัฐบาล” , พรรคฝ่ายค้านนำโดย "ก้าวไกล-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ” และ คณะรัฐมนตรีที่เสนอตามความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

          โดยขณะนี้ทุกฉบับจากทุกกลุ่มยกร่างเนื้อหาไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการทำตามขั้นตอนเสนอต่อรัฐสภา เว้นแต่ “พรรคเพื่อไทย” ที่นำยื่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จุดต่าง 2 ร่าง “กติกาเลือกตั้ง”  ชนวนแตกหัก “พรรคร่วม”

          ตามขั้นตอนการพิจารณาจะยังไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระทันที เพราะยังมีขั้นตอนสำคัญ คือ 1. เสนอให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และะรมว.กลาโหม ลงนามรับรอง เพราะ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน มีการใช้งบประมาณตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ฝ่ายรัฐบาล” รับรู้ รับทราบ เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

          ต่อมาคือ 2. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยชั้นนี้มีข้อตกลงว่าจะให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้จัดการรับฟังความเห็นภายใต้ระยะเวลา 20 วัน

 

          โดยไทม์ไลน์ที่ได้จากวงหารือตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล กับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ต้นเดือนมกราคม 2565 “นายกรัฐมนตรี” ลงนามรับรองกฎหมายการเงิน , กลางเดือนมกราคม 2565 “คณะรัฐมนตรี” เสนอ 2 ร่างพ.ร.ป. ต่อรัฐสภา,  ปลายเดือนมกราคม 2565 กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนตามร่าง พ.ร.ป.ที่ ส.ส.เสนอแล้วเสร็จ และจัดทำสรุปรายงานเสนอต่อรัฐสภา

 

          ไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รัฐสภาจะพิจารณาในวาระแรก - รับหลักการและตั้งกรรมาธิการฯ พิจารณาตั้งแต่ , กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม 2565 จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง และวาระสาม เมื่อผ่านวาระสาม รัฐสภาต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ให้ความเห็น หากไร้ปัญหาจะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมายที่มีไทม์ไลน์สิ้นสุดที่เดือนกรกฎาคม 2565

จุดต่าง 2 ร่าง “กติกาเลือกตั้ง”  ชนวนแตกหัก “พรรคร่วม”

          จากการประเมินเบื้องต้น เชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะรายละเอียดของร่างแก้ไขจากพรรคเพื่อไทยล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกัน และร่างของ กกต. แม้จะถูกยึดให้เป็นฉบับหลักพิจารณา แต่หลักการไม่ได้จำกัดเนื้อหาที่แก้ไข ที่พรรคการเมืองต้องการ

 

          อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอย่าลืมว่าการพิจารณา “ร่างพ.ร.ป.” จำเป็นต้องให้สิทธิ “วุฒิสภา” พิจารณาร่วมด้วย และกฎหมายลูกที่ใช้ในการเลือกตั้งซึ่งมีนักการเมือง มีฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และ เสียประโยชน์

 

          ประเด็นสำคัญที่ถูกไฮไลต์แต่ไก่โห่ คือ “เบอร์ของผู้สมัครส.ส.” ที่ปัจจุบันมีความต่าง คือ “กกต. - เพื่อไทย- ก้าวไกล” เสนอให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้ง เลือกตั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ แต่ “พรรคร่วมรัฐบาล” กลับเห็นว่า "ควรแยกเบอร์"

          โดย “นิกร จำนง” บอกเหตุผลของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 วรรคแรก กำหนดว่า “พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ” โดย คำว่า “แล้ว” ตามกฎหมาย หมายถึง ต้องรอจนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง

จุดต่าง 2 ร่าง “กติกาเลือกตั้ง”  ชนวนแตกหัก “พรรคร่วม”

          ดังนั้นหากต้องรอเบอร์ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง เพราะต้องยึด “เบอร์บัญชีรายชื่อ” เป็นหลัก จะทำให้ "เสียขนบการหาเสียงเลือกตั้ง"

 

          และ กรณียึดเบอร์เดียวกัน จะสร้างความยุ่งยาก สับสน ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันกาบัตรได้ เพราะความเป็นจริง ทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ทุกเขตเลือกตั้ง ดังนั้นสภาพของบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดไม่มีผู้สมัคร อาจสร้างความสับสนให้ประชาชนได้

 

          ดังนั้นหากจะใช้เบอร์เดียวทั้งเขตทั้งปาร์ตี้ลิสต์ ทางออกคือแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 90 หากไม่แก้ และกฎหมายลูกเขียนให้ใช้ “บัตร 2 ใบใช้เบอร์เดียวกัน” ส่อเค้าจะถูกศาลรัฐธรรมนูญท้วงติงภายหลัง และมีปัญหายุ่งยากตามมา

 

          อีกประเด็นคือ “การเลือกตั้งขั้นต้น” ที่ทุกพรรคเห็นว่าควรแก้ไข โดยคงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกผู้สมัครไว้ ผ่านการแสดงความเห็นในเวทีผู้แทนพรรคประจำจังหวัด แต่ตัดสิทธิ "การลงคะแนน”

 

          เพราะเห็นตรงกันว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ ไม่ตอบโจทย์ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงได้ และมองว่าไพรมารี่โหวต ที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบันกำหนดเป็นได้แค่ “พิธีกรรม”

 

          แต่ “ฝั่งส.ว.” ที่ในบทบาท เคยเป็น “สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ฐานะผู้ทำคลอด พ.ร.ป.พรรคการเมือง และพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับปัจจุบันจะยอมเห็นคล้อยกับ “ส.ส.” หรือไม่ เพราะเจตนาตั้งต้นคือ การขจัดการครอบงำของนายทุน-ผู้มากอิทธิพลในพรรค ที่ทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นบริษัทค้าประโยชน์ ไม่ใช่รวมกันทำงานเพื่อประชาชน

 

          สิ่งที่ต้องจับตาอีกประเด็นคือ ข้อเสนอของ “พรรคก้าวไกล” ที่ริบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง และเพิ่มบทลงโทษ “ผู้จัดและควบคุมการเลือกตั้ง” ที่ทำหน้าที่ไม่สุจริต เพราะมองว่าการเลือกตั้ง ปี2562 กกต. มีปัญหาการทำงาน โดยเฉพาะการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อให้บางพรรคการเมือง

จุดต่าง 2 ร่าง “กติกาเลือกตั้ง”  ชนวนแตกหัก “พรรคร่วม”

          ดังนั้นภายใต้สาระของร่างแก้ไขในชั้น “กรรมาธิการ” คงฟาดแบบไม่ไว้หน้า ดีไม่ดี อาจถึงขั้นแตกหัก หากกติกาที่แก้ใหม่นั้นทำให้ ฝ่ายตนเสียเปรียบสุดๆ ในสมรภูมิเลือกตั้ง​ แม้ว่าปัจจุบันจะมีสถานะเป็น “พรรคร่วม” ทำงานในสภาฯ ก็ตาม.