ร้องผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ป.ป.ช.-สภาฯ สอบปมลดโทษ "คดีทุจริต"

ร้องผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ป.ป.ช.-สภาฯ สอบปมลดโทษ "คดีทุจริต"

ถึงคิว “ศรีสุวรรณ” ลุยร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่ง “ศาล รธน.” วินิจฉัย 5 “พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ” ลดโทษนักการเมือง “คดีทุจริต” ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หวั่นเป็นช่องโหว่ฟอกตัวนักการเมือง-ขรก.โกง “วัชระ” ลุยยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน “หมอตุลย์” ร้อง ปธ.สภาฯ ตั้ง กมธ.สอบขั้นตอนการขออภัยโทษ

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ 5 ฉบับที่ออกมาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63 หรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการคัดค้านการลดโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการจัดชั้นนักโทษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม แม้นายกรัฐมนตรีจะตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการและการจัดชั้นนักโทษ รวมถึงให้ทำหน้าที่เสนอแนะว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์อะไร อย่างไร ในการขอพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อๆ ไป แต่ก็ยังไม่อาจเชื่อใจได้ว่าจะมีบทสรุปออกมาเป็นเช่นใด และคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่มี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 จะเห็นชอบด้วยหรือไม่

“ขณะนี้มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นมา มีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งการพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณีในวาระสำคัญของบ้านเมือง ที่ทุกรัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่เมื่อพิจารณาบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ ต่าง ๆ ข้างต้นทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาพบว่า มีการสอดแทรกหลักเกณฑ์และความผิดในบางความผิดที่อาจจะไม่เหมาะสม อาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 63 อันไม่ควรที่จะได้รับการอภัยโทษมารวมอยู่ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วย อาทิ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 230(1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ 5 ฉบับ ที่ออกมาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้อำนาจตามความใน มาตรา 175 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และ มาตรา 63 หรือไม่ เพื่อยับยั้งกระบวนการฟอกตัวนักการเมืองและข้าราชการขี้โกง มิให้ต้องโทษเต็มจำนวนตามที่ศาลมีคำพิพากษาต่อไป

  • “วัชระ” ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวนด้วย

วันเดียวกัน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก กรณีเสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้แก่นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าการกระทำของนายสมศักดิ์กับพวกส่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยมีนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผอ.สำนักสืบสวน ป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายวัชระ กล่าวว่า จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ได้อ้างว่าศาลมีหน้าที่ มีคำพิพากษา แต่กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่บริหารโทษ โดยการลดโทษ การอ้างดังกล่าวนั้นเชื่อว่าไม่มีเหตุผลและไม่มีความยุติธรรม เพราะกรมราชทัณฑ์จะไปมีอำนาจเหนือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมได้อย่างไร ดังนั้นจึงขอให้นายพิศิษฐ์ได้เร่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยัง ประธาน ป.ป.ช.ต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นที่ค้างคาของประชาชนทั้งประเทศ

  • “หมอตุลย์” นำทีมยื่น ปธ.สภาฯให้ตั้ง กมธ.ตรวจสอบ

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย และถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ผ่านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ตั้ง กมธ.ตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชั่น

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษ จำนวน 4 ครั้งด้วยกัน กรณีนักโทษจำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกรายละ 36-50 ปี ได้ลดโทษจำคุกเหลือ 6-10 ปี ซึ่งคดีนี้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ เราไม่สามารถรับได้ การลดโทษเช่นนี้เหมือนเป็นการเอื้อการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้คนทำผิดได้พ้นโทษโดยเร็ว ดังนั้น จึงมายื่นหนังสือต่อสภาฯ ให้ตรวจสอบขั้นตอนการลดโทษในกระทรวงยุติธรรมที่อาศัยพระราชกฤษฎีกาและวโรกาศมหามงคลในการเอื้อประโยชน์ต่อคนทุจริตให้พ้นโทษโดยเร็ว เพื่อจะได้นำข้อมูลจากการตรวจสอบไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป