เช็คขั้นตอนยื่นบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" หาเสียง ผู้สมัคร อบต.ทั่วประเทศ

เช็คขั้นตอนยื่นบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" หาเสียง ผู้สมัคร อบต.ทั่วประเทศ

เช็คขั้นตอนยื่นบัญชี "รายรับรายจ่าย" หาเสียง ผู้สมัคร อบต.ทั่วประเทศ ฝ่าฝืน-แจ้งเท็จ-เกินกำหนด เจอโทษปรับ-คุก-เพิกถอนเลือกตั้ง 10 ปี

ถึงแม้จะผ่านวันเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2564 แต่ขณะนี้ยังอยู่ในจนถึงปฏิทินประกาศเลือกตั้งวันสุดท้ายในวันที่ 27 ม.ค.2565 

สำหรับข้อปฏิบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งหลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้กำหนดให้จัดทําบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง อบต.ให้เป็นไปในทางเดียวกันของการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับ ตามที่กฎหมายดำหนดภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

• ประเภทค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมีอะไรบ้าง ?

1.ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง

2.ค่าจ้างแรงงาน

3.ค่าจ้างทำของ

4.ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ

5.ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการหาเสียง

6.ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

7.ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

8.ค่าเช่าสถานที่ และค่าตกแต่งสถานที่

9.ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

10.ค่าสาธารณูปโภค

11.ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วยหาเสียง

12.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจาก กกต.แล้ว

เช็คขั้นตอนยื่นบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" หาเสียง ผู้สมัคร อบต.ทั่วประเทศ

• เอกสารประกอบรายการบันทึกบัญชีรายรับและรายจ่ายมีอะไรบ้าง ?

1.ใบรับเงิน/ทรัพย์สิน ตามแบบ ส.ถ/ผ.ถ. ๑/๑๓ (จ) เป็นหลักฐานที่ทำขึ้นกรณีที่มีบุคคลอื่นได้จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน และทรัพย์สินที่บุคคลอื่นได้นำมาให้ใช้หรือยกให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรับรู้หรือยินยอม ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น โดยอย่างน้อยต้องมีรายการ วัน เดือน ปี ชื่อตัวชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ให้เงินหรือทรัพย์สิน และผู้รับเงินหรือทรัพย์สิน รายละเอียดการรับเงินหรือทรัพย์สิน จำนวนเงิน และลายมือชื่อของผู้ให้เงินหรือทรัพย์สิน และผู้รับเงินหรือทรัพย์สิน

2.ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เป็นหลักฐานที่แสดงรายละเอียดการจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ใช้ประกอบการบันทึกบัญชีรายจ่าย

3.ใบสำคัญรับเงิน ตามแบบ ส.ถ/ผ.ถ. ๑/๑๓ (ฉ) เป็นหลักฐานที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จัดทำขึ้นเพื่อใช้บันทึกรายละเอียดการจ่ายเงิน กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้จ่ายเงิน เช่น กรณีที่จ่ายเงินเพื่อเป็นค่าจ้างแรงงาน

เช็คขั้นตอนยื่นบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" หาเสียง ผู้สมัคร อบต.ทั่วประเทศ

4.เอกสารหลักฐานแห่งหนี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ได้รับสินค้าหรือบริการแล้วแต่ยังไม่ได้มีการจ่ายชำระ จึงมีภาระผูกพันที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องจ่าย ซึ่งต้องใช้ประกอบการบันทึกรายการค้างจ่ายในบัญชีรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เช่น ใบแจ้งหนี้, ใบกำกับภาษี, ใบส่งของ เป็นต้น 

กรณีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีที่เป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบสำคัญรับเงินหรือเอกสารหลักฐานแห่งหนี้ อย่างน้อยต้องมีรายการ วัน เดือน ปี ชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้รับเงิน รายการรับเงิน จำนวนเงินและลายมือชื่อของผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน

5.ใบรับรองการจ่ายเงิน ตามแบบ ส.ถ/ผ.ถ. ๑/๑๓ (ช) เป็นหลักฐานที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจัดทำขึ้นเพื่อใช้บันทึกการจ่ายเงินในกรณีการจ่ายเงินครั้งใดที่ไม่สามารถเรียกเก็บใบเสร็จรับเงินจากผู้รับเงินได้ โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนเล็กน้อย เช่น ค่าโดยสารรถสาธารณะ, ค่าถ่ายเอกสาร เพื่อใช้ประกอบการบันทึกบัญชีรายจ่าย โดยอย่างน้อยต้องมีรายการ วัน เดือน ปี ชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้จ่ายเงิน รายการจ่ายเงิน จำนวนเงิน และลายมือชื่อของผู้จ่ายเงิน

• ถ้าไม่ยื่นจัดทําบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง มีความผิดอย่างไร ?

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562ได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ ดังนี้

1.กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ใช้จ่าย "เกินจำนวน" เงินค่าใช้จ่ายที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวน 3 เท่าของจำนวนเงินที่เกินจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนด แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี (ตามมาตรา 127)

2.กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น "ไม่ยื่น" บัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี (ตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง)

3.กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง "เป็นเท็จ" ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี (ตามมาตรา 128 วรรคสอง)

ทั้งนี้ กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลต้องมีคำสั่งเช่นว่านั้นด้วย (ตามมาตรา 109)

เช็คขั้นตอนยื่นบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" หาเสียง ผู้สมัคร อบต.ทั่วประเทศ