"เลขาฯศาลรธน." แจงยิบ คดีล้มล้างฯ ถูก "ก้าวไกล" ท้วงละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ

"เลขาฯศาลรธน." แจงยิบ คดีล้มล้างฯ ถูก "ก้าวไกล" ท้วงละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ

เชาวนะ แจงละเอียด ปมคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ชี้ การแก้ไขมาตรา112 เข้าข่ายไม่รักษากฎเกณฑ์-เคารพสถาบัน ก่อนถูก "ส.ส.ก้าวไกล" ท้วงล้ำเส้น ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีสิทธิแก้ม.112

           นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ระหว่างพิจารณารับทราบรายงานประจำปี 2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง โดยมีสาระสำคัญที่ชี้แจงตอนหนึ่งว่า การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยึดกฎหมาย โดยไม่บิดเบือนหรือสร้างกฎหมายขึ้นมาเอง  

 

 

           "สำหรับคดีล้มล้างการปกครองนั้น การคิดเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ต้องระลึกถึงความเป็นชาติ กระทำเยี่ยงคนในชาติ ไม่ใช่คนนอกชาติ รวมถึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผลร้ายในประเทศที่จะกระทบต่อคนทุกคน ไม่ใช่เกิดแค่คนกลุ่มน้อย หากพิจารณาประวัติศาสตร์ พบว่าการพัฒนาการเมืองการปกครองไทย ได้ปรับและแก้ให้เป็นไปตามยุคสมัย เป็นการทำหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่และรับผิดชอบต่อบ้านเมืองถึงดำรงความเป็นชาติเป็นไทย ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 นั้นประจักษ์ชัดว่าต้องการนำไปสู่การไม่รักษากฎเกณฑ์พื้นฐานที่เคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์ สาระสำคัญของการกระทำผู้ถูกร้องขัดรัฐธรรมนูญ อยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม และศาลวินิจฉัยอาศัยหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงประกอบไม่ใช่เกิดจากเจตนาอย่างอื่นตามที่วิจารณ์ ” นายเชาวนะ ชี้แจง

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายเชาวนะ ชี้แจงต่อคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองนั้น พบว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกประท้วงอยู่เป็นระยะ เพราะมองว่าเป็นการอภิปรายืดเยื้อ และพบว่าคำชี้แจงนั้นทำเหมือนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สถานะของนายเชาวนะเป็นเพียงฝ่ายธุระการเท่านั้น

 

           โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงเพราะอภิปรายวนเวียนซ้ำซาก ตนขอเตือนให้ระวังการอภิปรายที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ ต่อกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นศักดิ์และสิทธิ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าก้าวล่วง

\"เลขาฯศาลรธน.\" แจงยิบ คดีล้มล้างฯ ถูก \"ก้าวไกล\" ท้วงละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ

           อย่างไรก็ดีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ฐานะประธานที่ประชุม วินิจฉัยว่า การชี้แจงของนายเชาวนะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น ตามที่มีข้อกล่าวหาจากการอภิปรายส.ส.นั้นไม่ได้จำกัด แต่ขอให้บริหารเวลา และการชี้แจงของเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรที่ผิดข้อบังคับ

 

           ในตอนท้ายนายเชาวนะ ชี้แจงต่อกรณีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ มูลค่า 13 ล้านบาทว่า ตนไม่สามารถพูดในรายละเอียดได้ เพราะเป็นการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยเฉพาะ อย่างไรก็ดีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีผลประเมินความโปร่งใสอยู่ในเกรดเอ และเป็นมาตรฐานของความโปร่งใส

 

           นายเชาวนะยังชี้แจงต่อประวัติการศึกษา ของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยว่า การจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศที่เปลี่ยนชื่อ หรือ เปลี่ยนแปลงกิจการ เป็นข้อมูลหรือความเคลื่อนไหวสถานะของสถาบันนั้นๆ ไม่อยู่ในวิสัยที่ติดตามได้ ตนทราบว่าวุฒิการศึกษาในประเทศด้านต่างๆ มีหลายวุฒิการศึกษา และเป็นการรับรองโดยวิทยฐานะโดยชอบตามกฎหมายย เพื่อความเป็นธรรมที่นายปัญญาไม่อยู่ในที่ประชุมขอให้เห็นว่าอะไรที่เป็นคำถามหรือสงสัยยุติได้ด้วยผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมแล้ว.