“ผู้ว่าฯหมูป่า”เบียด "ผู้ว่าฯกรุง" คว้าตั๋ว พปชร.ชิง “ผู้ว่าฯ กทม.”

“ผู้ว่าฯหมูป่า”เบียด "ผู้ว่าฯกรุง" คว้าตั๋ว พปชร.ชิง “ผู้ว่าฯ กทม.”

แกนนำในพลังประชารัฐ สาย “ร.อ.ธรรมนัส” รู้ดีว่า นาทีนี้ไม่มีใครเหมาะสมไปมากกว่า “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” แล้ว จึงพยายามผลักดันให้ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เข้ากรุงฯ ชิงดำเบอร์ 1 เก้าอี้เมืองหลวง

ค่อยๆ เผยให้เห็นความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการเตรียมความพร้อมในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ “ผู้ว่าฯกทม.” ของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มี 2-3 รายชื่อ ถูกเชื่อมโยงว่าจะเป็นแคนดิเดตที่พรรคให้การสนับสนุน

คนแรกคือ “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งแห่งชาติ น้องรักของ“พี่ใหญ่ 3 ป.” “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ชักชวนให้ลงชิงเก้าอี้สนามนี้

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ประเดิมเปิดตัวแรง จัดแจงเช่าที่ทำการพรรคพลังประชารัฐหลังเดิม ใช้เป็นฐานบัญชาการ เซ็ตทีมงานทำพื้นที่ครบทุกเขต ตระเวนพบปะชาวบ้าน ร่อนส.ค.ส. ส่งความสุขปีใหม่ ให้แทบทุกบ้านในกทม. สุดท้ายกลับชิงดับเครื่อง ถอนตัวไปก่อนที่ระฆังจะดังขึ้นเสียอีก

ขณะที่ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เดิมถือเป็นคนของ “ประชาธิปัตย์” ถูกวางตัวนั่ง “รองผู้ว่าฯ กทม.” ในยุค “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก่อนจะได้แจ็กพ็อตแตก เป็น “ผู้ว่าฯ กทม. หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เซ็นคำสั่ง “ม.44” ปลด “ชายหมู” พ้นตำแหน่ง ก่อนตั้ง “บิ๊กวิน” ขัดตาทัพมา 5 ปี กำลังเข้าปีที่ 6 แล้ว

ชื่อของ “พล.ต.อ.อัศวิน” อยู่ในลิสต์แคนดิเดตผู้สมัครลงเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” มานาน แม้เรตติ้งยังห่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อยู่หลายขุม แต่ความได้เปรียบคือ การอยู่ในอำนาจ สามารถจัดสรรทรัพยากรลงพื้นที่ผ่านทีมงานในสังกัดอย่าง “รักษ์กรุงเทพ” เพื่อเรียกคะแนนเสียง

โดยในช่วงที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ คงได้เห็นการลงพื้นที่ของ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ในสีเสื้อ “รักษ์กรุงเทพ” ภายใต้ สโลแกน “เจอ แจ้ง จบ ทุกปัญหา” ที่ได้ “พล.ต.อ.อัศวิน” สนับสนุนกันมาบ้างแล้ว

นโยบายสำคัญ ของทีม “รักษ์กรุงเทพ” เป็นเหมือนตัวกลาง รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ก่อนประสานฝ่ายบริหารของกทม. เข้ามาแก้ไขแบบรวดเร็วทันใจ ชนิดที่ใครหลายคนแปลกใจ เพราะเห็นความต่างระหว่างช่วงก่อน กับตอนนี้ชัดเจน

บรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ต่างเด้งรับแนวทางนี้กันเป็นแถว เพราะถ้าพื้นที่ไหน ปล่อยให้ปัญหาในจุดนั้นๆ ที่มีการร้องมาคาราคาซัง จะถูกตำหนิทันที และไม่ต้องแปลกใจ ถ้าจะเห็นการลงพื้นที่ของทีมงานรักษ์กรุงเทพ กับผู้บริหารเขตในกทม. แบบแพ็กคู่กันเป็นปาท่องโก๋ เพราะนั่นคือเนื้อเดียวกัน

ดังนั้น ในส่วนของ พล.ต.อ.อัศวิน ถือว่าแต่งตัวเตรียมความพร้อมลงสนามมากที่สุดคนหนึ่ง แม้จะรู้ตัวดีว่า ไม่ใช่ตัวเลือกของ “พล.อ.ประวิตร” และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะถอนตัวเหมือน “พล.ต.อ.จักรทิพย์” ที่มีเป้าหมายทางการเมืองใหญ่ไปกว่านั้น

นอกจากนั้น ในระยะหลังชื่อของ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” หรือ “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ปัจจุบันเป็น “ผู้ว่าฯปทุมธานี” ที่เหลืออายุราชการ 4 ปี ถูกพูดถึงบ่อยๆ ว่าได้รับการวางตัวเป็นแคนดิเดตลงเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” โดยมี “พลังประชารัฐ” เป็นฐานสนับสนุน ซึ่งการเดินเกมนี้มี “ร.อ.ธรรมนัส” เป็นผู้ดำเนินการ

แกนนำในพลังประชารัฐ สาย “ร.อ.ธรรมนัส” รู้ดีว่า นาทีนี้ไม่มีใครเหมาะสมไปมากกว่า “ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์” แล้ว จึงพยายามผลักดันให้ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เข้ากรุงฯ ชิงดำเบอร์ 1 เก้าอี้เมืองหลวง

ด้วยเชื่อว่าผลงานในอดีตจะชนะใจคนกรุงเทพฯ ได้ ทั้งการเป็น ผู้อำนวยการสถานการณ์ช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่า ที่ติดในถ้ำหลวง รวมถึงผลงานเมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯ ลำปาง ที่สร้างปรากฎการณ์ เป็นจังหวัดที่มีตัวเลขประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งที่ช่วงเวลานั้น ผู้คนยังหวาดวิตกกับผลข้างเคียงเป็นอย่างมาก

ด้วยออฟชั่นที่ “ณรงค์ศักดิ์” ไม่อาจปฏิเสธ เพราะไม่มีอะไรต้องเสีย กลับจะมีแต่ได้กับได้ หากชนะเลือกตั้ง ก็ได้เป็น “ผู้ว่าฯกทม.”ต่อท่ออำนาจให้ “พลังประชารัฐ” ปูทางเข้าสู่การเมืองเต็มตัว แต่ถ้าไม่ชนะก็กลับถิ่นเก่า เข้ารับราชการตามเดิม แถมยังมีสิทธิลุ้นเก้าอี้ “ปลัดมหาดไทย” ได้อีกด้วย

เรียกได้ว่า “พลังประชารัฐ” ตอนนี้เคาะชื่อแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่รอเวลาเปิดตัว “ผู้ว่าฯหมูป่า” เท่านั้น และในจังหวะนี้ “พลังประชารัฐ” ก็กำลังซุ่มเซ็ตอัพทีมงาน ตั้งศูนย์ประสานงานในกทม. เตรียมพร้อม “เลือกตั้ง” ไว้แล้ว

สอดรับกับ “จักรพันธ์ พรนิมิตร” ส.ส. กทม. ในฐานะหัวหน้าภาคกทม. พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า คณะทำงานภาค กทม. กำลังจัดทำนโยบายเป็นกำลังสำคัญช่วยสนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ให้เข้มแข็งขึ้น และพร้อมเสนอตัวเป็นทางเลือกทางการเมืองระดับท้องถิ่นทั้ง 50 เขตให้ชาวกทม.

สิ่งที่ต้องรอจับตาเช่นเดียวกัน คือ บรรดาว่าที่ “ผู้สมัครส.ก.” ที่กระจัดกระจายลงไปทำพื้นที่ในชื่อกลุ่มต่างๆ เมื่อถึงเวลา คนที่ถูกเลือกแล้วจะกลับมารวมกันที่ “พลังประชารัฐ” ทั้งหมด

จึงเป็นสัญญาณชัดว่า “พลังประชารัฐ” สู้สุดตัวในสนาม “ผู้ว่าฯกทม.” ที่ได้ชื่อว่าเป็นสมรภูมิรบทางการเมืองที่ห้ำหั่นกันดุเดือดมากที่สุดสังเวียนหนึ่ง 

มีองค์ประกอบ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มากมาย ที่เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจลงคะแนนของคนกรุงเทพฯ มากกว่าเรื่องของกระแส กระสุน และอำนาจรัฐ ที่คอยเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม

เมื่อถึงเวลาคงได้รู้ว่า “ผู้ว่าฯ หมูป่า” และ “พลังประชารัฐ” จะมีมนต์ขลังสะกดคนกรุงได้หรือไม่