โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เนื่องใน วันพ่อแห่งชาติ

โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เนื่องใน วันพ่อแห่งชาติ

โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เนื่องใน "วันพ่อแห่งชาติ" วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ รัชกาลที่ 9 วันชาติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตน เป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564

ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบันโดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตน เป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ โดยพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในมาตรา 5 ระบุว่า ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

(1) ผู้ต้องกักขัง
(2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขัง แทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

มาตรา 6 ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลง 1 ใน 2 จากกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ เว้นแต่ผู้ได้รับ การปล่อยตัวคุมประพฤติเป็นผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 7 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

มาตรา 7 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 13 และมาตรา 14 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

(1) ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุก ตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

 

(2) ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้ง 2 ข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด

(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคสมองพิการ โรคจิต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โรคตับวายเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต หรือโรคเรื้อน หรือเป็นคนเจ็บป่วยซึ่งมีภาวะติดเตียงหรือมีโรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

(ค) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้

(ง) เป็นคนเจ็บป่วยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำหรือสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้

(จ) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

(ฉ) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณี ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุก ตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

(ช) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือ ทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ ตามกำหนดโทษ หรือ

(ซ) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับ

ในส่วนของมาตรา 20 เกี่ยวกับนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลทหารกรุงเทพ หรือศาลมณฑลทหาร แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลทหารดังกล่าวพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงาน บริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี ให้นำความในมาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนำบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้มาใช้บังคับแก่นักโทษ ตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร นอกจากที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชกฤษฎีกานี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณาสั่งเทียบกรณีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาส แก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงจำเป็น ต้องตราพระราชกฤษฎีกาน