เกมวัดพลังมหาอำนาจ "ไทย" สายลับสองหน้า

เกมวัดพลังมหาอำนาจ "ไทย" สายลับสองหน้า

ท่ามกลางอุณภูมิการเมืองโลกที่กำลังระอุ การวางเกมของ "สหรัฐฯ" ต่อต้าน "จีน" อาจนำมาซึ่งการแบ่งแยกกลุ่มประเทศออกเป็นสองขั้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยแบบไทยๆกับนโยบาย เป็นมิตรกับทุกประเทศ  "สหรัฐฯ" จะจัดวางให้อยู่ตรงจุดใด

การขยายอิทธิพลของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ และ จีน เข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ไม่เพียงทำให้ "ไทย" ต้องตกอยู่ในสภาพ "หนังหน้าไฟ" แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในประเทศ ที่สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน (รมว.กห.อาเซียน) อย่างไม่เป็นทางการ หรือ ADMM Retreat  ผ่านระบบ VTC  โดยมีกระทรวงกลาโหมบรูไน เป็นเจ้าภาพ พร้อมประเทศสมาชิก ประกอบด้วย  ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย 
เมียนมา ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ และเวียดนาม

ทั้ง 10 ประเทศ ได้แสดงข้อกังวลร่วมกันต่อสมดุลอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิยุทธศาสตร์ ที่เกิดจากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ หลังมีการผนวกส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ เป็นส่วนหนึ่งของจีน ในขณะที่ สหรัฐฯปรับยุทธศาสตร์"อินโด - แปซิฟิก"ต่อต้าน

การเข้ามามีบทบาทของสองประเทศมหาอำนาจ ในลักษณ์แสวงหาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนแบบทวิภาคี  ส่งผลให้อาเซียนเสียงแตก เช่น จีน มีความร่วมมือกับกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม ทำให้ 4 ประเทศเอียงเอนไปทางจีน 

เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ ประกาศชื่อ 110 ประเทศที่ได้ร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) วันที่ 9-10 ธ.ค.นี้ เพื่อหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตยและการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลก โดย 3 ประเทศอาเซียน ที่ได้รับเชิญทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์  ล้วนมีข้อพิพาทกับจีน เรื่องทะเลจีนใต้ทั้งสิ้น

รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกฝ่ายค้านโจมตีหนักเพราะเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้"ไทย"ตกขบวน คือการไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อเหตุการณ์รัฐประหารเมียนมา โดยเฉพาะการไปเยือนของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ไทยถูกมองเป็นการรองรับสถานะรัฐบาลเมียนมา

ขณะที่"พล.อ.ประยุทธ์" ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเพราะ "เมียนมา" กลายเป็นจุดปะทะระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ ที่ส่งผลต่อความเป็นเอกภาพของอาเซียน ด้วยการใช้ความสัมพันธ์ในระดับต่างๆกับประเทศสมาชิกให้แสดงท่าทีต่อเมียนมาที่แตกต่างกันออกไป

ท่าที "พล.อ.ประยุทธ์" จึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และพยายามวาง "ไทย" อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงผ่านการดำเนินการ "ทางเปิด-ทางลับ" ส่วนหนึ่งต้องสนับสนุนประชาธิปไตย ตามความมุ่งหมายของมหาอำนาจ แต่ไม่ก้าวล่วงเรื่องภายในเพื่อนบ้าน เพื่อรักษาความสัมพันธ์และผลประโยชน์ที่มีร่วมกันทั้ง สหรัฐฯ จีน เมียนมา

 

ในทางเปิด "พล.อ.ประยุทธ์" สร้างความสมดุลระหว่างสองขั้วอำนาจ เปิดทำเนียบต้อนรับกลุ่มสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S.-A SEAN Business Council: USABC) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในไทย การพบปะกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย

การหารือกับ นายเดวิด เอส โคเฮน รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ CIA สร้างเสถียรภาพในภูมิภาค การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางทหารและความมั่นคง สถานการณ์เมียนมา และการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม  รวมถึงการเดินทางมาเยือนไทย ของแดเนียล คริเตนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียตะวันออก และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ "พล.อ.ประยุทธ์" โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงผลการหารือกับผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูง  หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ยกระดับขีดความสามารถแข่งขันดิจิทัล ก้าวสู่ผู้นำ 5G ของภูมิภาค ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทุกมิติ ซึ่งเป็นโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ที่สหรัฐฯเรียกร้องให้พันธมิตรหยุดสานสัมพันธภาพบริษัทดังกล่าว

ในทางปิดได้เกิดคณะทำงานแบบลับๆที่ไม่อยู่ในรูปแบบของรัฐบาล โดยมีอดีตทหารที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำรัฐประหารเมียนมา และ สหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานให้ผ้แทนสหรัฐฯเข้าประเทศเมียนมา เช่นกรณี นายบิล ริชาร์ดสัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น)หารือ มิน อ่อง หล่าย นำไปสู่การปล่อยตัวผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน

ท่ามกลางอุณภูมิการเมืองโลกที่กำลังระอุ การวางเกมของสหรัฐฯเพื่อต่อต้านจีน อาจนำมาซึ่งการแบ่งแยกและเกิดการเผชิญหน้าระหว่างขั้วที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตย กับ กลุ่มประเทศที่ถูกผลักให้เป็นฝ่ายตรงข้าม

ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยแบบไทยๆกับนโยบาย เป็นมิตรกับทุกประเทศ  "สหรัฐฯ" จะจัดวางให้อยู่ตรงจุดใด