บทเรียน อบต.“พิธา-ธนาธร” แยกทัพ “ระดับชาติ-ท้องถิ่น”

บทเรียน อบต.“พิธา-ธนาธร” แยกทัพ “ระดับชาติ-ท้องถิ่น”

“พรรคก้าวไกล” จะเล่นการเมือง “ระดับชาติ” เต็มอัตราศึก รวมถึง “สนาม กทม.” ที่เป็น “ไข่แดงสำคัญ” ในการวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่ว่ากันว่าจะส่ง “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงชิงแทน “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ถูกเบรกไว้?

ผ่านพ้นการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กันไปแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการประกาศ “รับรองผล” การเลือกตั้งเร็วที่สุดภายใน 30 วัน คือ 28 ธ.ค. 2564 ส่วนกรณีพื้นที่ที่ถูกร้องเรียน จะตรวจสอบก่อนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หรือไม่เกินวันที่ 27 ม.ค. 2565

ศึกชิง “นายกฯเล็ก” ในรอบ 8 ปีครั้งนี้ ค่อนข้างระอุดุเดือดไม่แพ้ “สนามเลือกตั้งใหญ่” แม้ว่าตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ จะมีข้อกำหนดห้ามมิให้ “พรรคการเมือง” เข้าไปสนับสนุนผู้สมัครก็ตาม แต่ใน “ทางลับ” รู้กันดีว่าผู้สมัครแต่ละคนเป็น “คนของใคร” 

โดยหลังการเลือกตั้งแต่ละพรรคเริ่ม “เคลม” ผลงานกัน เช่น “ลุงป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) “หลุดปาก” บอกว่า พปชร.ได้เก้าอี้นายก อบต.มากถึง 4,500 แห่ง จาก อบต.ทั้งหมดกว่า 5,300 แห่ง

แน่นอนเมื่อมีผู้ชนะ ย่อมมีผู้ “ผิดหวัง” ตัดภาพกลับมาที่อาคาร “คณะก้าวหน้า” เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า แถลงข่าวถึงผลการเลือกตั้ง อบต. โดยมีผู้สมัคร “เข้าวิน” นายก อบต.ทั้งหมด 38 คน คิดเป็น 19.4% ของจำนวนผู้สมัครที่ส่งลงทั้งหมด 196 คน

สำหรับผลการเลือกตั้ง อบต.รอบนี้ กล่าวได้ว่ารู้สึกดีใจ พอใจ ภูมิใจกับผลงานในการเลือกตั้งที่ผ่านมา” คือคำ “ปลอบใจ” ของนายธนาธร ระหว่างแถลงข่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สนามการเลือกตั้งท้องถิ่น” คณะก้าวหน้าค่อนข้าง “คาดหวัง” เอาไว้มาก เพราะในการเลือกตั้ง “เทศบาล” เมื่อต้นปี 2564 พวกเขาได้จำนวนนายกเทศมนตรี 16 คน คิดเป็น 15% จากที่ส่งทั้งหมด 106 คน (จำนวนเทศบาลทั้งหมดในไทย 2,472 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง) ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 76 แห่ง เมื่อปลายปี 2563 คณะก้าวหน้าพ่ายแพ้แบบ “แลนด์สไลด์” ไม่ได้ “นายก อบจ.” แม้แต่คนเดียว

นั่นจึงทำให้การ “เลือกตั้ง อบต.” หนนี้ คณะก้าวหน้าปรับเปลี่ยนยุทธวิธีไม่เจาะแค่เฉพาะพื้นที่ “คนหนุ่มสาว-คนรุ่นใหม่” เลิกใช้นโยบายเชิง “นามธรรม” เช่น ชูเรื่องประชาธิปไตย หรือสิทธิเสรีภาพ มาเป็นพื้นที่ “คนมีอายุ-วัยกลางคน-คนทำงาน” และขยายไปยังพื้นที่ห่างไกล หรือชนบทมากขึ้น โดยใช้นโยบายเน้น “ปากท้อง-เศรษฐกิจ” ขับเคลื่อนเป็นหลัก ทำให้ได้รับคะแนนมากขึ้นเรื่อย ๆ

การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีครั้งนี้ ทำให้ “คณะก้าวหน้า” ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง “เทศบาล” ไล่เรียงมาถึงการเลือกตั้ง “อบต.”

“การเลือกตั้ง อบต. ซึ่งเป็นพื้นที่มีความเป็นเมืองน้อย คนรุ่นใหม่ต่อสัดส่วนประชากรเป็นจำนวนไม่มาก หลายคนมองว่าลักษณะพื้นที่แบบนี้ไม่ใช่พื้นที่พวกเรา ไม่ใช่คนจะใช้โซเชียลมีเดีย หลายท่านสบประมาทเรา คิดว่าทำไม่ได้ … การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า พวกเราไม่ได้เข้าถึงแค่ลักษณะเมืองใหญ่ หรือพื้นที่ที่มีแต่คนหนุ่มสาวอยู่เยอะ แต่พื้นที่เหล่านี้ก็เข้าถึงได้ด้วย” คือบางห้วงบางตอนที่ “ธนาธร” วิเคราะห์เอาไว้

แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่เหมือน “ธนาธร-คณะก้าวหน้า” เริ่มคิดว่า “มาถูกทาง” แล้ว จึงเริ่มปฏิบัติการ “4 ก้าว” ต่อ ยังเน้น “ขายดราม่า” เรื่องถูกยุบพรรคอนาคตใหม่-ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่สู้ต่อทำนโยบายช่วยประชาชน สัญญาว่านโยบายจะทำได้จริง เป็นต้น

มั่นใจถึงขนาดหมายมั่นปั้นมือจะส่งผู้สมัครลงชิง “นายกเมืองพัทยา” หวังคว่ำ “บ้านใหญ่แสนสุข” เลยด้วยซ้ำ

เป้าหมายต่อไปของ “คณะก้าวหน้า” และ “พรรคก้าวไกล” ที่ “ธนาธร” เอ่ยปากว่าเป็น “เพื่อนของเรา” คือการ “ร่วมกันตี-แยกกันเดิน” อย่างชัดเจน เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของนายธนาธรที่ตอบคำถามนักข่าวถึงการส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ว่า “คณะก้าวหน้าไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยสนาม กทม. จะเป็นพื้นที่ของพรรคก้าวไกล

ดังนั้นจุดยืน “ร่วมกันตี” ของทั้งคู่คือ การโค่นล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูก “ตีตรา” ว่าเป็น “เผด็จการซ่อนรูป” เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยไทยเสียใหม่ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปในหมวด “สถาบันพระมหากษัตริย์” และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วน “แยกกันเดิน” คือ “คณะก้าวหน้า” จะเล่นการเมือง “ท้องถิ่น” เต็มรูปแบบ โดยจะเน้นเจาะไปที่ “อบจ.-เทศบาล-อบต.” เป็นหลัก ตามที่ “ธนาธร” เคยหล่นคำพูดไว้ว่า อีก 2 ปีจะมีการเลือกตั้ง อบจ.อีกครั้ง และจะส่งคนลงสมัครเพื่อ “กู้หน้า” อีก

“พรรคก้าวไกล” จะเล่นการเมือง “ระดับชาติ” เต็มอัตราศึก รวมถึง “สนาม กทม.” ที่เป็น “ไข่แดงสำคัญ” ในการวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่ว่ากันว่าจะส่ง “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงชิงแทน “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ถูกเบรกไว้?

น่าจับตามองว่า “ก้าวต่อไป” ของทั้ง “ก้าวไกล-ก้าวหน้า” ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอย่างที่ “ฝัน”ไว้หรือไม่