“แท็บเล็ต”สภา ถึง “ไอโฟน”ทำเนียบ บทเรียน “ภาระงบประมาณ”

“แท็บเล็ต”สภา ถึง “ไอโฟน”ทำเนียบ บทเรียน “ภาระงบประมาณ”

ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน สลน.จัดซื้อ “ไอโฟน 12” ซึ่งตามความจริง “ตกรุ่น” ไปแล้ว นำมาแจกให้กับ “บิ๊กข้าราชการ” จำนวน 111 เครื่อง ดังนั้นการจัดซื้อครั้งนี้ ย่อมไม่พ้นถูกตั้งคำถามว่า เป็นการ “เพิ่มภาระงบประมาณ” โดยใช่เหตุหรือไม่

ประเด็นการจัดซื้อ “ไอโฟน” 12 จำนวน 111 เครื่อง วงเงินกว่า 2.6 ล้านบาท ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ตกเป็นประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในเวลานี้ ในหลายแง่มุม

แม้ว่า น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จะชี้แจงเป็นครั้งที่สองว่า การจัดซื้อดังกล่าวเพื่อให้ข้าราชการใช้ประสานงานกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ ส.ส.จำนวนมาก และการจัดซื้อครั้งนี้ เพราะปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่ของข้าราชการ สลน. คือไอโฟน 7 ใช้งานมาเกิน 4 ปี บางส่วนมีสภาพชำรุด รวมถึงบุคคลระดับผู้ใหญ่นั้นหลายคนไม่รับ เช่น นายกรัฐมนตรี หรือคณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ยืนยันว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใส

ประเด็นสำคัญคือ การจัดซื้อไอโฟน 12 ของ สลน.ครั้งนี้ ถือว่า “ไอโฟน” ดังกล่าวเป็น “ครุภัณฑ์” ของทางราชการ เป็นไปตามคู่มือการควบคุม ดูแลรักษา และจำหน่ายพัสดุ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ระเบียบพัสดุฯ) 

จากข้อที่ 151 ไล่เรียงไปจนถึงข้อ 159 สรุปได้ว่า พัสดุของส่วนราชการไม่ว่าจะได้มาด้วยประการ ให้อยู่ในความควบคุมตามระเบียบนี้ เว้นแต่มีระเบียบทางราชการหรือกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 

นอกจากนี้เมื่อได้รับพัสดุแล้ว ให้หน่วยงานลงบัญชีหรือทะเบียนรายการพัสดุนั้นไว้ และก่อนสิ้นปีงบประมาณ (ก่อนสิ้นเดือน ก.ย.ของทุกปี) จะต้องมีการตรวจสอบพัสดุ หากพบว่าชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญหาย จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

1.หากเป็นการชำรุด เสื่อมสภาพจากการใช้งานปกติ หรือสูญไปตามธรรมชาติ ให้หัวหน้าส่วนพิจารณาสั่งการดำเนินการ “จำหน่าย” ต่อไปได้

2.หากเป็นการชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญไปแบบไม่ปกติ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง หากพบว่า มีบุคคลกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

นั่นหมายความว่า “ไอโฟน” 12 ดังกล่าว ถือว่าเป็น “ครุภัณฑ์” ราชการ หากใครจะนำไปใช้ต้องมีการ “เบิกจ่าย” ตามขั้นตอน และต้องรักษาสภาพไว้ให้ดี เพราะถ้าชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญหาย โดยฝีมือของ “ผู้ใช้” อาจถูกตั้งคณะกรรมการสอบฯ และมีบทลงโทษตามมาได้

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ “บุคคล” หรือ “ข้าราชการ” ที่จะได้รับ “ไอโฟน 12” ไปใช้ มี 2 ประเภท ตามคำชี้แจงของ น.ส.นัทรียา ได้แก่ 

1.ไอโฟน 12 ความจุ 128 GB จำนวน 23 เครื่อง สำหรับผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหาร อธิบดี และข้าราชการระดับ 10 (ซี 10) 

2.ความจุ 64 GB จำนวน 88 เครื่อง สำหรับระดับอำนวยการ และอำนวยการสูง

แต่เมื่อส่อง “เงินเดือน” และ “เงินประจำตำแหน่ง” ของบุคคล 2 ประเภทดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะพบว่า บริหารระดับสูง อธิบดี และข้าราชการระดับ 10 จะได้เงินเดือน 53,690-66,480 บาท/เดือน เงินประจำตำแหน่ง 14,500-21,000 บาท/เดือน ส่วนผู้บริหาร จะได้เงินเดือน 48,700-64,340 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท/เดือน

ส่วนผู้อำนวยการระดับสูง จะได้เงินเดือน 31,280-59,770 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท/เดือน ส่วนผู้อำนวยการระดับต้น จะได้เงินเดือน 25,390-50,550 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 5,600 บาท/เดือน

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ผู้อำนวยจนถึงระดับอธิบดี หรือผู้บริหารระดับสูงได้เงินเดือนค่อนข้างสูงมากแต่กลับได้ “ไอโฟน 12” ไปใช้แบบ “ฟรี ๆ” ด้วยเงินงบประมาณจากเงินภาษีของประชาชน ทั้งที่ “บางท่าน” เหล่านี้อาจใช้ “ไอโฟน 13” ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดแล้วก็เป็นไปได้    

ดังนั้นการจัดซื้อ “ไอโฟน 12” ของ สลน.อาจซ้ำรอยกับกรณีเมื่อปี 2556 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดซื้อ “แท็บเล็ต” ยี่ห้อแอปเปิ้ล รุ่น “ไอแพด 4” ความจุ 64 GB วงเงินรวมกว่า 14,177,500 บาท มาแจกให้ สมาชิกรัฐสภา หรือภาษาชาวบ้านคือ ส.ส. และ ส.ว. ไปใช้ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบค้นข้อมูลด้านนิติบัญญัติด้วยความรวดเร็ว และลดปริมาณการใช้กระดาษก็ตาม ท่ามกลางข้อครหาการจัดซื้ออาจ “แพงเกินจริง

ทว่า เมื่อแจกจริง มี ส.ส. และ ส.ว.มารับไปใช้งานรวม 554 คน จาก สมาชิก 649 คน (ตัวเลขเมื่อเดือน ต.ค. 2556) และมีอีก 95 คนยังไม่ได้รับ โดยให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่มีแท็บเล็ตส่วนตัวอยู่แล้ว และไม่อยากใช้ นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสื่อบางสำนักระบุด้วยว่า มี ส.ส.แค่ 30% เท่านั้นที่พก “แท็บเล็ต” ไปสภา

ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน สลน.จัดซื้อ “ไอโฟน 12” ซึ่งตามความจริง “ตกรุ่น” ไปแล้ว นำมาแจกให้กับ “บิ๊กข้าราชการ” จำนวน 111 เครื่อง          

ดังนั้นการจัดซื้อครั้งนี้ ย่อมไม่พ้นถูกตั้งคำถามว่า เป็นการ “เพิ่มภาระงบประมาณ” โดยใช่เหตุหรือไม่

+ “สหธุรกิจ”คู่สัญญาไอโฟนทำเนียบฯ + 

กรุงเทพธุรกิจตรวจสอบพบว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดซื้อจาก บริษัท สหธุรกิจ จำกัด โดยบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2526 ทุนปัจจุบัน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 1/12 ถนนดำรงรักษ์ บ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 

วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อบันทึก ฯลฯบริการให้เช่าและซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ปรากฏชื่อ นายทรงชัย ศานติวงษ์การ นางจูรี ศานติวงษ์การ นายเตชวัต ศานติวงษ์การ นางสาวพัทธมน ศานติวงษ์การ เป็นกรรมการ

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 430,986,823 บาท หนี้สินรวม 139,435,365 บาท มีรายได้รวม 916,317,254 บาท รายจ่ายรวม 838,606,857 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 201,680 บาท เสียภาษีเงินได้ 7,827,863 บาท กำไรสุทธิ 29,212,219 บาท

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่าบริษัท สหธุรกิจ จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปี 2540-2564 หลายร้อยสัญญา โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ รวมวงเงิน 2,595,057,816 บาท