“พรรคก้าวไกล” เปิดโปงโครงการ “คลองช่องนนทรี” 980 ล.-เชิญ “ผู้ว่าฯ กทม.” แจง

“พรรคก้าวไกล” เปิดโปงโครงการ “คลองช่องนนทรี” 980 ล.-เชิญ “ผู้ว่าฯ กทม.” แจง

“พรรคก้าวไกล” แถลงข่าวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโครงการ “คลองช่องนนทรี” เตรียมเชิญ “อัศวิน” ผู้ว่าฯ กทม. มาชี้แจงใน อนุ กมธ. “สุรเชษฐ์” ชี้ลงทุน 980 ล้านบาท ได้ของขวัญชิ้นดี หรือแค่ผักชีให้คนกรุงเทพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายเอกรัฐ อิทธิไกวัล นายอานุภาพ ธารทอง และนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล แถลงข่าว ต่อกรณีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เร่งรีบทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี โดยใช้งบกลางของ กทม. เพื่อให้เสร็จก่อนคริสต์มาส 25 ธ.ค. 2564 เป็นของขวัญให้คนกรุงเทพนั้น

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.อ.อัศวิน เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แต่ทำไมเพิ่งมาเร่งรีบทำโครงการในตอนที่มีกระแสเลือกตั้ง ส.ก.และผู้ว่า กทม. ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนมาช่วยกันเอาผักชีออก แล้วลองพิจารณาดูให้ลึกถึงเนื้อในของโครงการว่าเป็นของดีและเหมาะเป็นของขวัญให้คน กทม. หรือไม่

“ก่อนอื่นเลยต้องขอบอกว่า คลองช่องนนทรี ไม่เท่ากับ คลองชองเกชอน ซึ่งเป็นคลองชื่อดังแห่งกรุงโซล เกาหลีใต้ ที่มักถูกหยิบยกมาอ้างว่าเป็นต้นแบบทุกทีที่จะมีการพัฒนาคลองในประเทศนี้ แต่การพัฒนาคลองชองเกชอน ไม่ได้ทำขึ้นด้วยการจ้างนักจัดสวนมาออกแบบก่อสร้างอย่างฉาบฉวย หรือแค่คิดจะทำก็ดีดนิ้วเนรมิตให้เกิดขึ้นมา เบื้องหลังของการพัฒนาคลองกลางกรุงโซลคือ ความต้องการพลิกฟื้นย่านเศรษฐกิจเก่าที่กำลังซบเซา ด้วยการปรับปรุงคลองน้ำเน่าและถนนโดยรอบให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่น่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าเดิน โดยเทศบาลกรุงโซลได้คิดวางแผนอย่างดี รอบด้าน ทั้งการพัฒนาระบบน้ำดีและน้ำเสีย การทุบทางด่วนและจัดระบบโครงข่ายถนนโดยรอบใหม่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ทำให้ย่านการค้าต่างๆ ในละแวกนั้นซึ่งมีจำนวนกว่า 100,000 ร้านค้า ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริงและที่สำคัญคือมีการรับฟังความคิดเห็นตลอดจนแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ได้รับคำชมจากทั่วโลกอย่างล้นหลาม” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า เมื่อย้อนกลับมาที่คลองช่องนนทรี พบว่า ‘จะลอก’ ก็ลอกมาไม่หมด เอามาแต่ผักชี โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ใช้วงเงิน 980 ล้านบาท แต่ไม่ได้มีอะไรเหมือนกับการพัฒนาคลองชองเกชอนอย่างที่กล่าวอ้าง มีแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่บางคนก็ว่าสวยกว่า บางคนก็ว่าไม่เข้าท่า แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อในโครงการ ซึ่งพรรคก้าวไกลขอตั้งประเด็น 7 คำถามไปถึงผู้ว่าอัศวิน ดังนี้
.
 คำถามข้อที่ 1 จุดประสงค์ของการดำเนินโครงการนี้คืออะไร โดยกรณีของคลองชองเกชอน คือ การฟื้นฟูย่านการค้าที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก แต่คลองช่องนนทรีเป็นเกาะกลางบนถนนถนนนราธิวาสฯ ซึ่งเป็นถนนใหญ่ ปกติรถมีมากอยู่แล้ว ประชาชนจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากคลองได้อย่างไร และต้องตอบให้ชัดเจนก่อนด้วยว่าโครงการนี้ทำไปเพื่ออะไรกันแน่  
คำถามข้อที่ 2: คลองช่องนนทรีจะยังมีฟังก์ชันเป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมอยู่หรือไม่ เพราะคลองช่องนนทรีถูกออกแบบมาให้เป็นเหมือนกับแก้มลิงพักน้ำ เพื่อรองรับน้ำเวลาฝนตก และน้ำจากอาคารปลูกสร้าง ไม่ใช่คลองยาวที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเหมือนคลองอื่น แต่เมื่อก่อสร้างจะมีทั้งโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในคลอง มีเสาข้างล่าง เศษหินดินปูนจากการก่อสร้างตกลงไปกีดขวางทางน้ำ จึงมีคำถามว่าหลังจากนี้ คลองช่องนนทรีจะยังเป็นแก้มลิงต่อไปได้หรือไม่

คำถามข้อที่ 3: ประชาชนจะเข้าถึงสวนอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ถนนเส้นนี้เป็นถนนใหญ่สายหลักเส้นหนึ่งของกรุงเทพ แต่การบอกว่าจะทำทางม้าลาย 17 จุด เพื่อข้ามไปมาจะทำให้เกิดความติดขัดของการจราจรหรือไม่ เพราะถนนเส้นนี้จะมีรถสัญจร 41,000 คันต่อวัน และช่วงเร่งด่วนจะมีมากถึง 18,000 คัน และจะอันตรายหรือไม่ที่ต้องข้ามไปถึง 3 ช่องจราจร ขณะที่รายงานเรื่องการออกแบบทางข้ามยังระบุได้แค่ว่ายังอยู่ในช่วงศึกษาความเหมาะสม จึงอยากรู้ว่ารายงานศึกษาเสร็จแล้วหรือไม่ ได้ผลการศึกษาเป็นอย่างไร แต่ถ้ารายงานการศึกษายังไม่เสร็จก็ต้องถามว่าแล้วจะสร้างสวนไปก่อนได้อย่างไร
 
คำถามข้อที่ 4: จะบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรีอย่างไร เพราะน้ำเสียในคลองช่องนนทรีถือว่าเป็นน้ำเน่าลำดับต้นๆของกรุงเทพ โดยสภาพน้ำแย่กว่าคลองแสนแสบถึง 2 เท่า จะต้องบำบัดอย่างไรเพื่อให้คนสัมผัสได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงการทำแบบเป็นท่อนๆ พื้นที่นำร่อง เฟสแรกเป็นการแบ่งซื้อ แบ่งจ้างจากงบกลาง 80 ล้านบาท แต่เลือกไปทำส่วนกลางคลองก่อน และทำแค่ 200 เมตร คำถามคือเมื่อไปทำกลางคลองจะไปควบคุมคุณภาพน้ำอย่างไร และตามแผนบอกว่าจะใช้พืชธรรมชาติบำบัดก็ต้องถามว่าต้องปลูกพืชมากขนาดไหนจึงจะสามารถบำบัดน้ำที่เน่าเสียขนาดนี้ได้

คำถามข้อที่ 5: ทำไมถึงต้องเร่งรีบทำโครงการในช่วงใกล้จะเลือกตั้งผู้ว่า กทม. งบก้อนนี้เป็นงบของ กทม. จึงต้องถามว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งโครงการนี้เคยมีการนำเสนอเพื่อขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณมาก่อน แต่ไม่ผ่านการอนุมัติโดย สภา กทม. จึงต้องเลี่ยงมาใช้งบกลางที่เหลือ 80 ล้านบาท เพื่อทำเฟสแรกซึ่งเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนเหมือนทำอย่างเร่งรีบและเป็นโครงการผักชีโรยหน้าใช่หรือไม่

คำถามข้อที่ 6: ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ จากการลงพื้นที่พูดคุยพบว่าโครงการนี้มีการแถลงข่าวเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น นอกจากนี้คือการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟสบุ๊ก หากเทียบกับการพัฒนาคลองชองเกชอน พบว่ามีการทำกระบวนการมีส่วนร่วมถึง 4,200 ครั้ง แม้ว่าเราอาจไม่ต้องทำมากขนาดนั้นแต่ต้องถามว่าแค่แถลงข่าวไม่กี่ครั้งน้อยไปหรือไม่ และการแถลงข่าวก็ไม่ใช่การรับฟังความเห็นอย่างแท้จริงแต่อย่างใด

คำถามข้อที่ 7: การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสแค่ไหน ทำไมถึงเป็นเจ้าเดียวกันหมดในการออกแบบ โครงการปรับภูมิทัศน์และทางเท้า ของกทม.มี 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณ 980 ล้านบาท แบ่งเป็น งบออกแบบอยู่ที่ประมาณ 49 ล้านบาท ,โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี 100 ปี งบประมาณ 1,000 ล้านบาท งบออกแบบ 50 ล้านบาท ,โครงการคลองผดุงกรุงเกษม งบประมาณ 549.73 ล้านบาท ค่าออกแบบ 17.5 ล้านบาท ,โครงการปรับปรุงทางเท้าพระรามที่ 1 งบประมาณ 96 ล้านบาท ข้อมูลยังไม่ชัดเจนแต่น่าจะอยู่ที่ 4.82 ล้านบาท และโครงการทางเท้าถนนสีลม 60 ล้านบาท โดย 4 โครงการแรก ยกเว้นโครงการทางเท้าถนนสีลม พบว่าใช้ บริษัทภูมิทัศน์สถาปนิกเจ้าเดียวกันหมด จึงเป็นคำถามว่าทาง กทม.จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร จึงได้เจ้าเดียวกันหมดแบบนี้

“มีตัวอย่างความผิดปกติที่ชัดเจน เช่น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนลุมพินี มีประกาศเชิญชวนจัดจ้างออกแบบ วันที่ 9 ก.พ. 64 แต่ย้อนกลับไปดูก่อนหน้านั้น วันที่ 16 พ.ย. 63 เฟสบุ๊กสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. บอกว่ามีคนมาออกแบบให้แล้ว เท่ากับว่าเอกสารทางการเพิ่งบอกเชิญชวน แต่สำนักงานประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครบอกก่อนหน้านั้นว่าได้ตัวแล้ว ตกลงว่ามีการชวนคนรู้จักมาออกแบบอยู่ก่อนแล้วใช่หรือไม่ แล้วคนรู้จักคนนั้น เป็นคนเดียวกับที่ชนะประกวดราคาจัดจ้างออกแบบทั้ง 4 โครงการที่กล่าวมาใช่หรือไม่” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า คำถามเหล่านี้ อยากให้พี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนทางบ้าน ร่วมกันส่งเสียงให้ถึงหู พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้ออกมาตอบคำถาม ตนและพรรคก้าวไกล ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่ต้องการทำหน้าที่ตรวจสอบโดยการตั้งคำถามเพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและโปร่งใส ต้องเอาข้อเท็จจริงมาถกเถียงกันว่าโครงการนี้ควรทำ หรือไม่ควรทำ เพราะอะไร

“ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงขอเรียนเชิญท่านผู้ว่าฯ ตลอดจนสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการนี้ มาชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ในวันจันทร์ที่ 29 พ.ย. เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม CA411 อาคารรัฐสภา โดยจะทำหนังสือแจ้งไปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขอเพียงท่านผู้ว่าฯ มาตอบให้ตรงคำถามทั้ง 7 ข้อ เพื่อให้ประชาชนมาช่วยกันตัดสินว่า ตกลงแล้วโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี จะเป็นของขวัญชิ้นดี หรือแค่ผักชีให้คน กทม. กันแน่” นายสุรเชษฐ์ กล่าว