“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

สมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้าส่อเดือด “ขั้วอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม” วางเกมชิงอำนาจ “ประยุทธ์” ยังเป็นหัวหอกปกป้องสถาบันฯ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ร่วมผนึกสู้ “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้ายจัด “ทักษิณ-เพื่อไทย” ชูธงแก้มาตรา 112 ชิงแต้ม “คนรุ่นใหม่” หวังชนะแลนด์สไลด์

รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เหลือวาระอีกกว่าปีเศษ ซึ่งไทม์ไลน์ของคนการเมืองถือไม่นานมากนัก ทำให้ทุกพรรคการเมืองเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้ง ทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ ต่างเปิดตัวผู้สมัครส.ส.-เปิดดีลทางการเมือง

เกือบทุกพรรคการเมืองตั้งทีมนโยบายหาเสียงให้โดนใจประชาชน ซุ่มทำโพลความต้องการของประชาชน โดยแต่ละพรรคมีฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด

ขณะที่บรรยากาศการเมืองทะลุฟ้า “ม็อบราษฎร” ที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง เข้าปีที่สอง ทำให้ประเด็น “สถาบันฯ” ถูกหยิบมาผูกปมเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายที่เกี่ยวกับการปกครอง จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเลือกตั้งครั้งหน้า

“กรุงเทพธุรกิจ” จึงจำแนกพรรคการเมืองที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งยึดแนวทาง “อนุรักษ์นิยม” อีกฝั่งหนึ่งยึดแนวคิด “เสรีนิยม” โดยทั้งสองขั้วเริ่มขับเคี่ยวเพื่อชัยชนะทางการเมือง ส่วน “พรรคการเมืองสายกลาง” ที่ยังไม่เปิดตัวชัดเจนว่าอยู่ขั้วใด อาจเสียแต้มการเมือง

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

พรรค“ประยุทธ์” หัวหอก“อนุรักษ์นิยม”

ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังมองไม่ออกว่า จะจบเกมปิดจ็อบกันอย่างไร เนื่องจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ยอมเสียอำนาจต่อรองทางการเมือง ปิดทุกช่องทางไม่ให้ “ประยุทธ์” ส่งขุนพลเข้ามายึดพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค เดินสายเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครของพรรค โดยเขี่ยคนของกลุ่มการเมืองอื่นทิ้งเกือบทั้งหมด

ทำให้มีกระแสข่าวว่า “ประยุทธ์” จับมือกับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผนึกกำลังกับ “6 รัฐมนตรี” เตรียมตั้งพรรคใหม่ สร้างกองกำลังของตัวเองขึ้นมา เพื่อคอนโทรลเกมการเมืองด้วยตัวเอง

แต่ไม่ว่า “ประยุทธ์” จะเอาชื่อไปแขวนกับพรรคการเมืองใด ชื่อของ “ประยุทธ์” ยังเป็นเบอร์หนึ่งของพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าพร้อมปกป้องสถาบันฯ ไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ที่สำคัญตัวตนของ “ประยุทธ์” ที่เติบโตมาจากกองทัพ ทำให้เลือดเนื้อจิตใจของ “ประยุทธ์” แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับสถาบันฯ ที่สำคัญยังขึ้นชื่อว่าเป็นทหารเสือราชินี ที่พร้อมปกป้องสถาบันฯ มากที่สุดคนหนึ่ง จึงทำให้ “ประยุทธ์” เสมือนหัวหอกเบอร์หนึ่งของพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ที่จะมากวาดคะแนนเสียงของกลุ่มรักสถาบันฯ ที่ถือว่ามีจำนวนมากอยู่ในขณะนี้

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

พปชร.พรรคทหารชูป้องสถาบันฯ

แม้ยังไม่แน่ว่า “ประยุทธ์” จะฝากอนาคตทางการเมืองไว้กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่ผู้มากบารมีในพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง “ประวิตร-ธรรมนัส” เติบโตมาจากทหาร แบ็คอัพของพรรคล้วนมีแต่เครือข่ายทหาร-คสช. ที่มีจุดยืนปกป้องสถาบันฯ

ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ คือคู่ต่อในสภาฯที่เป็นเบอร์หนึ่งในการต่อต้าน “ขั้วเสรีนิยม” ไม่ให้เดินเกมการเมืองได้ง่าย ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 2 ครั้ง ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้พรรคพลังประชารัฐคือตัวเลือกแรกๆ ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

ภูมิใจไทยเลือดสีน้ำเงิน

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ภายใต้การนำของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบายชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองที่ปกป้องสถาบันฯ และไม่ต้องการให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองนำสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

จุดแข็งของพรรคภูมิใจไทย อาจไม่ได้อยู่ที่นโยบายปกป้องสถาบันฯ แต่อยู่ที่ตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรค ซึ่งค่อนข้างมีฐานเสียงเหนียวแน่น ที่สำคัญพื้นที่ใดที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ ผู้มากบารมีในพรรควางยุทธศาสตร์ชิงแต้มการเมืองได้เหนือกว่าคู่แข่ง

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ทั้ง “อนุทิน-เนวิน” ประกาศชัดทั้งทางลับ-ทางเปิดว่าพรรคภูมิใจไทยเลือดสีน้ำเงิน

“ประชาธิปัตย์”อนุรักษ์นิยมตัวพ่อ

สำหรับพรรคอนุรักษ์นิยมตัวพ่อ ต้องยกให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้จะโดน “ประยุทธ์” ชิงพื้นที่-ฐานเสียงไปได้ ทั้งนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการต่อสู้ทางการเมือง การเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศประชาธิปัตย์มักถูกผูกโยงกับสถาบันฯ

ที่สำคัญภายในประชาธิปัตย์ มักมีผู้บริหารพรรค ผู้สมัครส.ส. และทุนหนุนหลัง ส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายของเจ้าขุนมูลนายเกือบทั้งหมด จึงไม่แปลกที่จุดยืนของพรรคนี้จะอยู่เคียงข้างสถาบันฯมาอย่างยาวนาน และจะอยู่ขั้วอนุรักษ์นิยมไปอีกนานเช่นกัน

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

ชทพ.-พรรคเล็กผนึกชิงส.ส.

นอกจากบรรดาพรรคการเมืองใหญ่แล้วในสมการการเมืองของไทยยังมีพรรคการเมืองขนาดกลาง พรรคการเมืองขนาดเล็ก เป็นตัวแปรสำคัญในเกมแย่งชิงอำนาจมาทุกยุค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) และพรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากพรรคขนาดเล็ก แม้จำนวนเสียงในสภาอาจจะไม่มาก แต่มีผลต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเสียงโหวตมีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล

พรรคชทพ.และพรรคเล็ก มีการบ้านเหมือนกันที่ต้องชิงเก้าอี้ ส.ส. เข้าสภาให้ได้ ไม่จำเป็นต้องได้เก้าอี้ ส.ส. จำนวนมาก แต่จำเป็นต้องมี ส.ส. เข้ารวมเสียงกับขั้วพรรคร่วมรัฐบาล

ดังนั้นแนวทางของพรรคชพท.-พรรคเล็ก จึงสอดคล้องกับ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ต้องชูธงปกป้องสถาบันฯ แสดงจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลอีกสมัย

“พท.-ทักษิณ”ชิงแต้ม-สู้อนุรักษ์นิยม

มาถึง “ขั้วเสรีนิยม” แม้พรรคเพื่อไทย (พท.) และตัวของ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่ใช่เบอร์หนึ่งของขั้วเสรีนิยม แต่ “ทักษิณ-เพื่อไทย-กลุ่มแคร์” ประเมินแล้วว่าหากต้องการชนะแบบแลนด์สไลด์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชิงคะแนนจาก “คนรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

จะเห็นได้ว่า “ทักษิณ-เพื่อไทย” พยายามรีแบรนด์พรรค ชูการทำงานร่วมกับ “คนรุ่นใหม่” ชู “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร มานั่งที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย หวังต่อยอดสร้างฐานเสียงคนรุ่นใหม่

“ทักษิณ-เพื่อไทย” มีโจทย์ใหญ่คือการกวาด ส.ส. เข้าสภาฯให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้ ส.ส. ต่อรองทางการเมืองกับ “มือที่มองไม่เห็น” ดังนั้นนโยบายของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเลือกยืนอยู่คนละข้างกับสถาบันฯ

โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่า “ทักษิณ-เพื่อไทย” เลือกเดินเกมการเมืองเก็บแต้ม “คนรุ่นใหม่” ผนึกรวมแต้มเก่า ที่มากับบุญเก่า หวังชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

“ก้าวไกล”เบอร์หนึ่ง“ขั้วเสรีนิยม”

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ต่อยอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งโดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค มีจุดยืน-จุดขายชัดเจน คือการเลือกยืนอยู่คนละฝั่งคือต้องการปฏิรูปสถาบันฯ

แนวคิดของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ถูกถ่ายทอดมายัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึง ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ต้องการสานต่อเจตนารมณ์ของ “ธนาธร-ปิยบุตร”

ภาพ “ส.ส.ก้าวไกล” เข้าร่วมการชุมนุม “ม็อบ 3 นิ้ว” ภาพใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัว “แกนนำม็อบ 3 นิ้ว” ภาพการเสนอแก้มาตรา 112 ภาพการเสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้พรรคก้าวไกลมีภาพจำในฐานะเบอร์หนึ่งของ “ขั้วเสรีนิยม” ที่อยู่ตรงข้ามสถาบันฯ

ดังนั้นแนวทางการหาเสียงของพรรคก้าวไกล จึงหนีไม่พ้นการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯมาเป็นตัวชูโรง เพื่อโกยแต้มจาก “คนรุ่นใหม่”

“ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

พรรคเล็กขั้วฝ่ายค้านทางเดียวกับ“ทักษิณ”

นอกจากนี้ “ขั้วเสรีนิยม” ยังมีพรรคเล็กอยู่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน อาทิ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคอื่น โดยทุกพรรคมีเครือข่ายเดียวกัน โดยเฉพาะพรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ที่มีทักษิณ-เพื่อไทย เป็นพรรคยานแม่

แนวทางการขับเคลื่อนของพรรคเล็กในฝ่ายค้าน จึงค่อนข้างสอดคล้อง-สอดประสานกับ ทักษิณ-เพื่อไทย ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับสถาบันฯ ของพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคอื่น จึงรอสัญญาณจาก ทักษิณ-เพื่อไทย เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

“พรรคสายกลาง”สู้ยาก-ไร้ที่ยืน

นอกจาก “ขั้วอนุรักษ์นิยม” และ “ขั้วเสรีนิยม” จะสู้รบกันหนักแล้ว ยังมี “พรรคสายกลาง” ที่ออกตัวอยู่ตรงกลางความขัดแย้ง อาทิ พรรคไทยสร้างไทย พรรคกล้า พรรครวมไทยยูไนเต็ด ที่ไม่ประกาศตัวว่าเลือกอยู่ขั้วใด พร้อมที่จะแปรผันตามสมการการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ข้อดีของ “พรรคสายกลาง” คือการเลือกอยู่ร่วมกับ “ผู้ชนะ” ได้ในภายหลัง แต่ข้อเสียที่ปฏิเสธไม่ได้คือการไร้ที่ยืนทางการเมือง คะแนนเสียงจาก “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง คะแนนเสียงจาก “คนรุ่นเก่า” ที่รักและปกป้องสถาบัน จะไม่เทมาให้ “พรรคสายกลาง”

ทำให้ “พรรคสายกลาง” จะมีแต่คะแนนนิยมที่มีติดตัวกับ “ผู้สมัคร” ไม่มีประเด็นกระแสมาเป็นเสียงสนับสนุนให้ “พรรคสายกลาง” มีโอกาสกวาด ส.ส. เข้าสภาเป็นกอบเป็นกำ