“ปิยบุตร” ฝากพรรคชนะเลือกตั้งแก้ รธน.ต่อ-ปัดประเมินสถานการณ์ม็อบ

“ปิยบุตร” ฝากพรรคชนะเลือกตั้งแก้ รธน.ต่อ-ปัดประเมินสถานการณ์ม็อบ

ยังไม่สิ้นหวัง! “ปิยบุตร” ปลุกภารกิจประชาชนยังไม่จบ แม้ประชาธิปไตยทางตรงแก้ไข “ร่าง รธน.” ไม่สำเร็จ ต้องฝากไว้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้า ให้พรรคชนะการเลือกตั้งเข้ามาแก้ต่อ ปัดประเมิน “การเมือง” จะร้อนหรือไม่ เหตุไม่ใช่ผู้กำกับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากไม่รับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชน ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” แกนนำกลุ่ม Re-Solution กับประชาชนกว่า 1.35 แสนชื่อ เสนอนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และนายพริษฐ์ ในฐานะผู้ชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้แถลงข่าวชี้แจงประเด็นนี้

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐสภามีมติในการโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ตนและประชาชนกว่า 1.35 แสนชื่อ ยื่นเข้าไปสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ในฐานะคนสนับสนุน น่าผิดหวัง แต่ไม่ได้ผิดหวังในฐานะที่ตนเสนอ แต่ผิดหวังที่ข้อเสนอเราไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม อย่างที่ย้ำในการอภิปรายข้อเสนอของเราไม่ใช่สุดโต่ง ไม่ใช่พยายามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ แต่ต้องการจะสร้างระบบการเมืองที่ “ควร” จะเป็นระบบนี้คือ

ค = คืนศักดิ์ศรีสถาบันทางการเมือง ต้องยอมรับว่าปัจจุบันหลายคนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเสื่อมศรัทธากลไกรัฐสภา เสื่อมศรัทธาสถาบันทางการเมือง ที่พึ่งของเขาในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราคาดว่าข้อเสนอเราปรับมาเป็นสภาเดี่ยว ปรับที่มาองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นกลาง เพื่อคืนศักดิ์ศรี ให้เป็นที่พึ่งพาประชาชน

ว = ไว้ใจ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราคิดค้นบนพื้นฐานสร้างระบบการเมืองไว้ใจประชาชน ให้มี 1 สิทธิ 1 เสียง ถ้าเขาอยากเห็นนโยบายแบบไหน มีอิสระ มีเสรีภาพเลือกนโยบายของพรรค มากกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าพรรคไม่ดำเนินการตามนโยบายสัญญาไว้ เราไว้ใจให้ประชาชนลงโทษได้

ร = ระบบที่เป็นกลาง ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะมีความคิดการเมืองแบบไหน มี 1 สิทธิ 1 เสียง ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายซ้าย หรือขวา แข่งขันกันได้ในกติกาเป็นกลางและเป็นธรรม และระบบเป็นกลาง ทุกรัฐบาลถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น มีศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่เป็นกลางจริงๆ 

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ผิดหวังกับสิ่งที่เราพยายามนำเสนอตลอดวันที่ผ่านมา ไม่ถูกรับหลักการ ในฐานะผู้ริเริ่มกฎหมาย ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณหลายส่วน ขอบคุณสมาชิกรัฐสภาหลายท่านที่โหวตรับหลักการ ขอบคุณสมาชิกรัฐสภาบางท่านไม่ได้โหวตรับหลักการ แต่อภิปรายเนื้อหา แสดงความเห็นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐสภาอดหลับอดนอนทำให้เมื่อวานไปได้ราบรื่น และอำนวยความสะดวกที่ประชาชนเข้าชื่อยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ ท้ายที่สุดขอบคุณ และขอโทษจากใจจริงจากประชาชนกว่า 1.35 แสนคน และประชาชนติดตามการอภิปราย คาดหวังอยากให้ร่างของเรานั้นผ่านวาระ 1 เราใช้เวลา 3 ชั่วโมงเมื่อวานอย่างเต็มที่ โน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบกับเรา 

“ต้องยอมรับว่าภารกิจไม่ได้สำเร็จ แต่ท้ายสุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังต้องเดินหน้าต่อ ถ้ามีที่มากระบวนการ เนื้อหาไม่ชอบธรรมเช่นนี้ ไม่อาจแก้วิกฤติการเมืองได้ ผ่านมาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่เลือกตั้ง 2562 มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 รอบ เปรียบ 3 ยก ร่างที่ผ่านเป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ไม่ใช่สาระสำคัญปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สืบทอดอำนาจ นี่หรือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่ามีนโยบายเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่หรือสาระสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ พรรคร่วมรัฐบาลเคยบอกว่าเป็นเงื่อนไขเข้าร่วมกับรัฐบาลบริหารประเทศ หวังว่าคงไม่ใช่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะ ส.ว. ไม่แตะกลไกสืบทอดอำนาจ ไม่อาจแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองได้จริง” นายพริษฐ์ กล่าว

ส่วนนายปิยบุตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามจะเพิ่มเสริมเติมแต่งการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ได้ ให้ท้องถิ่นถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่นพื้นที่ตัวเองได้ ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และรัฐธรรมนูญปี 2560 ยืนยันเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คนเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ บทบัญญัติแบบนี้คือ ความก้าวหน้าของไทย หลายประเทศไม่ได้เขียนขนาดนี้ ไทยก้าวหน้าในส่วนนี้เขียนลงไป

“แต่ความก้าวหน้าในลายลักษณ์อักษรจะเกิดขึ้นจริงได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก ส.ส. ส.ว. สมาชิกรัฐสภา หรือสถาบันการเมืองในระบบประกอบกันด้วย แต่เราพบเห็น ตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา น้อยมากที่ร่าง พ.ร.บ. ที่ประชาชนเข้าชื่อจะผ่านได้ หรือถ้าผ่านไป เนื้อหาสาระจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เท่าที่จำความได้มี พ.ร.บ. เดียวคือ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การเข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการ ไม่เคยได้ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ไม่เคยผ่านไปถึงวาระ 3 เลย คาดหวังว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อพิจารณาความต้องการประชาชนนอกสภา หวังใจว่า สมาชิกรัฐสภาจะเงี่ยหูฟังเสียงก่นร้องข้างนอกสภาดังๆ บ้าง แต่แล้วผลการลงมติเป็นที่ชัดเจนว่า สมาชิกรัฐสภา ส่วนใหญ่ เสียงข้างมาก ยังไม่ยินยอมเปิดประตูให้กับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มาจากการเข้าชื่อของ ประชาชน ยังไม่ยอมให้ผ่านในวาระ 1 กระบวนการที่พูดมา เป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาธิปไตยแบบผู้แทนเพียงอย่างเดียว ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เรามีโอกาสที่ผู้แทนประชาชนอาจไม่ทำงานตามเจตจำนงของประชาชนก็ได้ มีโอกาสที่ผู้แทนบิดผันบิดเบือนเจตจำนงประชาชน นั่นจึงนำไปสู่ว่าทำไมต้องมีระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้ามาใช้อำนาจโดยตรงของประชาชน แต่วันนี้ช่องทางเหล่านี้ถูกปิดลงไปอีกแล้ว

“ในส่วนประชาชนที่เข้าชื่อกับเรา 1.35 แสนชื่อ รวมถึงประชาชนที่สนับสนุนร่างเหล่านี้ แต่อาจไม่ทันลงชื่อ ประชาชนที่ฟังการอภิปราย 16 ชั่วโมง ผ่านการถ่ายทอดสดเมื่อวาน อย่าเพิ่งสิ้นหวัง พวกเรายังมีลมหายใจ ยังมีความคิด ยังมีกำลัง ที่จะรณรงค์ต่อไป ทุกท่านย่อมทราบดีว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 25 60 ประกาศใช้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากอย่างยิ่ง ถ้าไม่รณรงค์เคลื่อนไหว เขาจะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่พวกเขาออกแบบมาต่อเนื่องตลอดกาล เป็นภารกิจประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริงเสียงจริง ต้องรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว ล้มกี่ครั้งต้องลุกยืนขึ้นใหม่ ต่อสู้ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้จงได้” นายปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ส่วนระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน เมื่อประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมถูกปิดประตู คาดหวังอย่างยิ่งว่า ระบบสภาผู้แทนราษฎร จะทำงานตรงนี้ต่อ คือ ส.ส. ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของพวกเรา แม้จะเห็นด้วยไม่ทั้งหมด หรือเห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม ท่านมีโอกาสแม้วันนี้ยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่อีกไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี คงมีการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมา คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฝากความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส. ที่สนับสนุนแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปออกแบบเป็นนโยบาย รณรงค์ผ่านการหาเสียงเลือกตั้งครั้งจะมาถึง และประชาชนที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะได้ตัดสินใจลงคะแนนเลือกพวกท่านมาเป็น ส.ส. เสียงข้างมาก และช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จจงได้ต่อไป

เมื่อถามว่าหากมีการล่ารายชื่อมากกว่าจะมีการผลักดันอีกหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า คงต้องกลับไปนั่งพิจารณากัน กลุ่มองค์กรที่ร่วมกัน ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพิ่งเห็นมติครั้งแรก ถ้าหากคิดกันตกผลึกเรียบร้อย จะผลักดันเรื่องใดต่อไป หรือไม่อย่างไร จะแจ้งให้ประชาชน และสื่อมวลชนทราบ

เมื่อถามว่า มติดังกล่าวที่ออกมา ประเมินหรือคาดการณ์ได้หรือไม่ว่า การเมืองจะรุนแรงมากขึ้น นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเมินไม่ได้ เพราะตนไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่คนตัดสิน ไม่ใช่คนควบคุมต่าง ๆ แต่เชื่อว่าสังคม และแม้กระทั่งสมาชิกรัฐสภา คงคาดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาหรือไม่อย่างไร เพราะหลายเรื่องเป็นความต้องการของประชาชน หลายเรื่องจากการชุมนุม มีการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว สำเร็จไปได้หรือไม่อย่างไร ประชาชนคงเห็นได้ เราแก้ได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างระบบเลือกตั้งเท่านั้น

ส่วนจะคาดหวังหรือไม่ว่า หากเลือกตั้งครั้งหน้ามีพรรคแลนด์สไลด์เป็นประชาธิปไตยแล้ว จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า อย่างที่เรียนว่าประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมถูกปิดตัวลง ต้องฝากความหวังไว้ที่ประชาธิปไตยแบบผู้แทน การเลือกตั้งคงใกล้เกิดขึ้นไม่ช้าไม่นาน หวังว่า ส.ส. ที่สนับสนุนแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผลักดันเป็นนโยบาย รณรงค์หาเสียงต่อไป ประชาชนได้ตัดสินใจในการลงคะแนนได้

เมื่อถามว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่เคยแก้ได้เลย และหลายพรรคการเมืองอยู่ตั้งแต่ปี 2540 มองว่าเป็นแค่เกมการเมืองเอาตัวรอดระยะเวลาหนึ่ง เพื่อประคองสังคมหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ไม่คิดเช่นนั้น สถานการณ์การเมืองแต่ละสมัย ต่างช่วงต่างเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่มีความเสมอคือ พรรคการเมือง นักการเมืองที่ต้องลงเลือกตั้ง หู 2 ข้างต้องฟังเสียงประชาชนตลอด นักการเมืองจะมีการตอบรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาชนได้รวดเร็ว

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์