คว่ำแล้ว "ร่างรธน.ปชช." หลัง รัฐสภา โหวตรับหลักการ 206:473 ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

คว่ำแล้ว "ร่างรธน.ปชช."  หลัง รัฐสภา โหวตรับหลักการ 206:473 ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

ส.ว.ออกเสียงไม่รับหลักการ เกิน166 คน ทำให้เสียงไม่ถึง 1 ใน3 ที่เป็นข้อกำหนดให้ "ร่างรธน.ฉบับประชาชน" ผ่านมติของรัฐสภา พบ3ส.ว. ออกเสียงหนุน

        เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมร่วมรัฐสภา วาระลงมติว่าจะรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1.35แสนรายชื่อ หรือไม่ ได้เริ่มขึ้น โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

 

 

         โดยการลงมติดังกล่าวจะใช้การขานชื่อเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนประกาศการลงมติ ทีละคน ทั้งนี้ในการลงมติดังกล่าวใช้เวลาประมาณ  1 ชั่วโมงครึ่ง แม้ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น แต่พบว่าการลงมติ ของส.ว. ที่อยู่ในลำดับที่ 489   พบว่าได้ออกเสียง ว่าไม่รับหลักการ เป็นจำนวน 166 เสียง ทำให้เสียงรับหลักการที่ต้องใช้ 1 ใน 3 หรือ 83 เสียงจากส.ว.ที่มีอยู่ 248 คน ไม่ครบตามจำนวนดังกล่าว ถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ถูกรับหลักการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256

        โดยการลงมติดังกล่าวจะใช้การขานชื่อเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนประกาศการลงมติ ทีละคน ทั้งนี้ในการลงมติดังกล่าวใช้เวลารวมกว่า 2ชั่วโมง

 

          จากนั้นนายชวน ประกาศผลการลงมติหลังจากที่ตรวจสอบผลการลงคะแนนแล้ว ว่า  มติของรัฐสภาไม่รับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เนื่องจากได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภาฯ โดยมีมติรับหลักการ  206 เสียง ต่อ 473 เสียง  ทั้งนี้ในเสียงรับหลักการ  มี  ส.ส. ลงคะแนน  203 เสียง ส.ว. รับหลักการ 3 เสียง, มติไม่รับหลักการ มี ส.ส.ไม่รับหลักการ 249 เสียง และ ส.ว. ไม่รับหลักการ 224 เสียง ทั้งนี้มีผู้งดออกเสียง 6 เสียง แบ่งเป็น  ส.ส. 3เสียง  และ ส.ว.3 เสียง

 

         “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ถูกรับหลักการ เพราะคะแนนรับหลักการน้อยกว่ากึ่งหนึ่งที่ต้องใช้ 362 เสียง  คะแนนที่ได้ไม่ถึง ไม่ต้องนับคะแนนฝั่งของวุฒิสภา” นายชวน ชี้แจง จากนั้นได้ปิดประชุม เมื่อเวลา 12.12 น.

 

 

 

 

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการออกเสียงของ ส.ว. พบว่าส่วนใหญ่ไม่รับหลักการ แต่มี ส.ว. ที่ออกเสียงรับหลักการ คือนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายพิศาล มาณวัฒน์, นายมณเฑียร บุญตัน และมีผู้ที่งดออกเสียง ได้แก่  นายเจน นำชัยศิริ , นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา, นายอำพล จินดาวัฒนะ

 

 

 

          ส่วน การออกเสียงของส.ส. พบว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกเสียงรับหลักการ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ลงมติไม่รับหลักการ  ส่วนส.ส.ที่งดการออกเสียง  3 คน  ได้แก่ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และ น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลเมืองไทย