"ปฏิรูป" ไม่ได้ "ปฏิวัติประชาชน" ก็ไม่ได้

"ปฏิรูป" ไม่ได้ "ปฏิวัติประชาชน" ก็ไม่ได้

กองเชียร์นักวิชาการหลายคน จึงพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองในข้างหน้า คล้ายบทวิเคราะห์ของใบตองแห้ง คือ "มีแนวโน้มไปสู่สภาพอนาธิปไตย" ยุทธวิธีสันติวิธีเชิงรุกแบบทะลุฟ้า หรือทะลุแก๊ซ สุ่มเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าแตกหัก เหมือนที่ใครบางคนวาดหวังจะเห็นสงครามกลางเมือง

เอฟเฟกต์ล้มล้างการปกครอง ส่งผลสะเทือนต่อฟากฝ่ายประชาธิปไตยอย่างหนักหน่วง ขบวนการเยาวรุ่นจะไปอย่างไร และอาจถึงขั้นยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ได้ลุ้นระทึกนับจากนี้ไป

ขณะที่ฟากฝ่ายอนุรักษ์นิยมย่อมถูกท้าทายด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ และม็อบสันติวิธีเชิงรุกต่อเนื่อง ความขัดแย้ง 2 ขั้ว 2 ความคิดในสังคมไทยจะปะทุอีกระลอก

นักวิชาการหัวก้าวหน้าบอกว่า น่าเสียดายเมื่อประตูปฏิรูปถูกปิด พื้นที่ทางความคิดถูกทำลายด้วยคำวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง เสมือนว่าประเทศกำลังเข้าสู่การเผชิญหน้าแตกหัก

"ใบตองแห้ง" คนเดือนตุลา และพิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าวทางช่องวอยซ์ทีวี ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า "..ระบอบที่ขีดไว้นี้ เท่ากับบีบบังคับให้เปลี่ยนแปลงโดยการปฏิวัติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่สามารถต่อสู้ด้วยอาวุธ เงื่อนไขต่างๆในสังคมปัจจุบันก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นแล้ว"

ภาวะดังกล่าว "ใบตองแห้ง" เรียกว่า "ปฏิรูปไม่ได้ ปฏิวัติไม่ได้" ซึ่งคำว่าปฏิวัติในที่นี้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบและโครงสร้าง

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น "ทิศทางจึงมีแนวโน้มไปสู่สภาพอนาธิปไตย คือปฏิเสธ ดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ทำลายโครงสร้างกลไกอำนาจทุกส่วน ศาล ทหาร ตำรวจ อัยการ มหาดไทย รัฐราชการ ให้กองลงกับพื้น พร้อมกับปฏิวัติทางความคิดวัฒนธรรม ทำลายล้างความเคารพ"

ลองมาไล่เรียงดูขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ เริ่มจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ที่เป็นองค์กรพี่เลี้ยงของม็อบสามนิ้ว เนื่องจากเป็นหัวขบวนต้าน คสช.มาแต่ปี 2558 โดยมี รังสิมันต์ โรม เป็นแกนนำ

เมื่อรังสิมันต์ โรม ได้เป็น ส.ส. กลุ่ม DRG จึงได้ชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นผู้ประสานงาน และมีบทบาทสำคัญในการแฟลชม็อบ ภาคแรก

กลุ่ม DRG ออกแถลงการณ์เรื่องไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ไม่ต่างไปจากกลุ่มราษฎร, กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มเยาวชนปลดแอก, กลุ่มทะลุฟ้า ฯลฯ

นาทีนี้ ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าจับตาดูกลุ่มทะลุฟ้า เพราะมีความเคลื่อนไหวถี่มาก มักใช้แนวทางสันติวิธีเชิงรุก จนเกิดการปะทะกับตำรวจ คฝ.เป็นประจำ

กลุ่มทะลุฟ้า ออกแถลงการณ์ไม่ยอมคำวินิจฉัยเช่นกัน โดยตอนท้ายมีข้อความว่า "มาถึงขั้นนี้แล้ว ในเมื่อการปฏิรูปไม่ใช่ตัวเลือกที่พวกท่านต้องการ เราก็ยังพอที่จะเหลือตัวเลือกอื่นให้ท่านอยู่เหมือนกัน แต่จะเป็นตัวเลือกไหนนั้น… พวกท่านก็คอยดู"

กลุ่มทะลุฟ้า เกิดขึ้นจาก ไผ่ ดาวดิน ชวนมิตรสหายเดินเท้าจากขอนแก่น เข้ากรุงเทพฯ ขับไล่ประยุทธ์ ก่อนจะยกระดับขับเคลื่อนปฏิรูปสถาบันฯ 

สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า มาจากสถาบันการศึกษา ล้วนเป็นคนหัวก้าวหน้า ไม่ประนีประนอม ไล่ประยุทธ์เป็นเป้าล่อ แต่เป้าหลักคือ ปฏิรูปสถาบันฯ

กลุ่มเยาวชนปลดแอก ผู้ออกแบบม็อบรีเด็ม ม็อบไร้แกนนำ ที่ว่างเว้นจากการนัดหมายรวมพลคนไม่เอาประยุทธ์ลงถนนมาหลายเดือนแล้ว ได้ออกแถลงการณ์ว่า "อย่าอ้อมค้อมไปมาเลย ศาลรัฐธรรมนูญ บอกมาตรงๆ เถอะว่า ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

"ใครกันแน่ที่ไม่ประนีประนอม ใครกันแน่ที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ใครกันแน่ที่ล้มล้างประชาธิปไตย...คำวินิจฉัยวันนี้จะลุกเป็นไฟมอดไหม้ระบอบของมันเอง"

ช่วงที่มีผู้ชุมนุมอิสระ เปิดปฏิบัติการสามเหลี่ยมดินแดง ปรากฏว่า มีแกนนำม็อบรีเด็มบางคน ไปจัดตั้งกลุ่มทะลุแก๊ซ หวังขยายแนวรบใหม่ แต่ก็ถูกปราบปรามจนสลายตัวไป

แม้ยุทธวิธีโต้ตอบด้วยพลุ ดอกไม้ไฟของกลุ่มทะลุแก๊ซจะบอกว่าเป็นสันติวิธีเชิงรุก แต่เอาเข้าจริงมันก็สุ่มเสี่ยงอนาธิปไตย เมื่อไร้การจัดตั้ง ก็ตกเป็นเป้าถูกไล่ล่า และถูกจับกุมได้มากกว่า 700 คน

กองเชียร์นักวิชาการหลายคน จึงพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองในข้างหน้า คล้ายบทวิเคราะห์ของใบตองแห้ง คือ "มีแนวโน้มไปสู่สภาพอนาธิปไตย"

ยุทธวิธีสันติวิธีเชิงรุกแบบทะลุฟ้า หรือทะลุแก๊ซ สุ่มเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าแตกหัก เหมือนที่ใครบางคนวาดหวังจะเห็นสงครามกลางเมือง