7 ปี ปฏิบัติการความ(ไม่)มั่นคง โจทย์ใหญ่ ขวาง "ล้มล้างสถาบัน" 

7 ปี ปฏิบัติการความ(ไม่)มั่นคง  โจทย์ใหญ่ ขวาง  "ล้มล้างสถาบัน" 

กว่า 7 ปีหลังยึดอำนาจ "พล.อ.ประยุทธ์" พยายามปฏิรูปการเมือง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ แต่สถานการณ์วันนี้ยังเหมือนอยู่จุดเดิม ที่เพิ่มเติมคือโจทย์ใหญ่ที่ต้องขวางกระบวนการล้มล้างการปกครองและสถาบัน ที่เห็นว่าเป็นภัยความมั่นคง

หลังจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยการกระทำของ 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับการ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการ ล้มล้างการปกครอง และสั่งให้เลิกกระทำการดังกล่าวในอนาคตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

“รุ้ง ปนัสยา” แกนนำเพียงหนึ่งเดียวที่ยังเป็นอิสระอยู่นอกเรือนจำ ได้อ่านแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขาดความชอบธรรมในการพิจารณาคดี โดยไม่มีการไต่สวน และยืนยันว่า 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง พร้อมกับประกาศเดินหน้าต่อสู้ตามจุดยืนเดิม

จากนี้ไปความเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีแนวโน้มจะกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และจะนำไปสู่จุดตั้งต้นการดำเนินคดีอาญากับ “รุ้ง-ไมค์-อานนท์”

ทว่า การเอาผิดในคดีอาญาเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง ข้อหายุยงปลุกปั่น ม.113 (ล้มล้างการปกครอง = กบฏ) ม.114 (ตระเตรียมการเพื่อก่อกบฏ) หรือ ม.116 (ยุยงปลุกปั่น) ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนกว่าในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น พฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้าย การสะสมกำลังคนและอาวุธ อาศัยเพียงคำปราศรัยบนเวที น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่พฤติการณ์ของ “รุ้ง-ไมค์-อานนท์” น่าจะเข้าข่ายความผิดตาม ม.112

ท่าทีของหน่วยงานความมั่นคงชี้ว่า คำตัดสินของศาลถือเป็นบรรทัดฐานว่าใครก็ตามที่เคลื่อนไหวในลักษณ์ดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครอง

ส่วนจะกลายเป็นเงื่อนไขถูกนำไปปลุกระดมกันต่อหรือไม่นั้น  ฝ่ายความมั่นคงประเมิน ว่า "เป็นไปได้ทั้งหมด เพราะการดำเนินการดังกล่าวทำกันเป็นขบวนการที่มีมาตั้งแต่ในอดีต แต่มาเด่นชัดในช่วง 7 ปีให้หลัง มีการรับส่งไม้ต่อกันเป็นทอดๆ ทั้งการเดินเกมในและนอกรัฐสภา รวมถึงความเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ"

แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า “กองทัพได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ไม่ว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะพัฒนาไปอย่างไร เป็นเรื่องทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เราคงไม่ปล่อยให้ใครมาล้มล้างสถาบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันของชาติ ที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญมาทุกยุคทุกสมัย และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ย้ำจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนแล้ว”

ในขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เลือกที่จะแสดงจุดยืนผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว แทนการออกมา “ฮึ่ม ๆ” ผ่านการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเหมือน ผบ.ทบ.ยุคก่อน เพื่อลดบรรยากาศร้อนแรงทางการเมือง แต่ยังคงไว้ซึ่งการทำหน้าที่ปกป้องสถาบันในฐานะผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904)

โดยการรีทวีตข้อความจากเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกับการพิทักษ์ปกป้องสถาบัน รวมถึงข่าวโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่ไม่ต้องการให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือการเมือง และจำเป็นต้องปกป้องการล้มล้างสถาบันจากกลุ่มไม่หวังดี

และทันทีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของ 3 แกนนำ "ม็อบราษฎร" เป็นการล้มล้างการปกครอง "พล.อ.ณรงค์พันธ์" ได้รีทวิตฯ ข้อความจากเพจประชาชนของพระราชา ระบุเนื้อหา "ด่วน! ศาลตัดสิน"รุ้ง-ไมค์-อานนท์" ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สะท้อนให้เห็นแนวคิดและจุดยืนของ ผบ.ทบ.ว่าชัดเจนเพียงใด

อ่านข่าว : ปิดฉาก “ม็อบราษฎร” ศาล รธน.ชี้ 3 “แกนนำ” ล้มล้างการปกครอง-เซาะกร่อนสถาบันฯ

วันถัดมา (11 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พูดกับนักศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ขณะเปิดหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 64 ตอนหนึ่งว่า

“ต้องฝากในเรื่องของการยืนในห้องชมภาพยนตร์…พูดง่าย ๆ คนอยากยืน ไม่กล้ายืน เราต้องกล้าหาญในการที่จะยืน ผมเข้าใจนะ ไม่ได้บังคับ แต่เราเป็นครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวเดียวกันที่ต้องทำประเทศชาติให้ยั่งยืน”

 ความเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน และการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นขึ้น น่าจะเป็นเหตุที่นายกฯ ตั้งใจพูดประเด็นนี้ หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การยืนแสดงความเคารพระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนังเริ่มเปลี่ยนไป มีผู้ชมไม่น้อยเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้

กว่า 7 ปีหลังยึดอำนาจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามปฏิรูปการเมือง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ แต่สถานการณ์วันนี้ยังเหมือนอยู่จุดเดิม ที่เพิ่มเติมคือโจทย์ใหญ่ที่ต้องขวางกระบวนการล้มล้างการปกครองและสถาบัน ที่เห็นว่าเป็นภัยความมั่นคง