ฟ้อง "สตช.-ผบ.ตร." เรียกค่าเสียหาย 3 ล้าน สลาย "ม็อบ 17 พ.ย." ขัดกฎหมาย

ฟ้อง "สตช.-ผบ.ตร." เรียกค่าเสียหาย 3 ล้าน สลาย "ม็อบ 17 พ.ย." ขัดกฎหมาย

"กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" พร้อมผู้เสียหายจากการชุมนุม 17 พ.ย.63 หน้าสภา ยื่นฟ้อง สตช.-ผบ.ตร. เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง รวมเกือบ3ล้านบาท พร้อมขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจสลายการชุมนุม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน

12 พ.ย.2564 กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. 63 จำนวน 9 คน เดินทางมาที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดา เพื่อยื่นฟ้องทางแพ่งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย ค่ารักษาพยาบาล รวมเกือบ3ล้านบาท และขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวาง และใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล

   โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งมองว่า เหตุการณ์ขณะนั้นยังไม่มีผู้ชุมนุม และยังมีการสัญจรไปมาตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ และถือเป็นการสลายการชุมนุมตั้งแต่ยังไม่ใช่เวลานัดหมายชุมนุม ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้รับบาดเจ็บทั้งภายนอก และภายใน จึงมาขอความเป็นธรรมในวันนี้ โดยค่าเสียหายทั้งหมด เฉลี่ยคนประมาณ 3แสนบาท และมีผู้เสียหาย1รายที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุด กว่า 4แสนกว่าบาท โดยได้นำหลักฐานเป็นภาพถ่ายมาและมีใบรับรองแพทย์ แนบมาด้วย

 ขณะที่นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมในฐานะตัวแทนการเจรจากับตำรวจ  บอกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการประชุมสภา และยังไม่ได้เริ่มมีการชุมนุม แต่ตำรวจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ทั้งการตั้งแนวรั้วกันพื้นที่ การใช้น้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม ซึ่งการกระทำดังกล่าวมองว่า ผิดหลักสากล และผิดต่อหลักกฎหมาย และในวันดังกล่าวได้มีการแจ้งหรือเจรจาใดๆ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรง

ทำให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และบาดเจ็บสาหัสค่าเสียหายรวมๆเกือบ 3ล้านบาท โดยการฟ้องในวันนี้จะเป็นการเรียกค่าใช้จ่ายการได้รับบาดเจ็บ และค่าเสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิการเดินทาง รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกขัดขว้างการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพราะมองว่า การที่ตำรวจตั้งเครื่องกีดขวางการใช้สิทธิในการชุมนุมนั้นความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว

 ด้านอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความภาคีนีกกฎหมายสิทธิมนุษยชน บอกเพิ่มเติมว่า การมายื่นฟ้องวันนี้เพื่อยืนยันว่า การขีดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมจะต้องได้รับการตรวจสอบจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้รับการเยียวยา และเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขวางการชุมนุมเกิดขึ้นอีก และคาดหวังว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับกรณีต่างๆ ซึ่งในวันนี้ก็จะขอให้ศาลกำหนดมาตรการว่าต่อไปจะต้องไม่มีการใช้กำลังเข้ามาควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะอีก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยยืนยันว่า การชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย.63 เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ
   และคดีนี้ เคยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง จึงอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้ตัดสินใจถอนฟ้อง เพราะความคลุมเครือของเขตอำนาจศาล และมายื่นศาลแพ่งแทนในวันนี้ เพราะทางอายุความการจะยื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลยุติธรรมจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลา1ปีนับจากวันที่เกิดเหตุ