โหนกระแสแก้ “ม.112” “เพื่อไทย” ยังไงต่อ ?

โหนกระแสแก้ “ม.112”  “เพื่อไทย” ยังไงต่อ ?

ท่าทีพรรคเพื่อไทยต่อประเด็นการแก้ไขมาตรา112 ยามนี้ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับการชิงเกมดึงมวลชนชิงฐานพรรค“ก้าวไกล” ขณะที่กระบวนการหลังจากนี้ยังไร้ซึ่งคำตอบจาก "บิ๊กเพื่อไทย" ว่า ใส้ในที่พรรคเตรียมเสนอมีหน้าตาเป็นอย่างไร? เพดานสูงสุดจะดันไปถึงจุดไหน?

ในห้วงปี่กลองการเมืองที่เริ่มส่งสัญญาณในการปรับทัพรับเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ทว่าชั่วโมงนี้ยังต้องจับตาไปที่การประกาศจุดยืนของบรรดาพรรคการเมืองที่ “หนุน-ค้าน” การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา(ป.อาญา) มาตรา112 

โดยเฉพาะท่าทีล่าสุดจาก พรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ออกแถลงการณ์ ลงนามโดย “ชัยเกษม นิติสิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค ผลักดันให้มีการแก้ไข ป.อาญามาตรา 112 และ ม.116  

ทั้งยังเป็นการออกแถลงการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการประกาศจุดยืนของผู้ชุมนุมเครือข่ายราษฎร ที่ประกาศจุดยืนยกเลิกมาตรา 112 ในวันเดียวกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง

หลักใหญ่ใจความของแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุเหตุผลสำคัญคือ “การให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย”

โหนกระแสแก้ “ม.112”  “เพื่อไทย” ยังไงต่อ ?

 

จะว่าไปการแสดงจุดยืนในการแก้ไขมาตรา 112 และมาตรา 116 ของพรรคเพื่อไทยในรอบนี้ก็สร้างความฮือฮาอยู่ไม่น้อย 

เพราะหากยังจำกันได้ ในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง “พรรคก้าวไกล” พยายามชิงจังหวะที่กระแสม็อบที่กำลังเคลื่อนไหวดุเดือดทะลุเพดาน เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ

เนื้อหาร่างแก้ไขเวลานั้น อยู่ที่การเสนอแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 เนื้อหา “ยกเลิกมาตรา 112” แล้วไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ในร่างดังกล่าว ยังกำหนดด้วยว่า หากติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด

ทั้งนี้ ยังมีการแก้ไขยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป รวมถึงดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล หรือผู้พิพากษา

โหนกระแสแก้ “ม.112”  “เพื่อไทย” ยังไงต่อ ?

ทว่า การแก้ไขในครั้งนั้นกลับมีเพียง “44 ส.ส.ก้าวไกล”จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 53 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย ไร้เงา ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ร่วมลงชื่อ ก่อนที่ร่างแก้ไขดังกล่าวจะถูกตีตกในชั้นแรกก่อนบรรจุเข้าวาระ ด้วยเหตุผล

“เป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

ส่งผลให้อีเวนท์ดังกล่าวต้องถูกพับไปโดยปริยาย

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เวลานั้นคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามที่จะเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ผ่าน “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภาในขณะนั้น แต่กลับถูกตีตกด้วยเหตุผล

“ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเสนอ”

ทว่าผ่านไปเพียง 8 เดือนกลับกลายเป็นเพื่อไทยที่ “ชิงเกม” ในจังหวะที่ม็อบ 3 นิ้วยื่นข้อเสนอทลายเพดานในการออกแถลงการณ์สนับสนุนการแก้ไขมาตราดังกล่าว ท่ามกลางคำถามถึงท่าทีดังกล่าว ที่เวลานี้ยังไร้ซึ่งคำตอบจากพรรคเพื่อไทยว่า ที่สุดแล้วเพดานการเสนอแก้ไขครั้งนี้จะสูงสุดแค่ไหน? หน้าตาของใส้ในที่พรรคเตรียมเสนอเป็นอย่างไร?

โหนกระแสแก้ “ม.112”  “เพื่อไทย” ยังไงต่อ ?

เพราะแม้แต่ตัว “ชัยเกษม” ตัวตั้งตัวดีเองก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า กระบวนการหลังจากนี้จะยังไงต่อไป จะ“ยกเลิก” มาตรา 112 หรือจะแค่ “ปรับแก้” ตามยุคตามสมัย บอกแต่เพียงว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับการชิงเกมดึงมวลชนกัน ระหว่าง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” 

ยิ่งล่าสุดมีสัญญาณจาก "นายใหญ่ดูไบ"  พูดถึงการบังคับใช้มาตรา 112  ว่า

"ตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก"

 จากนี้จึงต้องจับตา ที่สุดแล้วเพื่อไทยจะเอายังไงกับประเด็นนี้ หากยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ "เดินหน้าไม่สุด"  แต่ก็ "ไม่หยุดไม่ถอย" เช่นนี้ ทำไปทำมากระแสจะตีกลับมายังพรรคเพื่อไทยเสียเอง !!