รู้จัก "แรมโบ้อีสาน" หลังโซเชียลแชร์คลิปว่อน กลุ่มเสื้อแดงตบหัว

รู้จัก "แรมโบ้อีสาน" หลังโซเชียลแชร์คลิปว่อน กลุ่มเสื้อแดงตบหัว

เปิดประวัติ "แรมโบ้อีสาน" หรือ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ หลังจากเหตุการณ์ที่เจ้าตัวถูกผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงคนหนึ่ง ตบหัวไป 4 ที และมีการแชร์คลิปในช่องยูทูบ จนเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลาม 

ชื่อของ "แรมโบ้อีสาน" หรือ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง จากเหตุการณ์ที่เจ้าตัวถูกผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงคนหนึ่งตบหัวไป 4 ที และมีการแชร์คลิปในช่องยูทูบจนเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลาม 

 

 

สำหรับประวัติ ของ "แรมโบ้อีสาน" หรือ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ (ชื่อเดิม : สุภรณ์ อัตถาวงศ์) เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคไทยรักไทย และเคยเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน ในปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

 

"แรมโบ้อีสาน" เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2507 ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรของนายประวัติ-นางสุ้น อัตถาวงศ์ และเป็นน้องชายของนายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และพี่ชายนาย ชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์​ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย​)​

 

การศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนครบุรี จบ มศ.5 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาเอก สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปัจจุบันกำลังศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 25

 

 

การทำงาน เริ่มทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าหน้าที่กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาว่างในการเป็นผู้ช่วยผู้ดำเนินงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พรรคกิจสังคม เป็นผู้ช่วยทำงานให้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

 

ต่อมาจึงได้ย้ายติดตามนายมนตรี ด่านไพบูลย์ มาสังกัดพรรคความหวังใหม่ หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าอาสาสมัครรณรงค์เลือกตั้งของพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. 2538 และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี พ.ศ. 2539 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 นายสุภรณ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

 

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 74

 

กระทั่งต่อมา ใน พ.ศ. 2561 นายสุภรณ์ได้ย้ายเข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

 

การร่วมชุมนุมทางการเมือง แรมโบ้อีสาน ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. จนกระทั่งรัฐบาลสั่งการปฏิบัติการณ์กระชับวงล้อมในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2553 และแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์

 

เขาได้ส่งตัวแทนชี้แจงว่าจะเข้ามอบตัวต่อ ศอฉ. หลังจากยกเลิกเคอร์ฟิว จากนั้นก็หายตัวไปและไม่ติดต่อกลับมาอีก แหล่งข่าวจำนวนหนึ่งอ้างว่าเขาไปหลบซ่อนตัวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่ประการใด

 

ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย