เสี่ยงดวงเปิดประเทศ “กู้ศก.-ฟื้นเรทติ้ง“ ทิ้งทวน”เอเปค” ก่อนยุบสภา

เสี่ยงดวงเปิดประเทศ “กู้ศก.-ฟื้นเรทติ้ง“ ทิ้งทวน”เอเปค” ก่อนยุบสภา

นับเป็นเดิมพันทางการเมืองครั้งสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ยังอยู่ในระดับไม่น่าไว้วางใจ

ความจำเป็นต้องพร้อมในการเปิดประเทศ เพราะไทยมีบิ๊กอีเวนท์ปลายปี พ.ย.นี้ต้องเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้องลากยาวต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 และเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ โดยคาดหวังการฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

 

ทว่า จังหวะการเปิดประเทศภายใต้ปัจจัยในประเทศที่ยังขาดๆ เกินๆ แบบนี้ จึงเลี่ยงไม่พ้นที่ถูกจับจ้องว่า รัฐบาลกำลังเดิมพันอนาคตประเทศ โดยหวังผลทางการเมือง ซึ่งหลายฝ่ายพยายามเตือนให้รอบคอบในแต่ละย่างก้าวของการตัดสินใจ

 

กรุงเทพธุรกิจ ได้สัมภาษณ์มุมมองนักยุทธศาสตร์การเมือง ที่เกาะติดทิศทางที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเดินหน้าเปิดประเทศ ที่ควรพิจารณา

 

“กอร์ปศักดิ์” ชี้ วัคซีนต่ำเกณฑ์เสี่ยงดวง

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองการเปิดประเทศของไทย 1 พ.ย.2564 นี้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนครบโดส อย่างน้อยที่สุด 60% ของประชากร หลายประเทศสามารถฉีดได้ถึง 70% ดังนั้นการเปิดประเทศจึงไม่ได้คำนึงว่าจะต้องเปิดภายในวันใด 

หลายประเทศยึดการฉีดวัคซีนครบ2โดส ให้ประชากรผู้ใหญ่ครบเมื่อใด ถึงเปิดทันที แต่ของเราในขณะนี้ฉีดครบ 2 โดสไปประมาณ 26 ล้านคน ยังขาดอีกครึ่งหนึ่ง แม้การเปิดประเทศเพื่อจะเปลี่ยนนโยบายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด จำเป็นต้องทำ แต่ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ตามเกณฑ์

สำหรับประเทศไทยไม่มีใครรู้ เมื่อเปิดประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่มีใครทดลองเปิดประเทศโดยที่ยังฉีดวัคซีนได้น้อย เราจะเป็นประเทศแรกในโลกที่กล้าทดลองเปิดประเทศ ทั้งที่การฉีดวัคซีน ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ WHO กำหนด อันนี้ก็เสี่ยงดวงเอา เพราะเรายังฉีดไม่ถึงเกณฑ์ยกเว้นจากวันนี้ไปจนถึง 1 พ.ย. ถ้าฉีดโดส 2 วันละ 1 ล้าน หรือมากกว่านั้น ก็จะได้ 14-15 ล้านแม้ยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่ก็ดีกว่า

"นายกฯ" กล้าเสี่ยง ต้องกล้ารับผิดชอบ

เราก็ต้องยอมรับท่านกล้าเสี่ยง ก็เป็นเรื่องของท่าน ท่านรับผิดชอบก็แล้วกัน ผมมองว่าท่านกล้าจริงๆ” กอร์ปศักดิ์ ระบุ พร้อมทั้งยกกรณี อย่างประเทศจีนเขาไม่ให้คนของเขาเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งที่ฉีดวัคซีนได้ 1,000 กว่าล้านคน เพราะลึกๆ ในใจรู้ว่าวัคซีนชิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็มไม่เพียงพอ ส่วนสหรัฐอเมริกาตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก็เป็นผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน

ผมว่าไม่มีประเทศไหนที่ฉีดวัคซีนยังไม่ถึงเกณฑ์ 70% แล้วเปิดประเทศ เวลาเปิดคนก็ไม่กล้าเข้ามา เราไปกลัวนักท่องเที่ยวจะนำเชื้อเข้ามา อันนี้ผิด คนที่เข้ามานำเชื้อมาน้อย แต่คนไทยที่ต้องทำมาหากินและเดินทางกันเป็นจำนวนมาก ตรงนี้ต่างหากน่ากลัว อย่างที่ภูเก็ต นักท่องเที่ยวเข้ามา จำนวนน้อยมากที่ติดเชื้อ แต่คนไทยที่เข้าไปทำมาหากิน คนกลุ่มนี้ต่างหากที่เราคุมยาก

โชว์ออฟเจ้าภาพเอเปคก่อนยุบสภา

การเปิดประเทศมีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัย ด้วยไทม์ไลน์ที่ใกล้ยุบสภาเต็มที ผมว่ามัน Do or Die ถ้าทำได้สำเร็จก็สามารถดึงเวลาให้รัฐบาลมีหน้ามีตาในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ตรงนั้นเป็นหัวใจของผู้นำที่ต้องการจะโชว์ศักยภาพ ได้พบผู้นำต่างประเทศ พอพบเสร็จเรียบร้อย ก็ยุบสภาได้

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นวูบหนึ่งแน่นอน เป็นเรื่องปกติ เพราะคนเดินทางเยอะ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในส่วนนี้มีความสำคัญ เท่าที่เห็นมาตรการหลายอย่างยังไม่พร้อมแต่ก็เอาใจช่วย ไม่อยากให้คุมไม่อยู่แล้วต้องล็อกดาวน์กันอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ถ้าการเปิดประเทศเป็นไปตามแผน ความนิยมในตัวรัฐบาลก็จะกลับมา แม้บริหารจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 คน แต่มาแก้ปัญหาได้ในภายหลัง ตัวเลขที่เกิดขึ้นเราก็ลืมไปเลยว่าเขาทำผิดพลาด แล้วมาแก้ในสิ่งที่ทำผิดพลาด ซึ่งไม่ใช่เก่ง แต่ความรู้สึกของคนก็มักจะเป็นอย่างนี้ว่าดีแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าตอนที่สถานการณ์เลวร้ายนั้นเป็นเพราะใคร

ชะลอโครงการใหญ่-เงินกู้ต้องได้ประโยชน์

“ก่อนโควิดเศรษฐกิจก็แย่มาก ขนาดว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน วันนี้จะเปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวสัก 1-2 ล้านคน เศรษฐกิจดีแล้วจะเป็นไปได้อย่างไร อนาคตน่ากลัว”

ดังนั้น โครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลที่ต้องใช้เวลา 5-10 ปี ตอนนี้ต้องหยุดไว้ก่อน เราต้องเอาตัวให้รอดสำคัญที่สุด ในปี 2565-66 นโยบายทางการคลังของเราเนี้ยบแค่ไหน การใช้เงินเต็มที่แค่ไหนเพื่อตอบสนองให้เศรษฐกิจดีขึ้น และจัดเก็บรายได้มากขึ้น จากการใช้เงินเป็นและถูกทิศทาง

ไม่ต้องไปห่วงว่าจะกู้มากน้อยแค่ไหน ใครว่าอะไรปล่อยให้ว่าไป กู้ได้กู้เต็มที่ แต่กู้แล้วต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้ากู้แล้วใช้ไม่เป็นประโยชน์ ประเทศก็จบ” อดีตรองนายกฯ ระบุ

 

“ปานปรีย์”ชี้บทเรียน“คลัสเตอร์ใหม่”

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การเปิดประเทศเป็นไปตามที่นายกฯ บอกกับประชาชนไว้ จำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นประชาชนและเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ แม้คนจะฉีดวัคซีนมาก ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ แต่โอกาสเสียชีวิตน้อยลง หลายประเทศอัตราการติดเชื้อก็เยอะ แต่ก็จำเป็นต้องเปิดประเทศ ไม่มีทางเลือกอื่น

ในมุมของคนที่จะเดินทางมาก็จะมองความมั่นคงของตัวเองก่อน ประเทศที่เขาจะไปมีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าประเทศนั้นแก้ปัญหายังไม่เรียบร้อย ก็อาจไม่เดินทางมาก็ได้ ไม่ใช่เปิดประเทศแล้วเขาจะมา ตอนนี้จึงต้องดึงกลุ่มคนที่พร้อมให้เลือกมาประเทศไทย ก็อยู่ที่การประชาสัมพันธ์ การรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้คนที่จะมาเที่ยวไทยตกใจ เพราะการเดินทางของคนครั้งนี้ต้องคิดมากขึ้น

“คนกลุ่มที่พร้อมท่องเที่ยววันนี้มีอยู่น้อยนิด ไม่เหมือนเดิม เราทำให้คนที่จะท่องเที่ยวเห็นว่าประเทศไทยน่าไปและมีความปลอดภัยมากที่สุดได้อย่างไร อยู่ที่ความสามารถของเราว่าจะไปดึงคนกลุ่มที่มีอยู่จำกัดตรงนี้มาได้หรือไม่ เพราะจะไม่ใช่แห่กันมา 40 ล้านคนเหมือนสมัยก่อน”

ส่วนกับดักที่น่ากลัวจากการเปิดประเทศนั้น เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา วันนี้เราไม่มีข้ออ้างแล้วว่า เราไม่รู้อะไร การระบาดคลัสเตอร์สนามมวย สถานบันเทิง หรือการลักลอบเข้าเมือง แคมป์คนงานก่อสร้าง เราเรียนรู้มาหมดแล้ว เมื่อจะเปิดประเทศก็เปิดได้ แต่ก็ต้องดูว่าตรงไหนมีความละเอียดอ่อนมาก ก็อย่าเพิ่งเปิดเต็มที่ จุดไหนที่เราเคยมีประสบการณ์ต้องคิดให้หนัก เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง

“อย่าให้คนมาวิ่งเต้นเปิด ต้องเปิดภายใต้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มีความเชื่อมั่นว่าปลอดภัย ไม่ใช่เจ้าของผับเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือมีอิทธิพล จะอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้แล้วอันตราย ถ้าคนกลับมาติดอีกจะให้อภัยรัฐบาลไม่ได้”

ลุ้นปัญหาใหม่กับความไม่แน่นอนศก.

ปานปรีย์ ย้ำว่า ช่วงก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกต่อรัฐบาลเรื่องโควิดรุนแรงมาก ถ้าวัคซีนมาเร็วกว่านี้ สถานการณ์บ้านเมืองจะดีกว่านี้ ในวันนั้นผู้คนต่างรู้สึกทนไม่ไหว แย่มาก เพราะทุกคนกลัวตายจนเกิดความแพนิค รัฐบาลโดนโจมตีอย่างหนัก

ปัญหาต่อไป คือคนจะมีอาชีพ มีรายได้ ชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ลูกหลานจะได้กลับไปเรียน ครอบครัวมีเงินส่งเสียแค่ไหน ตรงนี้เป็นความกังวลใหม่ หนี้ครัวเรือนจะชำระได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นต้องไปกู้เพิ่มจนไม่เหลืออะไรแล้ว ที่ดินที่มีก็ขายหมด ตรงนี้จะเกิดปัญหาใหญ่ คนก็มองว่าจะมาถึงตัวหรือไม่ ก็เริ่มกลัวแล้ว เมื่อกิจการกลับมาเปิดได้ ไม่รู้จะขายได้อย่างที่คิดหรือไม่และจะมีการระบาดของโควิดรอบใหม่หรือไม่ รัฐบาลจะมีเงินให้อีกหรือไม่ มันเป็นความไม่แน่นอนที่สูง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่สบายใจ

 

เปิดประเทศหากผิดเป้า “เรทติ้งวูบ”

อย่างไรก็ตาม หากแผนเปิดประเทศ เป็นไปตามเป้า พลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ จะกลายเป็นความได้เปรียบเรื่องคะแนนนิยม สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ปานปรีย์ มองว่า ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่ผ่านมาใครบริหารประเทศ ใครดูแลเรื่องวัคซีนสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ แล้วผลเป็นอย่างไร คนก็ยังจำได้ แล้วครั้งหน้าจะใช้วิธีบริหารแบบเดิมหรือไม่ มีอะไรใหม่ที่จะทำให้คนกลับมามีความเชื่อมั่น เพราะวันนี้ความเชื่อมั่นมันหายไปหมดแล้ว

ถ้านายกฯ ดึงความเชื่อมั่นกลับมา โดยการเป็นนายกฯ และองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคต รวมถึงพรรคการเมืองที่จะมาส่งเสริมนายกฯ เป็นพรรคการเมืองหรือตัวบุคคลที่ประชาชนรู้สึกว่าใช่ สบายใจ เวลาทำงานในสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งเป็นสเกลระดับโลก จึงต้องอาศัยความสามารถที่สูงมากในการเข้ามาแก้ไขปัญหา

ลำพังตัวนายกฯ คนเดียวเอาไม่อยู่ และที่ผ่านมาถือว่ายังสอบไม่ผ่าน แต่ครั้งต่อไปถ้าจะเข้ามาบริหารประเทศ และถ้าสามารถปรับตัวได้ เชื่อว่าประชาชนก็พร้อมจะให้โอกาส