“จุรินทร์” ออนทัวร์กระชับพื้นที่ ปชป.ทวงคืนสถานะ “พรรคใหญ่”

“จุรินทร์” ออนทัวร์กระชับพื้นที่ ปชป.ทวงคืนสถานะ “พรรคใหญ่”

หมากเกมต่อไปของ ปชป. หลังแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มี “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ นำเสนอโดย ปชป. ทำให้การเป็น “พรรคใหญ่” ได้เปรียบพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ค่อนข้างมาก รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ที่อาจทำให้ “เจ้าของพื้นที่เดิม” กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง

สถานการณ์การเมืองยังคงร้อนระอุ แม้ว่าฝุ่นควัน “ศึกใหญ่” ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เริ่มจางลงก็ตาม แต่พลันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งหนังสือด่วน ถึงทุกพรรคการเมืองให้เตรียมความพร้อมเลือกตั้งครั้งต่อไป หลายพรรคเริ่มเปิดฉากเปิดตัวแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” กันพรึ่บ

พรรคที่มีความเคลื่อนไหวร้อนแรงมากที่สุด หนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดย “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ลงพื้นที่สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ในชื่อกิจกรรม “จุรินทร์ ออนทัวร์” ทิศเหนือ-ใต้-ออก-ตก เจ้าตัวไปมาหมดแล้ว

ไม่แปลกที่ ปชป. มาเร่งเครื่องเอาช่วงนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลัง “ขาลง” อย่างต่อเนื่อง สารพัดปัญหาระดมเข้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายใน พปชร. การบริหารจัดการโควิด-19 การนำเข้าวัคซีน ม็อบรายวัน หรือแม้แต่การจัดการน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุใหญ่ 3 ลูกซัดเข้าไทย หลายปัญหายัง “แก้ไม่ตก” ทำเอาประชาชนบางคนเริ่มเอือมระอา เบือนหน้าหนีคนชื่อ “ประยุทธ์” และมองหาตัวเลือกใหม่

ทำให้แกนนำระดับสูงภายใน “พรรคสีฟ้า” ชู "จุรินทร์" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า แข่งกับ “บิ๊กตู่” ทันควัน เปิดด้วย "นิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรค ปชป. “แม่ทัพภาคใต้” ยก “อู๊ดด้า” เหมาะสมนั่งเก้าอี้เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า หลังจากนั้นแกนนำพรรคที่เหลือ รวมถึงสมาชิกบางส่วนเฮโลกันมาปล่อยข่าวชื่นชมจุรินทร์ทันที

แม้ข้อเสียของ “จุรินทร์” คือไม่ค่อยมีผลงานเป็นที่ “ประจักษ์” นัก แต่เรื่อง “ภาพลักษณ์” ไม่เป็นสองรองใครในรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน

สอดรับกับผลโพลหลายสำนัก ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยกจุรินทร์มีคะแนนนิยมตามมาเป็นลำดับ 2 รองจาก “บิ๊กตู่” เลยทีเดียว ทำเอาคน ปชป. ปลื้มปริ่ม แม้ว่าเจ้าตัวจะให้สัมภาษณ์ในเชิง “เจียมตัว” ขอทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ก่อนก็ตาม

แม้ว่า “พรรคประชาธิปัตย์” จะเริ่มสิ้นมนต์ขลังลงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “สูญพันธุ์” ส.ส.ใน กทม. และถูกช่วงชิงหลายพื้นที่ในภาคใต้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเป็นเพราะการ “วางหมาก” ผิดพลาด

แกนนำระดับสูงใน “พรรคสีฟ้า” เคยหล่นความเห็นไว้ว่า การเลือกตั้งปี 2562 มีหลายปัจจัยเป็น “ตัวแปร” โดยเฉพาะเรื่องการชูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี การเลือกข้างที่ “ผิดพลาด” ทำให้พื้นที่ภาคใต้ที่ก่อนหน้านี้ว่ากันว่า ปชป. ส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงก็ชนะ กลับต้องพ่ายแพ้ไปในหลายเขตยุทธศาสตร์สำคัญ

เช่นเดียวกับ "นิพนธ์ บุญญามณี" ที่ให้สัมภาษณ์ว่า เรามีบทเรียนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเราดูว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน พยายามแก้ไข และเสริมจุดแข็งในพื้นที่ การลงไปรับฟังความคิดเห็นและรับรู้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราได้บุคคลที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านรับรู้ปัญหา จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตัวผู้สมัคร

ทว่าในการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลหลังจากนี้ ปชป. วางแผนยุทธศาสตร์ไว้ใหม่หมด โดยเฉพาะแผน “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ” เปิดตัว “คนรุ่นใหม่” หลายคน เช่น “เมธี ลาบานูน” วางตัวชนกับ “เด็กบ้านป่ารอยต่อฯ” ใน จ.นราธิวาส 

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.เขตชื่อดังหลายคน หรืออดีตคน ปชป. เข้ามาล่มหัวจมท้ายจำนวนไม่น้อย หวังทวงคืนเก้าอี้ที่เสียไปกลับมาเป็นของพรรคอีกครั้ง

“โพลเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่จะชี้ขาดว่าจะได้รับเสียงข้างมากหรือไม่ อยู่ที่จำนวน ส.ส. ฉะนั้น การมี ส.ส. ในพื้นที่ครบทุกเขตจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะทำอย่างไรให้มีผู้สมัครที่มีคุณภาพ” นิพนธ์ ให้ความเห็นไว้น่าสนใจ

ในขณะที่ “รอยร้าว” ภายใน ปชป. ไม่ค่อยส่งผลเสถียรภาพภายในพรรคมากนัก เนื่องจากขณะนี้แต่ละคนอยู่กันแบบ “เกาะเกี่ยว” ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมี “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค คุมเสียงไว้เกือบทั้งหมด ส่วนบรรดากลุ่มก๊วนปีก กปปส. ภายในพรรคแทบไม่มีปากเสียง บางคนโดนคดี บางคนระเห็จออกจากพรรคไปแล้ว

ดังนั้นหมากเกมต่อไปของ ปชป. ภายหลังการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มี “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” และคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ ซึ่งนำเสนอโดย ปชป. เอง ทำให้การเป็น “พรรคใหญ่” ได้เปรียบพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ค่อนข้างมาก รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ที่อาจทำให้ “เจ้าของพื้นที่เดิม” กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง

การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นนั้น ประมาท “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่ได้เป็นอันขาด!