ประคองรัฐบาล ผ่านด่านสภาฯ เกม"กฎหมาย" เสี่ยงอุบัติเหตุการเมือง

ประคองรัฐบาล ผ่านด่านสภาฯ  เกม"กฎหมาย" เสี่ยงอุบัติเหตุการเมือง

จับสัญญาณการเมือง ก่อน "เวทีสภาฯ" จะเปิดฉาก เมื่อ "ผู้คุมเกม" ยังต้องการกระชับอำนาจ ผ่านการแย่งพื้นที่ทางการเมือง งานนี้ "อ.ตระกูล มีชัย" มองปรากฎการณ์-เกมการเมืองในสภาฯ จะขับเคี่ยวรุนแรง เปรียบเหมือน "หมา" ไม่กลัวน้ำร้อน "ลวก"

         ก่อนที่ “เกมการเมือง” ในสภาฯจะเปิดฉากวันที่ 1 พฤศจิกายน มีภาพ และสัญญาณปรากฎของการไม่สยบยอมฟากการเมืองร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นอีก หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ฮุบอำนาจการแก้ปัญหาโควิดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากการ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข 

 

         โดยให้คนใกล้ชิดเป็นแม่ทัพนำทีมแก้ปัญหา ทำให้มีสัญญาณไม่พอใจของ “บิ๊กภูมิใจไทย” ส่งผ่าน “ศุภชัย ใจสมุทร”

 

         กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำให้เห็นว่า “ผู้นำรัฐบาล” ยังคงต้องการคุมเรื่องโควิด-19 ไว้ในคาถาอย่างเบ็ดเสร็จอีกครั้ง โดยไม่สนใจท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลเบอร์หนึ่ง

 

         ท่าทีที่เกิดขึ้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ “ตระกูล มีชัย” ที่ติดตามรายละเอียด มองภาพการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะการเมืองในสภาฯ จะเล่นกันแรงขึ้น ชนิดที่เรียกว่า “หมาไม่กลัวน้ำร้อนลวก”

 

         “แม้การเมืองในสภาฯ ทุกสมัยจะมีประเด็นการขาดเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล มีความขัดแย้งภายใน หากไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ ฝ่ายบริหารและรัฐบาลจะต้องพยายามประคองสถานการณ์นี้ให้ผ่านไป เชื่อว่ารัฐบาลไม่พร้อมยุบสภาในภาวะที่ศรัทธาของรัฐบาลตกต่ำอย่างขีดสุด ดังนั้นต้องใช้ทรัพยากรที่มีประคองตัว เพื่อรอจังหวะฟื้นสถานการณ์ และกู้วิกฤติศรัทธาของตัวเอง” อ.ตระกูลมอง

ประคองรัฐบาล ผ่านด่านสภาฯ  เกม\"กฎหมาย\" เสี่ยงอุบัติเหตุการเมือง

         เกมประคองตัวของรัฐบาล ในยามที่สภาฯ เปิดสมัยประชุม “นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์” มองว่ามีความยากกว่าการบริหารความขัดแย้งใน "คณะรัฐมนตรี” เพราะมีช่องทางที่ทำให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ทั้งการตรวจสอบผ่านการอภิปรายทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระทู้ถามสด การทำงานกรรมาธิการ รวมถึงการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับสำคัญที่รัฐบาลเสนอ

 

         โดยเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่อาจเปิดช่องให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ตลอดเวลา หากไม่สามารถคุมความเป็นเอกภาพของเสียงในพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคพลังประชารัฐได้

 

         และสิ่งที่ต้องจับตาอย่างสำคัญ คือบทบาทของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะคุมเกมในสภาฯได้มากน้อยแค่ไหน โดย “อ.ตระกูล” มองประเด็นนี้ด้วยว่า หลัง "พลังประชารัฐ" ประกาศแย่งพื้นที่การเมืองในภาคใต้ ทำให้คนประชาธิปัตย์ขุ่นเคือง ขณะเดียวกันการเปิดตัว “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มียุทธศาสตร์และเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจน 

 

ประคองรัฐบาล ผ่านด่านสภาฯ  เกม\"กฎหมาย\" เสี่ยงอุบัติเหตุการเมือง

         "ดังนั้นการคุมเกมในสภาฯ แม้ประธานสภาฯ จะสนับสนุนฝั่งรัฐบาล แต่คงไม่หมายถึงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์"

         นอกจากนั้นกับการเดินเกมของ “โทนี่ วู้ดซัม” ที่สร้างความปั่นป่วนให้ “คนพลังประชารัฐ” จนต้องหาช่องสยบความเคลื่อนไหว ทั้งในการตรวจสอบคลิป กรณีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยผ่าน “กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน” ของ "สิระ เจนจาคะ" ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ หรือกรณี "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่เตรียมยื่นองค์กรอิสระตรวจสอบ “คนนอกครอบงำพรรค” หรือ “แกนนำเพื่อไทย”ทำผิดจริยธรรมส.ส.

 

         ที่ถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่าจะนำไปสู่การยุบพรรครอบที่ 4 ของ “โทนี่” หรือไม่

ประคองรัฐบาล ผ่านด่านสภาฯ  เกม\"กฎหมาย\" เสี่ยงอุบัติเหตุการเมือง

         ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองเข้าสู่การเตรียมพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้ง “อ.ตระกูล” มองว่า อาจเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย ที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เรียกคะแนนสงสาร เพราะถูกกลั่นแกล้ง และสร้างภาพให้สังคม ไม่พอใจ พลังประชารัฐ รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ ที่เชื่อว่าจะถูกวางตัวให้เล่นการเมืองต่อจากนี้

 

         เมื่อสัญญาณของ “สภาฯ” เตรียมเปิดฉาก และปี่-กลองการเตรียมพร้อมเลือกตั้ง ส.ส.เริ่มดัง การประคองตัว และฟื้นวิกฤติศรัทธาของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีสิ่งที่ต้องจับตา คือ การแย่งพื้นที่ทางการเมือง เพื่อปูทางไปสู่เกมกุมอำนาจของ “กลุ่ม 3 ป.” อีกครั้ง.