ซูเปอร์โพลประเมินคู่ชิงนายกฯ-ชี้ พลังเงียบ ปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้ง

ซูเปอร์โพลประเมินคู่ชิงนายกฯ-ชี้ พลังเงียบ ปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้ง

“ซูเปอร์โพล”ประเมินคู่ชิงนายกฯ “ประยุทธ์” อันดับหนึ่ง ชี้จงรักภักดี มุ่งมั่นทุ่มเท “จุรินทร์” มาแรง มีอุดมกาณ์-ประสบการณ์ “สุดารัตน์” ตามมาติดๆ “พิธา” ติดภาพคนรุ่นใหม่ ชี้ “พลังเงียบ” ตัวแปรเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประเมินคู่ชิงนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,348 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 – 16 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า

ผลประเมินความเหมาะสมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับแรกได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา เพราะจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ อดทน อดกลั้น มุ่งมั่นทุ่มเททำงานให้ประเทศชาติและประชาชนต่อเนื่องมา ปรับปรุงตนเอง กำลังทำงานต่อเนื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศแก้ปัญหาปากท้องให้กลับมาเปิดประเทศได้ ยังไม่พบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรงเอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ไม่เหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเอื้อผลประโยชน์ต่อครอบครัวและพวกพ้อง เป็นต้น

อันดับสอง ที่ตามมา ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  เพราะมีอุดมการณ์ ขยันทุ่มเททำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน มีประสบการณ์การเมืองมายาวนาน เชื่อมประสานทุกฝ่ายฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ได้ไม่มีประวัติด่างพร้อย จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ จุดยืนมั่นคงกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เอื้อผลประโยชน์แก่ครอบครัวและพวกพ้อง เป็นต้น

อันดับสาม ที่ตามมาติด ๆ ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.6 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ เพราะ เป็นผู้หญิงกล้า แกร่ง มุ่งมั่นทุ่มเท ทำงานใกล้ชิดประชาชน อยู่เบื้องหลังความสำเร็จพรรคไทยรักไทยในอดีต มีความละเอียดอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เป็นต้น
 

อันดับสี่ ได้แก่ ร้อยละ 58.5 ระบุ นายกรณ์ จาติกวณิช เพราะ เป็นนักการเมือง เป็นตัวของตัวเองสูง การศึกษาดี พูดจาดีมีประสบการณ์สูง เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ การเงิน เป็นต้น 

อันดับห้า ได้แก่ ร้อยละ 54.4 ระบุ นาย อนุทิน ชาญวีรกูล เพราะ เป็นนักธุรกิจเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังความสำเร็จผ่านวิกฤตโควิด อดทน อดกลั้นต่อการถูกโจมตี จิตใจดีช่วยเหลือประชาชน ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เป็นต้น 

และรอง ๆ ลงไปได้แก่ ร้อยละ 53.9 ระบุ นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า พูดจาดีมีเหตุผล มีวิสัยทัศน์ มีการศึกษาดี เป็นต้น และร้อยละ 46.7 ระบุ นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม เพราะเป็นนักการเมือง นักประชาธิปไตยที่มีความรู้ มีจุดยืนเข้มแข็งจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ผลงานเปิดโปงทุจริตจำนำข้าว เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ จุดยืนทางการเมืองของประชาชนที่พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 40.7 สนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 21.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ ร้อยละ 38.1 ระบุ พลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกแบ่งจุดยืนทางการเมืองของประชาชนออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ พบว่า ประชาชนในภาคใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุด ในขณะที่คนอีสานสนับสนุนรัฐบาลน้อยที่สุดคือร้อยละ 23.9 โดยคนในภาคกลางสนับสนุนรัฐบาลเป็นอันดับสองได้ร้อยละ 38.5 และคนกรุงเทพมหานครสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 31.5 และคนภาคเหนือสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 29.9
อ่านข่าว : “ดุสิตโพล”เปิดผลสำรวจคนไทยร้อยละ 60 ยังไม่พร้อมเปิดประเทศ1พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนพลังเงียบหรือขออยู่ตรงกลาง พบว่ากลุ่มคนในภาคอีสานเกือบครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มพลังเงียบสูงที่สุด คือร้อยละ 48.6 รองลงมาคือ คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 43.2 ในขณะที่คนภาคเหนือเป็นพลังเงียบร้อยละ 40.7 และคนในภาคกลางเป็นพลังเงียบร้อยละ 40.2 โดยคนในภาคใต้เป็นพลังเงียบน้อยที่สุดคือร้อยละ 16.8 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล พบว่า สูงสุดในภาคเหนือคือร้อยละ 29.4 ในขณะที่คนในภาคใต้ไม่สนับสนุนรัฐบาลน้อยที่สุดคือร้อยละ 5.5 ในขณะที่คนในภาคอีสานร้อยละ 27.5 คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 25.3 และคนในภาคกลางร้อยละ 21.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า หลังจากมีพรรคการเมืองต่าง ๆ ทยอยเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีออกมา ประชาชนส่วนใหญ่ตอบรับผู้ถูกเสนอตัวเป็นคู่ชิงนายกรัฐมนตรีตามความเหมาะสมในคุณลักษณะของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่ตอบรับกับการเสนอชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเหมาะสมเป็นคู่ชิงนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองในจุดแข็งของแต่ละคนที่แตกต่างกัน 

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและการตัดสินใจเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ส่งผลทำให้การสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่สนับสนุน โดยกลุ่มประชาชนในภาคใต้มีมากที่สุดในกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล 

“แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มพลังเงียบหรือขออยู่ตรงกลางมีมากที่สุดในภาคอีสานรองลงมาคือคนกรุงเทพมหานคร โดยพบว่ามีถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชาชนในภาคอีสาน ที่ขอเป็นพลังเงียบหรือขออยู่ตรงกลาง เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชน”