จาก “อุทยานราชภักดิ์” สู่ “ทรัพย์สินปรีชา” 5 คดี"น่ากังขาในมือ ป.ป.ช.

จาก “อุทยานราชภักดิ์” สู่ “ทรัพย์สินปรีชา” 5 คดี"น่ากังขาในมือ ป.ป.ช.

จากยุค คสช.ถึง "รัฐบาลประยุทธ์" มี 5 คดีใหญ่น่ากังขาในมือ ป.ป.ช. คนในเครือข่ายรอดหมด คดีอุทยานราชภักดิ์โยงทหารหลายนายยังรอด รวมถึงคดี "แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน" ของ “ประวิตร” “สมศักดิ์-สุริยะ” ได้อานิสงค์ จับตา 2 คดีใหม่ “อนุพงษ์” ปมเอื้อเอกชนใช้ที่ป่าชุมชน

ตั้งแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ถูกตั้งคำถามความเป็นกลางเรื่องการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง จนกระทั่งถึงตอนนี้ คำถามดังกล่าวไม่เคยเลือนหายไป

เนื่องจากที่ผ่านมา ป.ป.ช. ถูกมองว่าเป็นองค์กร “ฟอกขาว” ให้รัฐบาลตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมาถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเครือข่ายอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังกุมอำนาจอยู่

โดยล่าสุดกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู พลันที่ ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง (น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นเสียงข้างน้อย) ยกคำร้องกล่าวหา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในคดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ กรณีนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม และกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กรณีมิได้แจ้งถือครองบ้านใน จ.พิษณุโลก

รวมถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยา โดยเห็นว่า ไม่ได้จงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ เพราะเปรียบเทียบทรัพย์สินที่มีกับที่ไม่แจ้งห่างกันมาก เงินที่เอามาซื้อทรัพย์สินที่ไม่ได้แจ้ง เป็นเงินที่มีมาก่อนที่มีหน้าที่ต้องแจ้ง และเป็นเงินของลูกซึ่งไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

เป็นการ “รอดคดี” อีกครั้งของ “บิ๊กติ๊ก” หลังจากก่อนหน้านี้เคยถูกไต่สวนกรณีกล่าวหาจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ ในเรื่องการกรอกข้อมูลเงินฝากตัวเองและภริยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2557 ผิดพลาด และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีหลายสิบล้านบาทช่วงหลังรัฐประหาร โดยครั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากสาธารณชน เพราะหลายคดีที่ปรากฏชื่อคนในรัฐบาล-ขั้วอำนาจกลุ่ม “คสช.” เข้าพัวพันเป็นผู้ถูกกล่าวหา มักถูก “ตีตก-ยกคำร้อง” อยู่เสมอ บางครั้งเป็นเรื่องที่ “ค้านสายตา” ประชาชนอย่างมากด้วย

จาก “อุทยานราชภักดิ์” สู่ “ทรัพย์สินปรีชา” 5 คดี\"น่ากังขาในมือ ป.ป.ช.

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมสารพัดคดีความที่ ป.ป.ช. เคยไต่สวนบุคคลในกลุ่มขั้วอำนาจยุค คสช. มานำเสนอ ดังนี้

1.คดีก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

กรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางช่วงปี 2558 เนื่องจากมีการเปิดรับเงินบริจาคจำนวนหลายร้อยล้านบาท โดยถูกกล่าวหาว่า มีการหักเงิน “ค่าหัวคิว” ในการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ จนนำไปสู่การตรวจสอบของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) เป็นประธาน แต่ต่อมา ศอตช. สรุปผลการร้องเรียนดังกล่าวว่า ไม่พบการทุจริตแต่อย่างใด

ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดำเนินการไต่สวนเรื่องดังกล่าว โดยมีการกล่าวหา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม (ขณะนั้น) รวมถึงนายทหารระดับสูงบางส่วน ได้แถลงผลมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงว่า ไม่พบความผิดปกติในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ด้วย

สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะ 2 เงื่อนปมที่ยังไม่เคลียร์คือ 1.ประเด็นค่าหัวคิวดังกล่าว ถูกอ้างว่าเป็น “ค่าที่ปรึกษา” ให้กับ “เซียนอุ๊” หรือนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ เซียนพระชื่อดัง ที่เป็นผู้หางานมาให้ โดยเจ้าตัวยอมรับว่าได้รับเงินค่าที่ปรึกษาจากโรงหล่อพระ 5 แห่งจริง วงเงินประมาณ 20 ล้านบาท แต่ตอนหลัง “ทหาร” ได้ตามเงินเอาคืนได้แล้ว

แต่ยังไม่มีบทสรุปอยู่ดีว่า ตกลงแล้ว “เงินค่าที่ปรึกษา” ดังกล่าวจ่ายให้แก่ “เซียนอุ๊” ในฐานะใด และเงินที่ “ทหาร” ตามเอาคืนทีหลังนั้น มีการนำไปก่อสร้างหรือนำไปบริจาคให้กับอุทยานราชภักดิ์แล้วหรือไม่?

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีการใช้วงเงินงบประมาณแผ่นดินรวมกันอย่างน้อย 46.9 ล้านบาทเศษ โดยเฉพาะการประกาศจัดซื้อจัดจ้างจากกองทัพบก (ทบ.) ด้วยวิธีพิเศษ ในการก่อสร้างรั้วของอุทยานฯ วงเงิน 9.3 ล้านบาท แต่ต่อมามีการยกเลิกประกาศจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว

ทว่าข้อเท็จจริงจากทหารที่ประจำการในอุทยานราชภักดิ์ (ขณะนั้น) และคนงานก่อสร้างหลายคนอ้างว่า งานก่อสร้างรั้วมีบริษัทเอกชนหลายแห่งมาสร้างถวายให้ “ฟรี ๆ”

เป็น 2 เงื่อนปมหลักในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ยังคงไม่เคลียร์มาถึงทุกวันนี้?

2.คดี “แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน” ที่มีการกล่าวหา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ที่ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 เสียง ตีตกคำร้องดังกล่าวไป

โดยเห็นว่านาฬิกาจำนวน 25 เรือนที่ พล.อ.ประวิตร สวมใส่ในหลายวาระ-หลายโอกาสนั้น เป็นการ “ยืมเพื่อน” คือ นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) และได้คืนนาฬิกาดังกล่าวไปหมดแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องการรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทนั้น ในเมื่อเป็นการยืมเพื่อน ก็ถือได้ว่ามิได้เป็นทรัพย์สินที่ได้รับมา

จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นเดียวกัน ทว่า “ปลายทาง” ของเรื่องนี้ “ความซวย” มาตกอยู่ที่ “ทายาท” ของนายปัฐวาท เนื่องจากถูกกรมศุลกากรไล่บี้เก็บภาษีนาฬิกา 25 เรือนดังกล่าวกว่า 20 ล้านบาท

คดีนี้เรียกได้ว่าสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชนอย่างมาก ไม่แพ้คดีอุทยานราชภักดิ์?

3.คดีกล่าวหาเรื่องขุดลอกแหล่งน้ำขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ทั่วประเทศ วงเงินหลายพันล้านบาท ที่มีการกล่าวหาอ้างชื่อ “บิ๊กป้อม” เพื่อเข้า “เรียกรับหัวคิว” จากเอกชนที่เข้ามา “จ้างช่วง” ขุดลอกแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผ่านชื่อของ “กลุ่มคุณนาย อ.”

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ อผศ. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และสรุปผลมาแล้วว่า ไม่มีการเรียกรับหัวคิวตามที่กล่าวอ้าง ทว่ามีการ “จ้างช่วง” ให้เอกชนเข้ามาช่วยขุดลอกแหล่งน้ำจริง ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง ทำให้ต่อมากระทรวงการคลังยกเลิกสิทธิพิเศษของ อผศ. ในการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ ส่วน “กลุ่มคุณนาย อ.” ที่อ้างชื่อ “บิ๊กป้อม” นั้นได้หายเงียบไป

หลังจากนั้นช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2562 มีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเข้ามา “สวามิภักดิ์” ต่อพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนักการเมืองบางคนมี “ชนักติดหลัง” อยู่ ทว่ากลับ “แคล้วคลาด” เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีในยุคนี้ ยกตัวอย่าง

4.คดีกล่าวหานางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภริยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ถูกกล่าวหาคดีสร้าง “ฝายแม้ว” วงเงินกว่า 770 ล้านบาท ที่ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหาไป

5.คดีสินบนข้ามชาติ “โรลส์รอยซ์” ของการบินไทยยุค 3 วงเงินราว 254 ล้านบาท ที่ตอนแรกปรากฏชื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม (อดีต รมว.คมนาคม ยุคนายทักษิณ ชินวัตร) เป็นผู้ถูกกล่าวหา ทว่าทำไปทำมาในการไต่สวนไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสุริยะแต่อย่างใด มีเพียงบรรดาอดีตบอร์ด-อดีตบิ๊กการบินไทยเท่านั้นที่ติดร่างแห?

อย่างไรก็ดี ยังคงมี “บิ๊กรัฐบาล” อย่างน้อย 2 ราย ตอนนี้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาและถูกไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. อยู่ ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับพวกรวม 6 ราย กรณีลงนามในคำสั่งอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือกระทิงแดง ใช้ที่ดินสาธารณะจำนวน 31 ไร่ ที่ขึ้นทะเบียนเป็น “ป่าชุมชน” เพื่อขยายเขตโรงงาน โดยตั้งประเด็นว่าไม่ทำประชาพิจารณ์กับชุมชนก่อน แต่กลับปรากฏในรายงานของกระทรวงมหาดไทยว่ามีการทำประชาพิจารณ์แล้ว

อีกคดีกรณีไต่สวนนายทักษิณ ชินวัตร กับพวก ซึ่งปรากฏชื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ยุค “ทักษิณ” เป็นผู้ถูกกล่าวหา กรณีอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

ทั้งหมดคือคดีความต่าง ๆ ที่ “บิ๊กรัฐบาล” ถูกไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. จะเห็นได้ว่าส่วนมากมักถูกตีตก-ยกคำร้องไปแบบ “ค้านสายตา” ประชาชน ดังนั้นต้องรอดูกันว่า อีก 2 คดีที่เหลือ จะมีบทสรุปอย่างไร