ย้อนคดี“พล.อ.ปรีชา”รอดซุกทรัพย์สิน 2 ครั้ง หลักฐานไม่พอ-ป.ป.ช.สอบไม่ลึก?

ย้อนคดี“พล.อ.ปรีชา”รอดซุกทรัพย์สิน 2 ครั้ง หลักฐานไม่พอ-ป.ป.ช.สอบไม่ลึก?

เงื่อนปมที่น่าสนใจและต้องขยายต่อคือ การอ้างว่า เงินที่เอามาซื้อทรัพย์สินส่วนหนึ่งเป็นเงินของ “ลูก” โดยลูกชายของ พล.อ.ปรีชา 2 คน คือ นายปฐมพล และนายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา ทำธุรกิจอย่างน้อย 3 แห่ง เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐหลายสัญญา รวมวงเงินกว่า 1.1 พันล้านบาท

เรียกได้ว่าถึงคราว “โล่งอก” สำหรับ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ตีตกคำร้องกล่าวหา ไม่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ

หลุดจากชนักที่ติดหลังมานาน จนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการทำคดีของสำนักงาน ป.ป.ช.

อ่านข่าว : มติ ป.ป.ช. 8:1 ตีตกคำร้องกล่าวหา“พล.อ.ปรีชา”คดียื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ

แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบหรือลืมไปแล้วว่า นี่เป็นการ “รอดคดี” เกี่ยวกับกรณีถูกกล่าวหา “ซุกทรัพย์สิน” ครั้งที่ 2 ของ พล.อ.ปรีชา?

กรุงเทพธุรกิจ ย้อนรอยคดีกล่าวหา “ซุกทรัพย์สิน” ของ พล.อ.ปรีชา มาให้ทราบ ดังนี้

หนึ่ง กรณีถูกกล่าวหาว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยในครั้งดังกล่าว พล.อ.ปรีชา กรอกตัวเลข “บัญชีเงินฝาก” ไม่ตรงกันในหน้าหลัก และในหน้ารายละเอียดของบัญชีทรัพย์สิน

อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ พล.อ.ปรีชา แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. โดยระบุในหน้าหลักว่า มีเงินฝาก 5 บัญชี มูลค่า 42,051,468 บาท ส่วนนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ไม่มีทรัพย์สินเป็นเงินฝาก

แต่ระบุในหน้ารายละเอียดว่า มีเงินฝากทั้งสิ้น 10 บัญชี มูลค่า 89,418,876 บาท เป็นของ พล.อ.ปรีชา 5 บัญชี มูลค่า 42,051,468 บาท และบัญชีของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส 5 บัญชี มูลค่า 46,995,296 บาท

นอกจากนี้ พล.อ.ปรีชา ยังระบุบัญชีเงินฝากกองทัพภาคที่ 3 ไว้ในเอกสารประกอบ แต่ไม่ได้ระบุไว้ในหน้าหลัก รวมถึงขณะนั้น พล.อ.ปรีชา ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) แล้ว

ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น ใช้ระยะเวลาราว 1 ปี กระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิม (มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตกไป โดยเห็นว่า การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว ถูกต้องทุกประการ และไม่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ

“จากการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของ พล.อ.ปรีชา และคู่สมรสแล้ว พบว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้องและมีอยู่จริงตามที่ผู้ยื่นได้แสดง” นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) ระบุ (ปัจจุบันนายสรรเสริญ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.))

แต่เงื่อนปมสำคัญกรณีนี้คือ เงินไหลเข้าออกในบัญชีของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส ระหว่างเดือน มี.ค.-ส.ค. 2557 หลายสิบล้านบาท

ทั้งที่ พล.อ.ปรีชา แจ้งว่า นางผ่องพรรณ ไม่มีรายได้แม้แต่บาทเดียว รวมถึงไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไรด้วย?

ขณะที่ ป.ป.ช. มิได้ “รุกไล่” ตรวจสอบเชิงลึกต่อว่า ในเมื่อนางผ่องพรรณ มิได้มีรายได้ และไม่ได้ประกอบธุรกิจ แล้วมีเงินจากไหนในบัญชีเงินฝาก 5 บัญชี ร่วม 46 ล้านบาท แถมมีเงินไหลเวียนเข้าออกตลอดช่วงหลังรัฐประหารปี 2557

สอง กรณีถูกกล่าวหาว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเท็จและเอกสารประกอบ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กรณีมิได้แจ้งถือครองบ้านใน จ.พิษณุโลก รวมถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยา

ประเด็นนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง (เสียงข้างน้อยคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ) โดยเห็นว่า พล.อ.ปรีชา ไม่ได้จงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ เพราะเปรียบเทียบทรัพย์สินที่มีกับที่ไม่แจ้งห่างกันมาก เงินที่เอามาซื้อทรัพย์สินที่ไม่ได้แจ้ง เป็นเงินที่มีมาก่อนที่มีหน้าที่ต้องแจ้ง และเป็นเงินของลูกซึ่งไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วย

ขณะที่การไม่แจ้งบ้านและที่ดินต่อ ป.ป.ช. พล.อ.ปรีชา ชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนั้นบ้านหลังดังกล่าวยังสร้างไม่เสร็จ จึงเข้าใจผิดว่ายังไม่ต้องแจ้ง ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ป.ป.ช. เห็นว่า พล.อ.ปรีชา ขาดเจตนาจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนีสิ้น รวมทั้งเมื่อตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สิน พล.อ.ปรีชา งอกเงยผิดปกติ จึงมีมติเสียงข้างมากให้ตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าว

เงื่อนปมที่น่าสนใจและต้องขยายต่อคือ การอ้างว่า เงินที่เอามาซื้อทรัพย์สินส่วนหนึ่งเป็นเงินของ “ลูก” 

โดยลูกชายของ พล.อ.ปรีชา 2 คน คือ นายปฐมพล และนายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา ทำธุรกิจรวมกันอย่างน้อย 5 แห่ง และมีอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น บริษัท บีวิช คาร์ เร้นทอล จำกัด และบริษัท พี-ไรท์แอนด์บริส จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐหลายสัญญา รวมวงเงินกว่า 1.1 พันล้านบาท

ที่สำคัญเรื่องนี้ ป.ป.ช. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณี หจก.คอนเทมโพรารีฯ แจ้งจดทะเบียนจัดตั้งในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ (กองทัพภาคที่ 3) และเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการของกองทัพภาคที่ 3 หลายรายการ รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท ก่อนจะแจ้งเปลี่ยนที่ตั้งไปอยู่นอกค่ายในเวลาต่อมาด้วย

นี่คือเงื่อนปมที่ “ยังไม่เคลียร์” ในประเด็นการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ปรีชา

ตกลงว่า “พยานหลักฐานไม่พอ” หรือว่า ป.ป.ช. “สอบไม่ลึก” กันแน่?